|
สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค...ลดจับจ่ายรับวิกฤตน้ำมันแพง
ผู้จัดการรายวัน(1 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ในภาวะที่ราคาน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงหลากหลายธุรกิจอันเป็นผลมาจากการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ "พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ" ในระหว่างวันที่ 10-23 เมษายน 2549 จากกลุ่ม ตัวอย่าง 505 คน โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแม่บ้านหรือผู้มีหน้าที่จับจ่ายสินค้าอุปโภค/บริโภคของแต่ละครัวเรือน กระจายกลุ่มตัวอย่างตามอายุและรายได้ของครัวเรือน ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้มีส่วนทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกัน...
เริ่มลดทอนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย
ทั้งนี้ จากการสำรวจดังกล่าวพบประเด็นสำคัญได้แก่...
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเริ่มลดค่าใช้จ่ายกิจกรรมสันทนาการเป็นอันดับแรก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว คือ ร้อยละ 25.8 ลด/งดการเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 21.0 ลด/งดการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และร้อยละ 10.2 หันมาท่องเที่ยวในประเทศแทนโดยเน้นการเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ และเน้นการขับรถยนต์ไปเอง นอกจากนี้ ร้อยละ 14.1 ลด/งดการใช้บริการเสริมความงาม ร้อยละ 9.3 ลด/งดการดูภาพยนตร์ ร้อยละ 8.5 ลด/งดการสังสรรค์กับเพื่อนๆ ร้อยละ 5.4 ลด/งดการไปชมคอนเสริต์/ฟังเพลงนอกบ้าน และที่เหลืออีกร้อยละ 5.7 มีการปรับลดค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เป็นกิจกรรมสันทนาการ เช่น ลดการซื้อหนังสือ/หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการปรับพฤติกรรมในเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านอาหารคือ ร้อยละ 41.8 ลด/งดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 24.0 หันมาทำอาหารรับประทานมากขึ้น ร้อยละ 13.2 เลือกร้านที่ซื้ออาหารปรุงสำเร็จที่ราคาไม่แพง และที่เหลืออีกร้อยละ 21.0 เลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารที่ราคาไม่แพง ทานอาหาร/บะหมี่สำเร็จรูปมากขึ้น และงด/ลดการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ สำหรับพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อ โดยพิจารณาราคามากยิ่งขึ้น
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.4 ลด/งดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ร้อยละ 21.4 ลดการดูโทรทัศน์/วิดีโอ ร้อยละ 14.5 ลด/งดการใช้เครื่องปรับอากาศ และหามาตรการในการประหยัดค่าไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์ และร้อยละ 5.2 ลดการใช้โทรศัพท์มือถือ
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเริ่มหันมาประหยัด ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยร้อยละ 35.4 เน้นการใช้รถยนต์ ส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ร้อยละ 34.8 หันไปใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น ร้อยละ 19.3 ให้คนในบ้านใช้รถยนต์สาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว ร้อยละ 7.2 หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวคันเดียวกัน และร้อยละ 3.3 ปรับระบบรถยนต์เป็นใช้ก๊าซแทนน้ำมัน
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างก็มีการปรับพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ โดยร้อยละ 40.3 หันไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลแทนโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 27.5 ใช้บริการประกันสังคมมากขึ้น ร้อยละ 15.6 หันไปใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน ร้อยละ 9.1 ลด/งดการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ และที่เหลืออีกร้อยละ 7.3 เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น เน้นการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงป้องกันและลดการเจ็บป่วย ใช้ยาที่ผลิตในประเทศซึ่งราคาจะถูกกว่ายาที่ต้องนำเข้า เป็นต้น
- คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปรับลดค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 73.3 ลดการเสี่ยงโชค/การพนัน ร้อยละ 14.8 ลดการทำบุญ/บริจาคทาน และที่เหลือร้อยละ 11.9 ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การหันไปซื้อกรรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 แทนประกันภัยชั้น 1 เป็นต้น
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก
-ธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป/อาหารสด จากการหันมารับประทานอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายของร้านอาหารสำเร็จรูป/อาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำเพิ่มขึ้น
- สินค้าอุปโภคประเภทเฮาส์แบรนด์ จากการเน้นพิจารณาที่ราคามากกว่าการยึดติดกับยี่ห้อของสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกที่หันมาผลิตสินค้าอุปโภคเฮาส์แบรนด์จะได้เปรียบเนื่องจากราคาจะถูกกว่าสินค้าประเภท เดียวกันที่มียี่ห้อของผู้ผลิตอื่นๆ นอกจากนี้ บรรดาผู้ประกอบการผลิตสินค้าอุปโภคเริ่มทยอยปรับสินค้าเป็นแพกขนาดเล็กมากขึ้น ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นการซื้อสินค้าอุปโภคขนาดเล็ก หรือซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- ธุรกิจบริการรถสาธารณะ จากการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวคันเดียวกันในกรณีที่เคยมีการใช้หลายคัน นอกจากนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะหันไปใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งชักชวนและแนะนำให้คนในบ้านใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นด้วย
- ธุรกิจปั๊มก๊าซจากที่มีรถยนต์ส่วนตัวเริ่มหันมาติดตั้ง ระบบก๊าซ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจปั๊มก๊าซก็จะมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรถสาธารณะ
- ธุรกิจโรงพยาบาล แม้ว่าเมื่อต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้จำนวนคนที่ต้องหันกลับไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มาตรฐานและราคาไม่แพงก็มีโอกาสที่จะมีลูกค้า เข้ามาใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากยังคงมีข้อได้เปรียบในเรื่องการที่ไม่ต้องรอคิวนาน
- ธุรกิจยาสมุนไพร จากการประหยัดค่าใช้จ่ายนับว่าเป็นปัจจัยหนุนเพิ่มเติมต่อยอดจำหน่ายยาสมุนไพร จากเดิมที่มีปัจจัยสนับสนุนในเรื่องเป็นยาที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติไม่ใช่ยาที่ใช้เคมีสังเคราะห์ ทั้งนี้ การพัฒนา สุขอนามัยในการผลิตและการบรรจุหีบห่อให้ทันสมัย ทำให้ยอดจำหน่ายยาสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ
- ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เนื่องจากมีการงด/ลดการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และลด/งดการสังสรรค์กับเพื่อนๆ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบรรดาภัตตาคารและร้านอาหาร
- ธุรกิจน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ เนื่อง จากการปรับลดการบริโภคสินค้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัด ค่าใช้จ่าย และการขึ้นราคาของน้ำอัดลมอันเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดว่าบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
- ธุรกิจเสื้อผ้า/เครื่องประดับ และสินค้าที่มีราคาสูง ก็จะถูกชะลอการซื้อออกไปก่อน ทำให้สินค้านำเข้าที่มีราคา สูงจะมียอดจำหน่ายลดลง เนื่องจากจะมีการหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นหรือหันไปซื้อสินค้ามือสองที่มีราคาถูกกว่า
- ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว การปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากมีจำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวลดลง
- ธุรกิจสถานบริการเสริมความงาม ซึ่งเป็นธุรกิจคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 14.1 ลด/งดการไปใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม โดยบางกลุ่มนั้นลดความถี่ในการใช้บริการเสริมความงาม และบางกลุ่มงดการไปใช้บริการเสริมความงามโดยหันไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ไปทำเองที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ หาซื้อได้ง่าย โดยมีจำหน่ายตามร้านค้าปลีกทั่วไป และราคาไม่สูงมากนัก
- ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจจัดคอนเสริต์ ธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ รัดเข็มขัด เนื่องจากผู้ใช้บริการจะลดความถี่ในการเข้าไปใช้บริการ
- ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ อาหารเสริมสุขภาพนั้นจัดว่าเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ดังนั้นอาหารเสริมสุขภาพจึงอยู่ในลำดับต้นๆที่ผู้บริโภคจะตัดออกจากรายการใช้จ่าย ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ
- ธุรกิจจำหน่ายลอตเตอรี่และหวย แม้ว่าโดยพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่จะชื่นชอบกับการเสี่ยงโชค แต่ในภาวะที่ไม่มีความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจยอดจำหน่าย ลอตเตอรี่และหวย รวมทั้งเงินหมุนเวียนในธุรกิจการเสี่ยงโชคเกือบทุกประเภทมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
วอนคุมฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า-บริการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาน้ำมันแพงนั้นเป็นปัญหา ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากเป็นการปรับราคาขึ้นตามราคา น้ำมันในตลาดโลก แต่มาตรการที่คนกรุงเทพฯที่เป็น กลุ่มตัวอย่างหวังพึ่งรัฐบาลให้ช่วยลดผลกระทบจากปัญหา ผลกระทบจากน้ำมันแพง 5 อันดับแรกคือ ควบคุมการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้า/บริการของบรรดาผู้ประกอบการ ไม่ขึ้นค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง ปรับปรุง/เพิ่มบริการของรถสาธารณะ ลดภาษีเงินได้ และช่วยผู้ผลิตลดต้นทุนการผลิตสินค้า โดยหวังว่าถ้ารัฐบาลมีการดำเนินการควบคุมอย่างจริงจังก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ในระดับครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|