ตลาดรองเท้านักเรียนเจอศึกสองด้าน ต้นทุนพุ่ง-กำลังซื้อหดกัดฟันรับสภาพสุดอั้นแค่ปีเดียว


ผู้จัดการรายวัน(28 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดรองเท้านักเรียนคึกรับเปิดเทอม ผู้ประกอบการชี้ ภาวะเศรษฐกิจ และราคาน้ำมัน ส่งผลต้นทุนพุ่ง แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้ แถมการแข่งขันยังมีสูง แต่ละค่ายอัดเงินทุ่มแคมเปญหนัก “บาจา” เจ้าตลาด ทุ่ม 40 ล้านบาท ชูแคมเปญราคาเดียวสู้ศึก ระบุปีหน้าสุดอั้นอาจต้องปรับขึ้นราคา ด้าน”นันยาง” ชี้เศรษฐกิจรัดเข็มขัด พ่อแม่ ชะลอความถี่การซื้อรองเท้า อัด 30 ล้านบาท อัดโฆษณา พร้อมแจกรางวัลล่อใจเอเยนต์

พิษเศรษฐกิจส่งกำลังซื้อหด

นายวงศกร โชติวิบูลธนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้านักเรียนตรานันยาง เปิดเผยว่า จากการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะชะลอความถี่ในการซื้อลง คือจาก 2 คู่ต่อปี เหลือเป็น 1 คู่ต่อปี ดังนั้นคาดว่าตลาดรองเท้านักเรียนมูลค่า 1,500 ล้านบาทปีนี้จะมีอัตราการเติบโต 5-10% โดยตลาดระดับกลางราคาตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป มูลค่าตลาด 750 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% จะมีอัตราการเติบโต 5-10%

ล่าสุดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลขายสินค้า โดยพบว่าในช่วง 2-3 เดือนมียอดขาย 70-80% ของทั้งปี บริษัทจึงได้ทุ่มงบ 24 ล้านบาท จากงบรวม 30 ล้านบาท ดำเนินการตลาดในเชิงรุกด้วยการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ “นันยาง เดอะ คลาสสิค” เพื่อตอกย้ำการรับรู้ตราสินค้า ผ่านแนวคิดนันยางผู้สร้างแฟชั่นเหยียบส้นแพร่หลายมาตั้งแต่ปี 2496

นอกจากนี้บริษัทยังกระตุ้นยอดขายด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วง Back to School โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าโรบินสันและเดอะมอลล์(เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการ) ซึ่งปัจจุบันในช่องทางดังกล่าวมีสัดส่วน 30% รวมทั้งตัวแทนจำหน่าย 50 รายและร้านค้าทั่วไปมีสัดส่วน 70% โดยมอบส่วนลดพิเศษและรางวัลไปเที่ยวต่างประเทศ สำหรับร้านค้าที่สร้างยอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้หลังจากเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “นันยาง เดอะ คลาสสิค” ส่งผลให้ยอดขายรองเท้าผ้าใบเพิ่มขึ้นสูงกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากในปีที่ผ่านมามีรายได้รองเท้านักเรียน 300 ล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดซึ่งปัจจุบันนันยางเป็นผู้นำตลาด โดยสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจาก 50% เป็น 55-60% จากมูลค่าตลาดรองเท้าระดับกลาง 750 ล้านบาท

นายวงศกร กล่าวว่า ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้วัตถุดิบการผลิตพื้นรองเท้าโดยเฉพาะยางพาราปรับเพิ่มขึ้นจาก 46 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 80 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับราคารองเท้าฟองน้ำตราช้างดาวเพิ่มขึ้น 2-3% ในเดือนมีนาคม โดยเป็นการปรับราคาขึ้นในรอบ 3ปีของนันยาง นอกจากนันยางจะปรับราคาขึ้นแล้ว ยังมีผู้ประกอบการแบรนด์อื่นๆในช่วงปลายปี ก็ยื่นเรื่องของปรับราคารองเท้านักเรียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

บาจากัดฟัดคงราคาเดิม

ทางด้านนาย คลาวดิโอ อเลสซี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ปีนี้บาจายังคงมีนโยบายตรึงราคาสินค้ารองเท้านักเรียนติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยจำหน่ายเพียงคู่ละ 189 บาท ทุกขนาด ซึ่งเป็นเพราะบริษัทมีโรงงาน และเครื่องจักรที่ทันสมัย มีพนักงานฝ่ายผลิตที่มีฝีมือ มีกำลังจัดซื้อวัตถุดิบในราคาพิเศษ และสั่งในปริมาณที่มาก ดังนั้นจึงส่งผลให้ราคาของรองเท้าในการจำหน่ายจึงยังคงราคาเดิมได้

และเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง บริษัทฯ จึงได้จัดแคมเปญแบ็ค ทู สคูล ขึ้น ในการจำหน่ายรองเท้านักเรียนราคาพิเศษ เพียง 189 บาท ทุกคู่ ทุกขนาด คาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้กว่า 2 ล้านคู่ โดยทั้งปีคาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีก 20 % จากปีที่ผ่านมาที่ปิดยอดขายในส่วนของรองเท้านักเรียนในประเทศไปกว่า 1,000 ล้านบาท

“การที่สามารถตรึงราคาไว้ได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทมีโรงงานการผลิตเอง และมีการผลิตที่สูงมาก ดังนั้น การสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้งจึงซื้อได้ในราคาพิเศษ และสำคัญที่สุดคือ บริษัทฯได้จัดเตรียมผลิตรองเท้านักเรียนรองรับในช่วงเทศกาลดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงยังคงตรึงราคาไว้ได้”

ทั้งนี้บริษัท มีร้านจำหน่ายกว่า 250 สาขา ทั่วประเทศ ในการจำหน่ายสินค้า ซึ่งในปีนี้บริษัทฯมีแผนปรับปรุงร้านค้ามากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าปรับปรุงอย่างน้อย 20 สาขา ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ขณะนี้สามารถปรังปรุงไปได้กว่า 10 สาขาแล้ว และหลังจากหมดเทศกาลเปิดเทอม จึงจะเริ่มปรับปรุงในสาขาอื่นๆต่อไป เช่น สาขา เซ็นทรัล ลาดพร้าว และสาขาเซ็นทรัลเวิล์ด

อย่างไรก็ตามช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทพบว่า น้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะทำให้บริษัทฯสามารถตรึงราคาไว้ได้เพียงปีนี้เท่านั้น หากยังคงมีการปรับราคาขึ้นเรื่อยๆต่อไป เพราะจะส่งผลให้ต้นทุนต่างๆมีการปรับตัวสูงขึ้นตามมา ทั้งค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ยางพีวีซี ที่ถือเป็นวัตถุหลักในการผลิตรองเท้า แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯจะยังคงนโยบายขายสินค้าในระดับราคานี้ต่อไปให้นานที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.