อินเตอร์เน็ตเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายไปในทุกวงการและทั่วโลก
ประเทศไทยเองก็ไม่มีข้อยกเว้น ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้นำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตนี้มาใช้ในการทำงานเช่นกัน
สมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลงานทางด้านศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้นไทย
ได้กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตว่า การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นนโยบายใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการเน้นหนักในปีนี้
โดยการใช้อินเตอร์เน็ตนั้น สมคิด บอกว่า เพื่อต้องการส่งเสริมให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลข่าวสารในแง่ปัจจัยพื้นฐานให้เร็วและมากที่สุด
การเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตจึงถือเป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ให้นักลงทุนทราบข้อมูลมากขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
จะเป็นการนำเสนอข้อมูลเช่น INDEX ของตลาด เพื่อให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถรู้ข้อมูล
รวมทั้งข่าวสารต่าง ๆ ที่บริษัทจดทะเบียนส่งเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
ซึ่งการส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น ถือเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารที่มีต้นทุนที่ต่ำมาก
ทำให้ไม่เสียงบประมาณในส่วนนี้มากนัก
"ค่าใช้จ่ายตอนนี้ประมาณเดือนละ 1 แสนบาทเท่านั้น นับว่าน้อยมากกับประโยชน์ที่ได้รับ
เพราะเรามีระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรมากใช้เพียงซอฟต์แวร์อีกนิดหน่อยเท่านั้น"
เมื่อประเมินเทียบกับการใช้กับสื่ออื่น ๆ แล้ว อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางข่าวสารที่ให้ผลดีในระยะยาว
นักลงทุน หรือผู้ที่สนใจเข้ามาดูข้อมูลก็ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อนและยังมี HOMEPAGE
ที่มีสีสันจูงใจ
สมคิด บอกว่า ก่อนหน้าที่จะใช้อินเตอร์เน็ตนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้สื่อที่เป็นบริการภายในซึ่งเป็นออนไลน์ธรรมดา
ซึ่งผู้ที่จะใช้ข้อมูลนี้ก็ต้องต่อสาย ONLINE มาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และการนำเสนอก็เป็นการเสนอแบบเป็นกราฟ
เป็นตัวเลข หรือเป็น TEXT ล้วน ๆ ซึ่งอาจจะน่าเบื่อไม่ค่อยมีใครสนใจดู
"ที่เราทำตอนนี้เป็น HOMEPAGE มี HOST ของตลาดเองต่อไปทางเนคเทค (NECTEC)
ก็ได้เชื่อมต่อด้วยความเร็วสูง ทำให้นักลงทุนข้างนอกสามารถมาดูข้อมูลภายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ คือ เปิด HOMEPAGE มาปั๊ปก็จะดูราคาล่าสุดของตลาดได้ทันที ตั้งแต่เราเปิดระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้จนตอนนี้
มีผู้เปิดดูประมาณ 40,000 กว่ารายแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ"
สมคิด เล่าว่า ตอนแรกที่ทำข้อมูลเข้าอินเตอร์เน็ตก็เป็นข้อมูลข่าวสารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยเป็นการเผยแพร่ข้อมูลดิบแบบฟรี จึงไม่สามารถนำไปวิเคราะห์หรือเก็งกำไรได้
สำหรับในระยะต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนารูปแบบในการนำเสนอ ในแง่เนื้อหาข้อมูลเพิ่มขึ้น
และลึกขึ้น เช่น งบการเงิน ประวัติบริษัท ผู้บริหารกรรมการบริษัท ผลประกอบการ
5 ปีย้อนหลัง HOST ที่เรียกเข้ามาก็สามารถเรียกดูข่าวสารย้อนหลังได้ถึง 6
เดือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่จัดทำโดยฝ่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในระยะแรกนั้น ก็จะเน้นในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลให้นักลงทุนหรือบุคคลทั่วไปหาดูได้โดยง่าย
ดังนั้นจึงไม่เน้นในแง่รายได้
ผู้ช่วยผู้จัดการตลาด เล่าต่อไปว่า การให้บริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น
มีมานานแล้ว แต่จะให้บริการผ่านสถาบันการเงินหรือเป็นองค์กรมากกว่าบุคคลธรรมดา
ส่วนกรณีว่าต่อไปจะพัฒนาไปถึงขนาดที่จะสั่งซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่นั้น
สมคิดชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เป็นไปไม่ได้เนื่องจากมีกฎระเบียบชัดเจนว่า นักลงทุนรายย่อยจะไม่สามารถซื้อขายกับตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรง
แต่จะต้องผ่านโบรกเกอร์เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและซื่อสัตย์ที่สุด
"สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงก็คือ การล้วงข้อมูลของผู้ไม่พึงประสงค์นั้น
เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นข้อมูลคนละส่วนกันไม่สามารถเปิดดูได้ เป็นซอฟต์แวร์คนละตัวเรื่องนี้เราทำรัดกุม"
สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในย่านเอเชีย อย่างฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ของประเทศเหล่านี้ ก็ได้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยแต่ข้อมูลยังไม่มากเท่ากับของตลาดหุ้นไทย
เทคโนโลยีอีกสื่อหนึ่งลักษณะคล้ายคลึงกับอินเตอร์เน็ตที่จะมีการนำมาใช้ก็คือ
อินทราเน็ต (INTRANET) อาจจะเรียกง่า ๆ ว่า เป็นอินเตอร์เน็ตภายในองค์กร
คือ ขอบข่ายแคบกว่า โดยจะมีการใช้เฉพาะในองค์กร ซึ่งประโยชน์ของอินทราเน็ตก็คือ
สามารถรักษาความปลอดภัยสูงในกรณีที่อาจจะมีผู้ไม่หวังดีลักลอบใช้ข้อมูล
"แต่ตอนนี้ยังไม่ได้นำอินทราเน็ตมาใช้ อยู่ระหว่างกำลังพัฒนาความเหมาะสม
แต่คาดว่าจะสามารถใช้ได้ราวต้นปี 2540 ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินทราเน็ตนั้นจะมีข้อมูลลึกกว่าผ่านอินเตอร์เน็ต"
สมคิด บอกว่า การใช้อินทราเน็ตนั้น จะเน้นการใช้ติดต่อระหว่างบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
และระหว่างนี้ เทคโนโลยีทั้งอินเตอร์เน็ต และอินทราเน็ต ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญมากที่สุด
ส่วนบริการอื่น ๆ ที่เตรียมจะทำก็คือ การขายข้อมูลในรูปของแผ่นซีดี คาดว่าจะทำได้ในปลายปีนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานโดยจะทำ
6 เดือนต่อ 1 ชุดเพื่อให้นักลงทุนสะดวกในการใช้งาน
สำหรับโดยส่วนตัวแล้ว สมคิดเขาจบปริญญาตรีวิศวกรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้นไปศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาทางด้านคอมพิวเตอร์และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการคอมพิวเตอร์มากว่า
10 ปี
เคยผ่านงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทไอบีเอ็ม และถือว่า เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอีกคนหนึ่งของวงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย