แบงก์ชาติกุมชะตาแก้พิษน้ำมันขึ้นดอกเบี้ยอีก-เศรษฐกิจอัมพาต


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วัดใจแบงก์ชาติแก้ปัญหาวิกฤติน้ำมัน หากยึดสูตรสำเร็จ "ขึ้นดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อ" เศรษฐกิจไทยเดี้ยงแน่ หวั่นเป็นแรงหนุนต่างชาติเก็งกำไรค่าบาท ยันไม่พบเงินนอกไหลออกผิดปกติ ด้านคลังพยายามหารือแบงก์ชาติแต่วันนี้อำนาจทางการเมืองอ่อนแอ

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลต่อความรุนแรงทั่วโลก ดังนั้นการปรับลดลงจากระดับ 75 เหรียญต่อบาเรล จึงเป็นแค่เหตุการณ์ชั่วขณะเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้สร้างความกังวลใจกับทุกฝ่าย หลังจากรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามทิศทางตลาด แม้จะมีข้อเสนอของบุคคลในวงการพลังงานแนะนำให้ลดภาษีน้ำมัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะใช้วิธีลดภาษีนำมันเป็นวิธีสุดท้าย

นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทุกสาขาอาชีพแล้ว ยังส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเกือบทุกประเภทย่อมต้องปรับขึ้นตามมา เมื่อค่าครองชีพของผู้คนเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันคือภาวะเงินเฟ้อที่ต้องเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าและบริการ

อัตราเงินเฟ้อหากอยู่ในระดับสูงเกินกว่าดอกเบี้ยเงินฝากนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาคประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของเงินออม ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหน่วยงานสำคัญจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไรกับปัญหานี้

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขเงินเฟ้อ ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร(RP) 14 วัน อย่างต่อเนื่องถึง 9 ครั้งตั้งแต่ 20 เมษายน 2548 จาก 2.25% ขยับขึ้นเป็น 4.75% เมื่อ 10 เมษายน 2549 ที่ผ่านมาและจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินในเรื่องดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 7 มิถุนายนนี้

งานนี้ต้องวัดใจกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะส่งสัญญาณชี้นำดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอีกหรือไม่

วัดใจดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อ

"แบงก์ชาติมักให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมองว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล"นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าว

เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นทำสถิติใหม่ตลอดเวลา ตามมาด้วยผลของการชี้นำดอกเบี้ย RP ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งแข่งขันกันหาเงินฝากอย่างดุเดือด แน่นอนว่าเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องปรับขึ้นตามไปด้วย

ล่าสุดธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) ขึ้นไปที่ 8% มีผลเมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา คาดว่าอีกไม่นานธนาคารพาณิชย์อื่นคงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม

เก็งกำไรบาท...รวย

อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันสภาพเศรษฐกิจในประเทศมากไม่แพ้กันคือค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นทุกขณะจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 41 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2548 มาเคลื่อนไหวที่ 37.50 บาทในปัจจุบัน ยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกก็จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นย่อมมีผลทั้งทางบวกและลบ แน่นอนว่ากลุ่มส่งออกย่อมไม่ชอบค่าเงินบาทที่แข็ง เนื่องจากทำให้ราคาสินค้าในต่างประเทศแพงขึ้น อาจทำให้ยอดขายลดลงไปบ้าง อีกทั้งเมื่อได้เงินดอลลาร์กลับเข้ามาแล้วแปลงเป็นเงินบาทย่อมได้เงินน้อยลง เช่น จากที่เคยรับที่ 39 บาท ก็จะเหลือแค่ 37.50 บาทเป็นต้น

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งก็ช่วยให้ตัวเลขดุลการค้าของประเทศไม่เสียหาย โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน จากเดิมที่จ่ายราว 39 บาทต่อเหรียญก็จ่ายน้อยลง และราคาน้ำมันที่ดูว่าแพงในขณะนี้หากเงินบาทอ่อนไปที่ 39-40 บาท ราคาน้ำมันในประเทศจะแพงกว่าที่เป็นอยู่พอสมควร

อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกขณะยิ่งเข้าทางนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยผ่านตลาดหุ้นช่วงปี 2548 นับแสนล้านบาท และเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปี 2549 โดยเฉพาะเดือนมกราคมที่มีเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เข้ามาซื้อกิจการชิน คอร์ป

จากต้นปีจึงถึง 25 เมษายนนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อหุ้นสุทธิไปแล้ว 1.14 แสนล้านบาท นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ และยังมีอีกหลายส่วนที่ไหลเข้าไปลงทุนในภาคอื่น ๆ

"แบงก์ชาติก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเงินนอกที่เข้ามาเกรงกันว่าจะเป็นเงินระยะสั้น อาจเข้ามาที่ระดับ 39-40 บาท แล้วเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นระยะหนึ่ง บางส่วนอาจนำไปพักในบัญชีเงินฝากสำหรับผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ แล้วรอจังหวะให้ค่าเงินบาทแข็งแล้วจึงแลกดอลลาร์กลับหากทำได้ที่ระดับ 37 บาทก็จะมีส่วนต่าง 2-3 บาทต่อดอลลาร์ เช่น 100 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้กำไรราว 2-3 ร้อยล้านบาทถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงราว 5-7.5%" แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการนำเงินออก อีกทั้งมาตรการเดิมในเรื่องการควบคุมเงินไหลออกก็ยังเป็นเครื่องควบคุมเม็ดเงินเหล่านี้อยู่ในระดับหนึ่ง

แบงก์ชาติกุมชะตา

นักเศรษฐศาสตร์รายเดิมประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ต้องขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติเป็นหลักว่ามองปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ยังยืนยันในเรื่องการใช้ดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อเหมือนเดิมหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองคงไม่ต้องการเห็นดอกเบี้ยสูงหรือค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป เห็นได้จากความพยายามของกระทรวงการคลังที่จะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ยิ่งขณะนี้รัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการอำนาจการต่อรองย่อมน้อยลง คงกดดันแบงก์ชาติยาก

หากแบงก์ชาติยังคงนโยบายแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดิม เชื่อว่าดอกเบี้ยในประเทศโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้อาจปรับขึ้นได้ถึงระดับ 9% จะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างมาก เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ถือว่าปัจจัยลบมารุมเร้าพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแพง ดอกเบี้ยเพิ่ม เงินเฟ้อ ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จึงทำให้การแก้ปัญหาค่อนข้างทำได้ลำบาก

ดังนั้นการหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างเป็นหลัก น่าจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหาแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงจุด ลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับประชาชน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.