|
อุ๋ยสารภาพแทรกแซงบาทตั้งแต่พ.ย.48-แฉเงินร้อนทะลัก4.4แสนล้าน
ผู้จัดการรายวัน(28 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทตั้งแต่ค่าเงินบาท และเงินในสกุลภูมิภาคเอเชียเริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่เดือน พ.ย.2548 ที่ผ่านมาหรือนานกว่า 5 เดือน โดยการแทรกแซงครั้งนี้ถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุด เพราะแรงกดดันจากเงินทุนตามนโยบายของสหรัฐมาอย่างรุนแรง และรวดเร็วกว่าทุกครั้ง
"ครั้งนี้ถือว่าเป็นของจริง ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นการแทรกแซงที่มากที่สุดที่ผมเคยทำมา เนื่องจากต้องการให้ผู้ส่งออกค้าขายได้ แต่ครั้งนี้เงินทุนไหลเข้ามาเร็ว และมาก ดังนั้นบาทจำเป็นต้องแข็งค่าขึ้นบ้าง เพราะผมเห็นว่าการแข็งขืนไม่ให้บาทแข็งค่าขึ้นเลย จะเป็นอันตรายภายหลัง เพราะจะทำให้เงินไหลเข้ามาไม่หยุด จากการเห็นว่าค่าเงินบาทมีค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งในที่สุดอาจจะต้านทานไม่ไหว” ผู้ว่าการธปท.เปิดใจกับผู้สื่อข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน วานนี้ (27 เม.ย.)
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า การที่ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่า ปัจจัยหลักมาจากนโยบายทางการเงินของสหรัฐที่ต้องการกดดันให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้น ด้วยการทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากเทียบตามสัดส่วนของเศรษฐกิจเทียบกับประเทศในภูมิภาคแล้วเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ในตลาดหุ้นของไทยต่ำกว่าตลาดอื่น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 27 เม.ย.2549 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 11,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 448,500 ล้านบาท (39บาทต่อเหรียญฯ) ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นเงินลงทุนโดยตรงประมาณ 3,300 ล้านเหรียญฯ หรือ 128,700 ล้านบาทเป็นเงินลงทุนโดยตรงในภาคเศรษฐกิจจริง และที่เหลือเป็นการลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะสั้นกว่า
อย่างไรก็ตาม ถ้านับในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7.5% และหากเทียบ 4 เดือนแรกของปี แข็งค่าขึ้น 8.2% ซึ่งถือว่าแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ทำให้เชื่อว่าต่อจากนี้แรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้ามาที่ประเทศไทยจะเริ่มน้อยลง แต่จะหันไปลงในประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนยังไม่แข็งค่ามากแทน ทำให้เชื่อว่าค่าเงินบาทในช่วงต่อไปจะแข็งค่าขึ้นไม่มาก และจะไม่ผันผวนเร็วอย่างในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อีกแล้ว
ทั้งนี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะคาดว่านโยบายกดดันค่าเงินเอเชียของสหรัฐจะยังมีต่อเนื่อง และมีสัญญาณว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามายังประเทศไทยต่ออีกระยะหนึ่ง จึงอยากฝากไปยังผู้ส่งออกว่า แรงกดดันต่อค่าเงินบาท และค่าเงินสกุลภูมิภาคจากนโยบายดอลลาร์อ่อนครั้งนี้เป็นเรื่องจริงจังกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้ส่งออกก็ต้องเข้าใจ และปรับตัวเพื่อรองรับกับแรงกดดันค่าเงินบาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากตายใจอาจจะตายจริงได้
"ธปท.จะพยายามรับแรงกดดันไว้ให้ได้มากที่สุด โดยจะพยายามดูแลให้การแข็งค่าของค่าเงินบาทในช่วงต่อไปเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ส่งออกมีเวลาในการปรับตัว" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและยอมรับว่า ที่ผ่านมาผู้ส่งออกปรับตัวได้ดี เห็นได้จากการส่งออกในไตรมาสแรกที่ดีขึ้น 17% ประกอบกับการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยที่ดูในไตรมาสแรกผลลบจากค่าบาทแข็งถูกทดแทนได้ทั้งหมด
ทนงเผยพอใจแบงก์ชาติ
นายทนงกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับรายงานการดูแลค่าบาทของ ธปท.แล้วมีความพอใจในการดูแลของธปท. โดยค่าบาทที่แข็งขึ้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีในด้านราคาการน้ำเข้าน้ำมัน และดูแลอัตราเงินเฟ้อ แต่ในส่วนที่ได้รับผลกระทบ ทางรัฐบาลก็จะต้องดูแล และหาทางช่วยเหลือ โดยกระทรวงการคลังจะดูเรื่องภาคเศรษฐกิจจริง ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะดูแล เพราะธปท.มีอิสระในการดำเนินนโยบาย
การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคนี้จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปพร้อมๆ กับค่าเงินในภูมิภาค แต่หากมองความสามารถในการแข่งขันทางค้า ก็มีผลกระทบการส่งออกในบางภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกในภาคการเกษตร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ที่จะหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนภาคการส่งออกภาคอื่นที่มีวัตถุดิบเป็นสินค้านำเข้ามา การที่บาทแข็งค่าก็ได้ประโยชน์ส่วนหนึ่งทำให้ผลกระทบไม่เท่ากับภาคการเกษตร
นายทนงกล่าวต่อว่า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท และการไหลเข้ามาของเงินสู่ภูมิภาคเอเชียในขณะนี้นั้น เกิดขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ เอเชียเองก็ต้องเตรียมรับมือกับกระแสที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบการเงินโลกนี้ ซึ่งเรื่องเงินทุนไหลเข้าที่มองว่าเป็นระยะสั้นมากกว่าระยะยาวนี้ ทราบว่า ธปท.ได้เตรียมมาตรการในการดูแลเงินไหลเข้าไว้แล้ว โดยในขณะนี้ ธปท.ก็ทำหน้าที่ได้ดีในเรื่องการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลังก็พอใจ โดยเชื่อว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|