|
คลังรับสภาพศก.ปีนี้ไม่รุ่ง เตือนประชาชนรัดเข็มขัด
ผู้จัดการรายวัน(1 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
...ภาพความชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไป เริ่มมีความ ชัดเจนขึ้นภายหลังที่นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจจะโตไม่ถึง 5% และสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) ก็ออกมารับลูกในทันทีว่าจะมีการทบทวนเป้าหมายเศรษฐกิจปีนี้ในเดือนหน้า (พฤษภาคม) หลังจากที่ยืนกรานคงเป้าเศรษฐกิจเดิมที่ 4.5-5.5% มาตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ ท่ามกลางเสียงคลางแคลงใจของสำนักวิจัยต่างๆ ว่าถึงความเป็นไปได้ของเป้าหมายนั้น...
ปัจจัยหลักที่ทำให้คลังถึงกับยอมจำนน รับสภาพจีดีพีโตต่ำกว่าเป้านั้น เป็นส่วนของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีจนกระทั่งแตะ 74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสแรกของปีนี้ ...ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำร่องปรับลดอัตราการเติบโตจีดีพีลง 0.50% เหลือ 4.25-5.25%
การลงทุนภาคเอกชนเดือน มี.ค.ยังลดลงต่อ
จากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมา พบว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง แต่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนทั้งในเดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2549 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันแพงและการลงทุนภาคการก่อสร้างหดตัวลงต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันและดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 44.8 ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 45 โดยองค์ประกอบที่ปรับลดลงได้แก่ ผลประกอบการ ผลผลิต การจ้างงาน และการลงทุน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงจาก 52.7 เป็น 50.4 อย่างไรก็ตาม ธปท. เชื่อว่าการชะลอการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.8 จึงเชื่อว่าเอกชนจะมีการเพิ่มการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามราคาน้ำมันที่มีการปรับขึ้น 3 ครั้ง รวม 1.20 บาท และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี โดยเดือน มีนาคมมีมูลค่า 10,859 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เป็นการขยายตัวในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ พลาสติก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 10,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลก แต่ปริมาณการนำเข้ารวมลดลง ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการเกินดุลครั้งแรก ในรอบ 5 เดือน ส่วนดุลบริการเกินดุล 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 485 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และไตรมาสแรกของปี 2549 ดุลการค้าขาดดุล 224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกมีมูลค่า 29,901 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 การนำเข้ามีมูลค่า 29,316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนหนึ่งเนื่องจากไตรมาสแรกปีที่แล้วมีการเร่งนำเข้าเหล็ก ทองคำ น้ำมัน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทนงห่วงน้ำมันพุ่ง ศก.ทรุด เตือนประชาชนประหยัด
ด้านนายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงมองแนวโน้มราคาน้ำมันว่าจะยังปรับตัวขึ้นได้อีก จากการเข้ามาเก็งกำไรหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลเองก็มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว แม้จะมีมาตรการระยะสั้นๆเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภคแล้วก็ตาม
พร้อมกันนั้นได้เรียกร้องให้ประชาชนก็จะต้องให้ความร่วมมือกับ ภาครัฐด้วยการประหยัด โดยภาครัฐจะพยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่ประชาชนก็จะต้องรับรู้ว่าภาครัฐแบกรับภาระได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากราคาสินค้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นบ้างจากผลกระทบราคาน้ำมัน ซึ่งประชาชนเองก็จะต้องปรับตัว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถปรับตัวได้ในที่สุด
"ปีที่แล้วราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึงเท่าตัว แต่รัฐบาลก็แก้ไขสถานการณ์และประชาชนก็ปรับตัวได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัด เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแข็งแกร่งอยู่ในระดับหนึ่ง หากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลงก็จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพได้"นายทนงกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|