จุดระเบิด 'ข้อมูล' ด้วยอินทราเน็ต


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ หรือเอ็มไอเอส เป็นอีกแห่งที่ให้ความสำคัญ และพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้เป็น "สื่อ" ในการนำ "ข้อมูล" สินค้าชิ้นสำคัญไปถึงลูกค้า

พัฒนาการของเอ็มไอเอส เริ่มตั้งแต่การส่งข้อมูลในรูปแบบเดิม ๆ เช่น เอกสาร การส่งแฟกซ์ ไปจนถึงการออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์ในลักษณะต่าง ๆ กัน

กระทั่งมาถึงอินเตอร์เน็ต เครือข่ายทรงพลังที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเอ็มไอเอส เป็นหนึ่งในบริษัทข้อมูลที่ไม่ละเลยป้อนข้อมูลข่าวสารให้กับบรรดานักโต้คลื่นบนอินเตอร์เน็ต

แต่วิรัตน์ แสงทองคำ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ เชื่อว่า แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นเครือข่ายทรงพลัง แต่ตราบใจยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ) อย่างแท้จริง ก็เป็นได้แค่การโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์เท่านั้น

แต่อินทราเน็ต หรือการนำเทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ตมาใช้ภายในองค์กรจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ช่วยจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในแง่ของการจัดการข้อมูล และลดขั้นตอนการทำงาน

"เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในคอร์ปอเรทแล้ว จะมีพลังมหาศาล เพราะเราสามารถควบคุมการใช้เครื่องมือด้านไอทีได้หมด ทำให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์กับไอทีได้อย่างเต็มที่" วิรัตน์กล่าว

แนวคิดดังกล่าว ได้ถูกสะท้อนออกมาในรูปของบริการชนิดใหม่ของเอ็มไอเอสที่จะมากับกระแสของอินทราเน็ต

วิรัตน์ ใช้วิธีปลุกกระแสอินทราเน็ตเริ่มแรก ด้วยการพัฒนาระบบอินทราเน็ตมาใช้ภายในองค์กรของเอ็มไอเอส เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกค้า ซึ่งเขายืนยันว่า เอ็มไอเอส เป็นรายเดียวในเวลานี้ที่ทำระบบอินทราเน็ตภายในองค์กรสมบูรณ์มากที่สุด พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "เมเนเจอร์ลิงค์" หรือบริการข้อมูลบนอินทราเน็ต เป้าหมายที่วิรัตน์วางไว้ คือ การทำให้องค์กรเอ็มไอเอส คือ สำนักงานไร้กระดาษ (PAPERLESS) และการให้พนักงานได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน

เอ็มไอเอสลงมือติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ และนำข้อมูลภายในองค์กรที่จะเป็นประโยชน์กับพนักงาน และต่อองค์กรมาบรรจุโปรแกรมเฟิสท์คลาสสำหรับการใช้เป็นอีเมลล์ส่งข้อความลงในระบบอินทราเน็ต

สิ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรเอ็มไอเอส คือ ผู้บริหาร และพนักงานของเอ็มไอเอสจะสามารถเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ และติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยการ "คลิก" เม้าท์เข้าไปเลือกดูตามเมนูประเภทต่าง ๆ ที่ปรากฏบนหน้า และด้วยเทคโนโลยีของเว็บเบราเซอร์ทำให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถเข้าไฟล์เอกสารต่าง ๆ ที่ถูกจัดทำไว้ได้ง่ายขึ้น

เมนูของอินทราเน็ตภายในองค์กรเอ็มไอเอส ประกอบไปด้วย

เมนูแรก มีชื่อว่า ABOUT YOU คือ ระเบียบคู่มือพนักงาน ซึ่งเคยอยู่ในรูปของเอกสารจะถูกบรรจุลงในนี้ พนักงานสามารถเข้าไปดูระเบียบการต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา เช่น ระเบียบการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ แต่เดิมอาจต้องยกหูโทรศัพท์ไปตามแผนกบัญชี ซึ่งต้องคอยตอบคำถามต่อจากนี้ไม่ต้อง เพราะพนักงานจะคลิกเม้าท์เข้าไปดู หากมีข้อมูลใหม่จะแก้ไขลงไปตลอดเวลา

เมนูที่สอง คือ ANNOUNCEMENT คือ ประกาศต่าง ๆ ของบริษัทที่ต้องการให้พนักงานรับทราบ

เมนูที่สาม NEWS จะเป็นข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์กร หรือข่าวสารทั่วไปที่จะเป็นประโยชน์กับพนักงานจะถูกบรรจุลงในนี้

เมนูที่สี่ เอ็มดีทอล์ค คือ สิ่งที่กรรมการผู้จัดการ จะต้องพูดกับพนักงาน หรือพนักงานต้องการจะพูดกับเอ็มดี จะผ่านเมนูที่สี่นี้

เมนูที่ห้า STATUS REPORT หรือรายงานความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่

เมนูที่หก MANAGEMENT MEETING หรือรายงานการประชุมของฝ่ายบริหาร จะใส่ลงไปในเมนูนี้ให้พนักงานทุกคนได้รับทราบด้วย

เมนูที่เจ็ด CORPORATE INFO จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายขององค์กรมีอะไรบ้าง แต่ละโครงการทำไปถึงไหนแล้ว

เมนูที่แปด PRODUCT PORTFOLIO จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการของที่เอ็มไอเอสวางขายมีอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ และช่วงไหนมีโปรโมชั่นอะไร

เมนูที่เก้า IT INTOUCH เมนูนี้ จะทำหน้าที่เป็นไอทีแมน คอยให้คำปรึกษาและจัดการเรื่องเทคโนโลยี เช่น เวลามีซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ แทนที่จะต้องก๊อปปี้ใส่เครื่องให้พนักงานทุกเครื่อง ก็ให้พนักงานโหลดผ่านเมนูนี้ได้ หรือคอยตอบคำถามพื้นฐาน

เมนูที่สิบ TRAINNING จะเป็นบรรจุหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆ มีอะไรบ้าง อบรมเมื่อไหร่ ให้พนักงานจองเรียน จะถูกจดบันทึกลงไปทันทีว่า หลักสูตรไหนใครเรียนบ้างจะรู้ทันที

ผลที่ได้จากสร้างระบบอินทราเน็ตมาใช้ในองค์กร วิรัตน์ เชื่อว่า จะทำให้ระบบการทำงานคล่องตัวขึ้น เขายกตัวอย่างว่า พนักงานฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายบุคคล ไม่ต้องมาตอบคำถามเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ เบิกเงินสดทำอย่างไร จะพักร้อนต้องทำอะไร เพราะทุกคนสามารถถามผ่านเมนูที่บรรจุเอาไว้

"เราจะมีคำถามคำตอบ 20 คำถาม พื้นฐานใส่เอาไว้ พนักงานไม่ต้องเอาเวลางานที่ทำอยู่มานั่งตอบคำถาม ซึ่งต้องเสียเวลาไม่น้อยหากเป็นปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน" วิรัตน์เล่า

ยิ่งไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในเรื่องเอกสารจะถูกลดลงไปอย่างมาก ซึ่งวิรัตน์เชื่อว่า ในช่วงแรกคงลดลงได้ประมาณ 30% เช่น ไม่ต้องจัดพิมพ์เอกสารเรื่องของคู่มือพนักงาน หรือใบเบิกจ่ายเงิน หรือใบลา ใบประกาศ

วิรัตน์ เชื่อว่า ด้วยระบบนี้จะทำให้พนักงานได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน ไม่มีช่องว่าง เช่น รายงานการประชุมของฝ่ายบริการ พนักงานทุกคนก็มีสิทธิรู้ หรือความรู้ที่พนักงานควรจะรู้ หรือข้อสงสัยต่าง ๆ เขาก็สามารถถามได้ทันที

"โดยเฉพาะบริษัทที่ขายข้อมูล หรืออยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ถ้าไม่มีเครื่องมือตรงนี้ช่วย ความเหลื่อมล้ำในเรื่องข้อมูลข่าวสารจะมีมาก โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานมากๆ" วิรัตน์สะท้อนแนวคิด

แน่นอนว่า การลงทุนเรื่องอินทราเน็ตของเอ็มไอเอส เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การใช้ประโยชน์ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนา "สินค้า" บนอินทราเน็ต เพื่อใช้เป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งบนอินทราเน็ตให้กับลูกค้า

"แมเนเจอร์ลิงค์" คือ บริการข้อมูลที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งบนอินทราเน็ต ที่เอ็มไอเอสหวังว่า จะเข้าไปมีบทบาทในกลุ่มลูกค้าประเภทคอร์ปอเรทที่มีระบบอินทราเน็ตใช้ภายในองค์กร

ประเภทของข้อมูลจะประกอบไปด้วยหมวดข่าว ซึ่งจะเป็นข่าวสารที่มาจากหนังสือในเครือผู้จัดการ ส่วนหมวดอื่น ๆ เช่น ทอป 2000 จะเป็นข้อมูลของบริษัททั้งในและนอกบริษัทตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้สูงสุด 2000 รายของไทย

วิรัตน์ เล่าว่า นอกเหนือจากการขายตรงแล้ว เอ็มไอเอสจะขายข้อมูลแมเนเจอร์ลิงค์ผ่านคู่ค้า ที่เป็นผู้รับเหมาวงระบบอินทราเน็ต เช่น ออราเคิล ซีดีจี ซึ่งจะบรรจุ (บันเดิล) ข้อมูลแมเนเจอร์ลิงค์ ขายคู่กับระบบอินทราเน็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม การมุ่งไปที่ระบบอินทราเน็ตอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ไม่ใช่วิสัยที่ถูกต้องนัก ดังนั้น หากลูกค้าที่ไม่มีระบบอินทราเน็ต แต่มีระบบแลนใช้อยู่ภายในองค์กรก็สามารถรับข้อมูลแมเนเจอร์ลิงค์นี้ได้ ด้วยการติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ 1 ตัว ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 หมื่นบาท และโหลดเบราเซอร์นาวิกเกเตอร์มาใช้ในการเรียกดูข้อมูล ก็สามารถรับข้อมูลแมเนเจอร์ลิงค์ได้แล้ว

ทั้งนี้ การที่ต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ เนื่องจากข้อมูลส่วนหนึ่งของแมเนเจอร์ลิงค์ จะต้องไปวางไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของลูกค้า เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และรวดเร็วกว่า ซึ่งลูกค้าจะสามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาในการเรียกข้อมูล

"เนื่องจากข้อมูลเราเยอะมาก ดังนั้น ข้อมูลเรียลไทม์ หรือระหว่างวันจะอัพเดทตามไปที่เซิร์ฟเวอร์นั้น เพื่อให้การใช้ข้อมูลเต็มที่ เพราะไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอนเหมือนกับออนไลน์ทั่ว ๆ ไปจะช้า"

ค่าบริการของแมเนเจอร์ลิงค์ จะคิดเป็นลิงค์ หรือคู่สายที่ใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล หากต้องการความเร็วสูงราคาย่อมสูงตามไปด้วย ส่วนปลายทางจะมีเครื่องพีซีกี่เครื่องในการรับข้อมูลจะขึ้นอยู่กับตัวลูกค้า

วิรัตน์ เล่าว่า เวลานี้มีลูกค้า 3 ราย ติดต่อขอซื้อข้อมูลแมเนเจอร์ลิงค์แล้ว

ด้วยแนวคิดที่ว่า อินทราเน็ตกำลังตื่นตัว บริษัทระดับท็อปเทนในสหรัฐ 500 แห่งกำลังนำระบบนี้ไปใช้ในองค์กร นั่นหมายถึง ในอนาคตการเชือ่มโยงข้อมูลถึงกันจะอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับระบบอินทราเน็ตที่เอ็มไอเอสวางไว้ และลูกค้าที่ใช้บริการแมเนเจอร์ลิงค์

ลำดับต่อไปของบริการที่วิรัตน์วางไว้ คือ การให้ลูกค้าแมเนเจอร์ลิงค์ การเชื่อมโยงข้อมูลของเอ็มไอเอสไปยังลูกค้า ลูกค้าสามารถเข้าไปดูข้อมูลในอินทราเน็ตของเอ็มไอเอส เช่น สินค้าและบริการที่เราราคาเท่าไหร่ หรือดูโปรไฟล์ว่า ราคาเท่าไหร่ หรือเมลเข้าถึงกันได้ ยกเว้นข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อมูลภายใน

"ทุกคนกำลังแข่งขันพัฒนาสินค้าและบริการให้กับลูกค้า หากระบบการจัดการไม่ดีถึงคุณจะมีสินค้าบริการดีเท่าเขา แต่คุณใช้เวลามากกว่า ก็ไม่มีความหมายอะไร การใช้เวลาน้อยที่สุด เป็นหัวใจในการขายสินค้าและบริการ ซึ่งอินทราเน็ตจะเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้คุณ" วิรัตน์สะท้อนแนวคิด

และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของใช้เดอะเน็ตที่มีอินทราเน็ตเป็นพระเอก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.