|
สศค.เล็งลดเป้าจีดีพี0.5%
ผู้จัดการรายวัน(1 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สศค.เตรียมปรับลดเป้าจีดีพีหลังแบงก์ชาติได้ปรับลดไปแล้ว 0.5% ระบุราคาน้ำมัน-ค่าเงินบาท-เงินเฟ้อเป็นปัจจัยกดดัน เชื่อกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อ 3 ศาลช่วยสถานการณ์ทุกอย่างจบเร็ว
นาย สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปลายเดือนพฤษภาคม 2549 สศค.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจ2549ภายหลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปรับประมาณการไปแล้วจากเดิมคือ4.75-5.25% เป็น4.25-4.75% ซึ่งการปรับประมาณการณ์GDP ในส่วนของกระทรวงการคลัง จะต้องดูปัจจัย และข้อเท็จจริงต่างๆ ประกอบว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะปรับประมาณการGDP ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน โดยปัจจัยต่างๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งเรื่องราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ
“ปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อการปรับGDP หลักๆแล้วคือ ราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันยังผันผวนอยู่มาก แต่ขณะนี้ยังเชื่อว่าGDP ยังอยู่ที่ 4.50.5.50% เพราะเมื่อดูในไตรมาตร 1 ถึงว่าดีมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ดี ถ้าน้ำมันไม่แพงหรือปรับตัวสูงไปกว่านี้ โดยปัจจัยราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่คาดเดาอยากซึ่งต้องดูปัจจัยจากภายนอกเป็นหลัก รวมทั้งต้องพิจารณาค่าเงินบาทด้วย” นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ในส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีการชะลอการลดทุน กระทรวงการคลัง ไม่ได้นำมาใช้ในการประมาณการ GDP อยู่แล้วจึงเชื่อว่า การชะลอการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อ GDP 4.5-5.5 % แต่อย่างใด
นอกจากนี้พระราชดำรัชของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อ 3 ศาล นั้นตนเชื่อว่า ทุกอย่างน่าจะจบได้เร็วและเหตุการณ์ต่างๆ มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งทุกคนก็ต้องทำตามหน้าที่ของตนที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้และ 3 ศาลเป็นองค์กรที่เชื่อถือซึ่งรวมถึงการเมืองน่าจะผ่านไปด้วยดีเศรษฐกิจคงจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา
นายสมชัยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจ ปี2549 จะดีกว่าปี 2548 แน่นอนเนื่องจากปี 2548 ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากปี2547 สูงถึง 44% และคาดว่าราคาน้ำมันในปี 2549 ไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 44% ซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงราคาน้ำมันและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าเมื่อดูฐานมาตรการเศรษฐกิจปี 2549 ถือว่าดีกว่าปี 2548 ส่วนค่าเงินบาทธปท.ก็ได้ดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว
ส่วนการที่ (ธปท.)อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.6 % เชื่อว่าคงเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายแล้วซึ่งนายทนง พิทยะ รักษาการว่าการกระทรวงการคลังเคยคาดการไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วถ้าวัตถุประสงค์ที่ต้องการที่ให้อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็เชื่อว่าใกล้จะจบแล้วและอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน หรือ RP 14 วันน่าจะถึงจุดที่ไม่ต้องปรับเพิ่มแล้วซึ่งไม่ต่างจากความเห็น รมว.คลัง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการที่จะบรรเทาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอให้แก่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมี 5 มาตรการ คือ 1.มาตราการเกี่ยวกับพลังงาน 2.มาตรการเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน 3.มาตรการเกี่ยวกับการลดรายจ่าย 4.มาตรการเกี่ยวกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล และ5.มาตรการเกี่ยวกับในการใช้สร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดี
ซึ่งนายทนง ได้สั่งให้ สศช.ดูแล5 มาตรการ เสนอ ครม.นั้นส่วนไหนที่กระทรวงการคลังมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมาดูและสังเคราะห์ถ้ามีความเหมาะสมและเป็นไปได้ก็จะหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป ทั้งนี้สิ่งที่กระทรวงการคลัง
โดยก่อนหน้านี้ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2549 ลง 0.5% เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศลดลง การใช้จ่ายภาครัฐลดลง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2549 เหลือ 4.25 –4.75% จากที่เคยประเมินไว้ในเดือนมกราคา 4.75-5.75% แต่ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ที่ 4.5 –6 % โดย ธปท.ยังให้ความสำคัญกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ในการประเมินครั้งนี้ ธปท.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันใหม่ โดยน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 61.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และกรณีเลวร้ายที่สุดจะอยู่ที่ 69.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันสูงถึงระดับดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น และมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโน้มเอียงเติบโตที่ 4.25-4.75%
ส่วนภาวะเงินเฟ้อ ธปท.มีการปรับประมาณการใหม่ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 4-5% จากเดิม 3.5-5% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับเดิม 2-3% โดย ธปท.เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงได้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบด้านราคาสินค้ามีไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันได้ ประกอบการค่าใช้จ่ายในประเทศชะลอตัวลง ดังนั้น จึงเชื่อว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อน่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินเฟ้อยังเป็นแรงกดดันต่อการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งหน้า
สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ธปท.ยืนยันว่ามีสาเหตุจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ทำให้เงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้นทุกสกุล โดยยังไม่เห็นภาวะการเก็งกำไร แต่เงินทุนดังกล่าวน่าจะเป็นเงินระยะสั้นที่เข้า-ออกเร็ว และสร้างความผันผวนให้ตลาดพอสมควร ซึ่ง ธปท.จะดูแลอย่างใกล้ชิด โดยบริหารไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม กระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงกดดันทำให้เงินในภูมิภาคและเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก โดยคาดว่าจะเข้ามาลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินฝาก ปล่อยกู้ ตลาดพันธบัตร จึงยังไม่เห็นการตอบสนองในการซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า เงินบาทไม่ได้แข็งค่าเกินกว่าเงินสกุลภูมิภาคอื่น ๆ และผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ดี โดยดูจากยอดการส่งออกในไตรมาส 1 ที่ยังขยายตัวได้ แม้ว่าไตรมาส 1 เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 4.1%
“ปัจจัยที่กำหนดการส่งออกคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ธปท.ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี โดย ธปท.คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าปีนี้จะเติบโตร้อยละ 11-13 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเติบโต 7.5-9.5% ดุลการค้าขาดดุลลดลงจากประมาณการเดิมคือ ขาดดุล 5,000-7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัด อาจจะติดลบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสมดุล” นายบัณฑิตกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|