ไมโครซอฟท์ ยุทธการยึดเรือรบสายอินทราเน็ต


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ไมโครซอฟท์ยังเป็นรองเนสเคปในเรื่องของอินเตอร์เน็ต เพราะการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ปล่อยให้เนสเคปครองส่วนแบ่งตลาดเบราเซอร์ โปรแกรมช่วยในการดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ตไปมากกว่า 80%

แต่หลังจากรู้ว่าพลาดท่าไปแล้ว ไมโครซอฟท์ก็หันหัวเรือเข้าสู่เส้นทางของอภิมหาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนี้ทันที

ไมโครซอฟท์ ประกาศว่า ภายในสิ้นปีนี้ ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ทั้งหมดจะผูกติดอยู่กับอินเตอร์เน็ตทั้งหมด

และด้วยแนวคิดที่ว่า เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรแล้ว จะทำให้ระบบการทำงานในองค์กรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สามารถปฏิวัติระบบออฟฟิศออโตเมชั่นแบบเดิม ๆ แบบขาดลอย

เมื่อถึงคราวนี้ ไมโครซอฟท์ไม่ยอมตกขบวนอีกต่อไป บิล เกตต์ ได้ออกมาประกาศยุทธศาสตร์อินทราเน็ต พร้อม ๆ กับยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา

สำหรับในไทยไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ขานรับแนวคิดดังกล่าวทันทีด้วยการนำเสนอแนวคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ บนอินทราเน็ตออกวางตลาด

"สิ่งสำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้อินทราเน็ตเป็นที่นิยม คือ เก็บข้อมูลง่าย ค้นหาก็ง่าย เพราะเทคโนโลยีเว็บ หรือโปรแกรมที่ช่วยในการจัดและหาข้อมูลจะง่ายมาก" อาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวถึงอินทราเน็ต

เช่นเดียวกับเฮอร์เบิร์ต วงศ์ภูษณชัย ผู้จัดการธุรกจอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับอินทราเน็ตว่า อินทราเน็ตเป็นที่รวบรวมข้อมูลใช้แทนตู้เอกสาร การเรียกดูข้อมูลไม่ซับซ้อนค้นหาข้อมูลง่ายขึ้น ผู้บริหารไม่ต้องเรียนรู้สามารถใช้ส่งอีเมล์ เพื่อติดต่อสื่อสารกันภายในแทนการใช้เอกสารที่เป็นรูปแบบเดิม

อินทราเน็ต จะเป็นมาตรฐานใหม่ที่จะมาแทนที่ระบบออฟฟิศออโตเมชั่นแบบเดิม ด้วยเหตุที่ว่า ใช้เทคโนโลยีเดียวกับอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมากจึงมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาตลอดเวลา มาตรฐานการใช้งานจึงกว้างกว่าของระบบออฟฟิศออโตเมชั่นแบบเดิม ซึ่งต่างคนต่างพัฒนาขึ้นมาเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งานง่ายผู้บริหารไม่ต้องยุ่งยาก มีเพียงหน้าจอเดียว ก็สามารถเรียกดูข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในได้

"ในอดีตผู้บริหารมักต้องประสบปัญหาในเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ ต้องเรียนรู้แอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ ตอลดเวลาค่อนข้างยุ่งยาก แต่เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต ผู้บริหารเพียงแต่เปิดหน้าจอกดไปดูข้อมูลตามแผนกต่าง ๆ โดยไม่ต้องจำหัวไฟล์ให้ยุ่งยาก" เฮอร์เบิร์ต กล่าว

ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ก็เป็นเช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่นำเอาอินทราเน็ตมาใช้ในองค์กร

เจ้าหน้าที่ของไมโครซอฟท์ประเทศไทยสามารถเรียกดูข้อมูลภายในที่มีเครือข่ายอินทราเน็ตไปยังเว็ปไซต์ต่าง ๆ ของไมโครซอฟท์ 2,000 แห่งทั่วโลก เช่น ฝ่ายการตลาดของไมโครซอฟท์มีการพัฒนาสินค้าประเภทใหม่อะไรออกมาบ้าง และใครเป็นผู้ดูแล

"อย่างผมจะขอวิดีโอของบิล เกตต์ ผมจะส่งอีเมล์ระบุชื่อ รหัสพนักงาน ให้ส่งมาที่ไหน ข้อความเหล่านี้จะลิงค์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะจัดส่งวิดีโอมาให้ตามที่สั่งไว้ นี่คือ อินทราเน็ต" เฮอร์เบิร์ต เล่า

เฮอร์เบิร์ต ยกตัวอย่างว่า ผู้บริหารและพนักงานในออฟฟิศของไมโครซอฟท์จะติดต่อกันผ่านอีเมล์ในการอนุมัติงานหรือโครงการต่าง ๆ

"เวลาผมขออนุมัติงบประมาณกับคุณอาภรณ์ ผมจะส่งไปทางอีเมล์ ก็สามารถระบุได้ว่า ผู้ส่งเป็นคน ๆ เดียวกันหรือไม่ และเอ็มดีส่งไปให้บัญชีอนุมัติออกมา" เฮอร์เบิร์ตเล่า

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ไมโครซอฟท์ เชื่อว่า อินทราเน็ตจะต้องเข้ามามีบทบาทต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จะนำไปใช้ในองค์กร

เป้าหมายของไมโครซอฟท์ การพัฒนาซอฟต์แวร์บนพื้นฐานเดิมโดยผู้ใช้ไม่ต้องรื้อซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่เดิม และยังพัฒนาเสริมบริการใหม่ ๆ เข้าไป

นั่นหมายถึงว่า ผู้ใช้ที่มีเวิร์ดโพรเซสเซอร์ใช้พิมพ์งาน ทำบัญชีโดยใช้ไมโครซอฟต์เอ็กเซล ทำสไลด์โดยใช้เพาเวอร์พอยต์ หรือทำเวิร์คชีท โดยใช้โลตัส 123 ยังคงใช้งานได้เช่นเดิม แต่เพิ่มเว็บเซิร์ฟเวอร์ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และส่งอีเมล์และดาวน์โหลดเบราเซอร์ในการเรียกดูข้อมูลแบบง่าย ๆ โดยผู้ใช้ไม่ต้องจำชื่อไฟล์

"เอ็กเซล อินเตอร์เฟส" คือ ตัวอย่างโปรแกรมที่รวมเอาโปรแกรมไมโครซอฟท์เอ็กเซลเข้ากับอินเตอร์เน็ตเบราเซอร์ ซึ่งโปรแกรมนี้จะทำให้ผู้บริหารสามารถดูบัญชีรายวัน หรือรายเดือนในโปรแกรมเอ็กเซลได้ ในระหว่างที่ดูข้อมูลอื่น ๆ โดยไม่ต้องเปิดไฟล์เพื่อเข้าไปเรียกโปรแกรมเอ็กเซลทั้งหมดจะอยู่บนหน้าจอเดียว

"เราสามารถโหลดเอ็กเซลเข้ามาได้เลย มันจะวิ่งไปเรียกเข้าไปในเซิร์ฟเวอร์ ปกติฝ่ายบัญชี ทำให้ผู้บริหารสามารถดูโปรแกรมได้พร้อม ๆ กัน"

"เน็ต มีทติ้ง" เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการประชุมทางคอมพิวเตอร์ด้วยระบบอินทราเน็ต ซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี

เฮอร์เบิร์ต เล่าว่า โปรแกรมเน็ตมีทติ้งพัฒนามาจากมาตรฐานของโลก ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการติดต่อวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

ผู้ใช้เน็ตมีทติ้งในการประชุมจะสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลแก้ไขเอกสาร ตลอดจนพูดคุยกันผ่านระบบอินทราเน็ตได้

"แอคทีฟ เอ็กซ์ แพลทฟอร์ม" (ACTIVEX) เป็นมาตรฐานที่ไมโครซอฟท์พัฒนาขึ้นสำหรับเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ต เช่น โปรแกรมแอคทีฟ เอ็กทีฟเอ็กซ์เว็บเพจ เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการสร้างโฮมเพจบนอินเตอร์เน็ตที่จะสามารถโต้ตอบ (อินเตอร์แอคทีฟ) กับผู้อ่านข้อมูลได้แทนที่จะเป็นหน้าจอปกติที่แสดงผลในรูปของข้อมูล หรือรูปภาพตามปกติ

"อินเตอร์เน็ต เอ็กซพลอเลอร์ 3.0" จะเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นสำคัญบนอินเตอร์เน็ตที่ไมโครซอฟท์ เชื่อว่า จะเป็นเบราเซอร์ที่ดีที่สุดในการมองเข้าไปในอินเตอร์เน็ต และไมโครซอฟท์หวังว่า จะชิงส่วนแบ่งตลาดจากเนสเคปมาได้ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่ไมโครซอฟท์จะทำสำหรับโปรแกรมชิ้นนี้ คือ การพัฒนาไออี 3.0 ให้เป็นภาษาไทยทันทีที่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษพัฒนาเสร็จสิ้นลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปี

จุดเด่นของโปรแกรมนี้ คือ สามารถกำหนดได้ให้ผู้ใช้รายใดจะเข้าไปดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ให้ดูข้อมูลใด เช่น ป้องกันไม่ให้ดูรูปโป๊

"ภายในสิ้นปี ไมโครวอฟท์ จะมีครบทุกอย่าง มีเบราเซอร์รุ่นใหม่สำหรับยูนิกส์ ผูกไมโครซอฟท์เอ็กซ์พลอเลอร์เข้ากับอินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเลอร์ ผูกไมโครซอฟท์ออฟฟิศเข้ากับอินเตอร์เน็ต และผูกวินโดว์ 95 เข้ากับจาวา เราต้องการให้ลูกค้าใช้โปรแกรมเดียวต่อไป เราจะใช้มาตรฐานอินเตอร์เน็ตเป็นโอเอสอันหนึ่งเลย" เฮอร์เบิร์ต กล่าว

สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นเสมือนสิ่งที่จะบอกถึงทิศทางในอนาคต ตลอดจนความสำคัญของอินเตอร์เน็ต และอินทราเน็ตที่ไมโครซอฟท์คงไม่ยอมตกขบวนอย่างแน่แท้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.