ซับพลายเออร์ชี้โมเดิร์นเทรดตัวการ ต้นทุนขึ้นอยู่ไม่ได้ต้องขอปรับขึ้นราคา


ผู้จัดการรายวัน(1 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ซับพลายเออร์ ออกโรงเสนอแนวทางแก้ปัญหา ทัพสินค้าขอปรับราคาสินค้าขึ้น หลังน้ำมันพ่นพิษกระทบต้นทุนพุ่ง จี้ยักษ์ใหญ่โมเดิร์นเทรดเปิดทางจำหน่ายสินค้าราคาเต็ม ทิ้งระบบขอส่วนลดเพื่อตัดราคาโชวห่วย โวยทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสารพัดอย่างปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ระบุปัจจุบันกำไรทางเทรดิชันนัลสูงกว่าโมเดิร์นเทรด

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยกับ”ผู้จัดการรายวัน”ว่า จากกรณีที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของซับพลายเออร์พุ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าสินค้าหลายตัวจะปรับราคาขึ้น โดยได้เสนอแนวคิดว่า หากซับพลายเออร์สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเชนโมเดิร์นเทรดได้ราคาเต็ม จะช่วยแก้ปัญหาด้านการขึ้นราคาระดับหนึ่ง ยกตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายใน บิ๊กซี,เทสโก้ โลตัส และคาร์ฟูร์ ราคาซองละ 4.75 บาท ซึ่งราคาขายจริงอยู่ที่ 5บาท เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสินค้าเป็นจำนวนมากที่เข้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดแต่ไม่ได้จำหน่ายราคาเต็ม

“หากซับพลายเออร์สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาเต็ม หรือเป็นราคาเดียวกับร้านค้าปลีกรายย่อย ก็จะช่วยซับพลายเออร์ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง และอาจไม่ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หรือกระทั่งขอลดปริมาณลง ทุกวันนี้ถ้าถามว่าซับพลายเออร์มีกำไรจากช่องทางไหนมากกว่ากัน ผมบอกได้เลยว่าเป็นร้านค้าปลีกรายย่อย ส่วนโมเดิร์นเทรดเป็นการจำหน่ายที่ได้กำไรน้อย แต่อาจได้ในเรื่องของปริมาณที่มากชิ้น”

ปัจจุบันสินค้าของซับพลายเออร์ที่จะเข้าไปจำหน่ายผ่านเชนโมเดิร์นเทรด นอกจากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสารพัดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ค่าขนส่งซึ่งปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 10-20% ค่าแรกเข้า ค่าชั้นวางสินค้า อีกทั้งเชนโมเดิร์นเทรดยังขอส่วนลดจากซับพลายเออร์อีก ทั้งนี้เพื่อสามารถจำหน่ายราคาสินค้าที่ถูกกว่าเทรดิชันนัลเทรดหรือร้านค้าปลีกรายย่อย ซึ่งการจำหน่ายราคาสินค้าที่ถูกกว่าของเชนโมเดิร์นเทรด เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการดึงดูดใจผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้าในช่องทางนี้ โมเดิร์นเทรดจึงเกิดในประเทศไทยภายใต้กลยุทธ์ราคา

ทั้งนี้เงื่อนไขของเชนโมเดิร์นเทรดที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในแต่ละปีโมเดิร์นเทรดจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายค่ายเริ่มบาลานซ์ช่องทางจำหน่ายระหว่างโมเดิร์นเทรดกับเทรดิชันนัลเทรดมากขึ้น ยกตัวอย่าง ยูนิลีเวอร์ เป็นต้น จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซับพลายเออร์หันไปมุ่งเน้นช่องทางโมเดิร์นเทรดมากกว่าเทรดิชันนัลเทรด เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีสินค้าหลายกลุ่มที่เลือกแนวทางบาลานซ์รายได้ในลักษณะดังกล่าว

“ช่องทางโชวห่วยถูกทิ้งร้างและไม่ได้รับการพัฒนาจากผู้ประกอบการ แต่ปัจจุบันโมเดิร์นเทรดกลายเป็นช่องทางที่ถึงจุดอิ่มตัว การเติบโตในช่องทางนี้หลักๆจะมาจาก การเปิดตัวสูตรใหม่หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ณ จุดขายเท่านั้น อย่างไรก็ตามสมรภูมิรบร้านโชวห่วยหลักๆจะมาจากการใช้กลยุทธ์ไซส์ซิ่งผนวกกับสงครามราคา เพราะผู้ที่ซื้อสินค้าในช่องทางนี้ส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าขนาดไม่ใหญ่มากนัก”

ซับพลายเออร์กัดฟันอั้นไม่ขึ้นราคา

นายเพชร พะเนียงเวทย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยกับ”ผู้จัดการรายวัน”ว่า แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นดีเซลกว่า 26 บาท แต่สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มได้ โดยบริษัทไม่อยากผลักดันภาระให้กับผู้บริโภค แต่ในอนาคตถ้าไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ ในความเป็นจริงก็อยากจะปรับราคาขึ้น

นายภาส นิธิปิติกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำปลาภายใต้แบรนด์”เมกาเชฟ”หรือทายาทน้ำปลาตราปลาหมึก เปิดเผยว่าผลพวงจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำปลา ซึ่งมีปัจจัยจากราคาน้ำมันอย่างเดียวเพิ่มขึ้น 10-20% ยังไม่รวมถึงต้นทุนแพกเกจจิ้งที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยน้ำปลาเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.