ซีมิโก้บุกธุรกิจกองทุนรวม เล็งดึงพันธมิตรตปท.ลงขัน


ผู้จัดการรายวัน(28 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.ไฟเขียวบล.ซีมิโก้ประกอบบริษัทจัดการกองทุนรวม วงการโบรกเกอร์เผย “ซีมิโก้” อยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุนจากต่างประเทศ และฟอร์มทีม “ผู้จัดการกองทุน” มืออาชีพเข้ามาปั้นบลจ.น้องใหม่ หวังเพิ่มช่องทางหารายได้ นอกเหนือจากราคายจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ แถมยังมีแผนขอใบอนุญาตธุรกิจให้กู้ยืมหลักทรัพย์ คาดเปิดตัวภายในปีนี้ เชื่อตลาดกองทุนรวมอนาคตสดใส

ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต มองหาลู่ทางเพื่อเข้ามาเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดนี้ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากความรู้ความเข้าใจการลงทุนผ่านกองทุนรวมของนักลงทุนที่เริ่มมีมากขึ้น จากการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงการคลัง ที่พยายามส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออมเงินผ่านกองทุนรวม ซึ่งถือเป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้น ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ตลาดตราสารหนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการลงทุนผ่านกองทุนรวม ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้เด่นชัดว่า กระแสตื่นตัวมีมาก เห็นได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งระบบที่ปัจจุบันมี 18 แห่ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 59% โดยสิ้นปี 2548 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งระบบอยู่ที่ 771,150 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2547 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ484,992 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี

สำหรับประเภทของกองทุนที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนคือ กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ลูกค้าเงินฝากโยกเงินเข้าลงทุนกองทุนตราสารหนี้ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้กนว่า 236.51% โดยสิ้นปีที่ผ่านมากองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 แสนล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นขยายตัวเพียง 0.64% โดยสิ้นปีที่ผ่านมากองทุนหุ้นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนผสม สิ้นปีที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.75 แสนล้านบาท ลดลง 2.77%

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการก.ล.ต.มีมติเห็นชอบให้บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) สามารถประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวมตามที่เสนอ โดยคณะกรรมการก.ล.ต. ได้ยื่นเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการคลังเพื่อเห็นชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวว่า การเข้ามารุกธุรกิจกองทุนรวมของบล.ซีมิโก้ ในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นแผนงานที่บลจ.ซีมีโก้เตรียมไว้ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากรายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์ส่วนใหญ่จะมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสำคัญ และในขณะนี้ธุรกิจกองทุนรวม เริ่มเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้การเข้ามารุกในธุรกิจนี้จะช่วยเพิ่มช่องทางการหารายได้ของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ ยังเตรียมที่จะขอใบอนุญาตทำธุรกิจการให้กู้ยืมหลักทรัพย์ (เอสบีแอล) ด้วย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานก.ล.ต.ที่ต้องการให้บล.กระจายแห่งที่มาของรายได้ นอกเหนือจากรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้บล.ซีมิโก้ อยู่ระหว่างการฟอร์มทีมผู้บริหารบลจ.ที่จะมีการจัดตั้ง ซึ่งได้มีการทาบทามผู้จัดการกองทุนจากบลจ.บางแห่งที่ต้องการเข้ามาทำงานในบลจ.ซีมิโก้ ที่จะมีการจัดตั้งใหม่ และคาดว่าบลจ.แห่งนี้จะสามารถจัดตั้งได้ภายในปีนี้แน่นอน

นอกจากนี้ บล.ซีมิโก้ ยังมีแผนที่จะดึงพันธมิตรต่างประเทศเข้าร่วมลงทุนในบลจ.ที่มีการจัดตั้งใหม่ โดยบล.ซีมิโก้ยังคงมีนโยบายถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัว และแผนการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับล.ซีมิโก้

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกเหนือจากบล.ซีมิโก้ ที่ได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้งบลจ.แล้ว มีบล.อีกประมาณ 2-3 แห่งที่อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจัดตั้งบลจ. เนื่องจากธุรกิจนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น แต่ตลาดนี้ถือว่ามีศักยภาพสูง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนผ่านกองทุนรวม ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิพิเศษด้านภาษี เพื่อให้นักลงทุนสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น เช่น การให้สิทธิพิเศษด้านภาษีในการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ได้รับใบอนุญาติประกอบธุรกิจกองทุนรวมเพิ่มเติมจำนวน 2 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นครหลวงไทย จำกัด บริษัทในเครือธนาคารนครหลวงไทย ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2547 และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด บริษัทในเครือธนาคารไทยธนาคาร ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมกองทุนรวมมีบริษัทจัดการกองทุนรวมทั้งสิ้น 18 ราย โดยบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกในเครือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.