|
"3ตัวการ"ฉุดเศรษฐกิจหดตัวธุรกิจจ่อคิวเจ๊ง-ภาคครัวเรือนชะลอใช้จ่าย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สภาหอการค้าคาดปัญหาค่าเงินลากยาวถึงปลายปี พร้อมห่วงปัญหาการเปิดสภาไม่ได้ส่งผลต่อแผนธุรกิจระยะยาวหยุดชะงัก ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งครวญแม้ได้ GSP จากยุโรปแต่โตไม่ทันอัตราค่าเงินบาทแข็งตัวด้านนักวิชาการชี้ประชาชนเตรียมชะลอใช้จ่าย
ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญภาวะปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอย่างแรง โดยเฉพาะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างอย่าง ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ว่าจะขยายตัว 15 - 17.5 เปอร์เซ็นต์ นั้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน
ค่าบาทแข็งกระทบส่งออกลากยาวถึงปลายปี
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ ราคาน้ำมันโลกที่ทะยานสูงขึ้น อัตราค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นถึง 8% และความกังวลเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ทั้ง 3 เรื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการของภาครัฐ
โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทของไทยเราถูกนักค้าเงินเก็งกำไรกันอย่างมาก เพราะแม้ค่าเงินดอลล่าร์จะอ่อนตัวลงแต่เมื่อสังเกตค่าเงินเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งทางการค้าไทยอย่างมาเลเซีย เกาหลี และเวียดนาม ไม่ได้แข็งค่าขึ้นตาม ขณะที่ค่าเงินบาทนั้น มีการแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง กว่า 8% แล้ว ในระยะเวลา เดือนกว่าๆ ซึ่งคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในทิศทางระดับ 38-37 บาทไปเรื่อยอาจจนถึงสิ้นปี ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงใดๆ จะส่งผลต่อผู้ส่งออกอย่างมากคาดว่าถ้าผู้ส่งออก ส่งออกได้น้อยลงการปรับประมาณการณ์ GDP ก็คงจะลดลงด้วย อาจมาถึง 4% หรือต่ำกว่านั้น และที่น่ากลัวคือลูกค้าของไทยจะหันไปหาเพื่อนบ้านหมด
นอกจากนั้นปัจจัยลบอีกอย่างที่นักลงทุนกังวลใจอยู่ก็คือ ปัญหาการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการเปิดสภาผู้แทนราษฎร จะส่งผลต่อนโยบายระยะยาว ปัจจุบันมีนักลงทุนบางส่วนที่ชะลอการลงทุนไปแล้ว น่าเป็นห่วงก็คงจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องจากกระทบกับทุกเซ็คเตอร์ของวงล้อเศรษฐกิจ แต่ยังถือว่าไทยน่าจะยังไม่เข้าถึงขั้นวิกฤติอย่างปี 2540
ขณะเดียวกันมุมมองเกี่ยวกับค่าเงินบาทของนักการเงินอย่าง ศุภวุฒิ สายเชื้อบอกว่าการแข็งตัวของค่าเงินบาทเป็นการยับยั้งเงินเฟ้อที่อาจจะถีบตัวสูงขึ้นจากราคาม้ำมันได้ ส่วนผู้ประกอบการส่งออกในตอนนี้เห็นว่าการแข็งค่าเงินบาทนั้นไม่เป็นปัจจัยบวกแม้แต่นิดเดียว
กุ้งไทยกลัวลูกค้ารายใหญ่ซื้อจากคู่แข่ง
สมาคมผู้ค้ากุ้งไทย ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ส่งออกกุ้งที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับผลกระทบแล้ว 7% จากยอดซื้อขายทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่มีการล้มหายตายจากของกลุ่มธุรกิจนัก แต่ทางผู้ประกอบการมองว่าในภาพรวมไทยจะเสียลูกค้าใหญ่ๆจากทาง EU และสหรัฐอเมริกาไป เพราะขณะนี้ค่าเงินของประเทศคู่แข่งส่งออกกุ้งอย่าง จีน เอลซาวาดอร์ อินโดนีเซียและประเทศจีน ไม่ได้มีค่าเงินที่แข็งขึ้นอย่างไทย จึงเป็นไปได้ว่าลุกค้ากุ้งของไทยจะหันไปซื้อกุ้งจากประเทศคู่แข่งแทน
ส่วนผลสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งทางสหภาพยุโรปให้กับไทยในตอนนี้ประธานสมาคมส่งออกกุ้งกล่าวว่า จากเดิมที่เคยเก็บภาษีกุ้งจากไทย 12.5% ได้ลดเหลือ 4.2% ซึ่งช่วงหาง 8% ที่ได้รับผลประโยชน์จาก GSP ก็โดนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 7% กลบหมดแล้ว
"ตอนนี้สมาชิกผู้ส่งออกกุ้งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าลำบากแล้ว ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นมาก เราทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้เรากลัวค่าเงินบาททที่สุด รองลงมาคือราคาน้ำมันที่จะฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก เพราะกุ้งถือว่าเป็นสินค้าราคาแพง ถ้าราคาน้ำมันขึ้นอยู่อย่างนี้ การใช้จ่ายสินค้าราคาแพงอย่างกุ้งในตลาดโลกต้องลดแน่นอน" สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการที่มองว่า ปี 2549 จะเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการอย่างยิ่ง
ปี 49 ประชาชนระวังการใช้จ่าย
ดร .วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่าปัจจัยลบเศรษฐกิจ 3 ตัวนี้เป็นสัญญาณให้ระมัดระวังเศรษฐกิจ เพราะราคาน้ำมันต่างกดดันภาวะราคาเงินเฟ้อ จะต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ คาดว่าเงินแฟ้อพื้นฐานปัจจุบันอยู่ที่ 2.4-2.5 ซึ่งจะมีการปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย ด้านดอกเบี้ยคาดว่าภายในปีนี้จะเห็นดอกเบี้ยขยับขึ้นอีก 1-0.5% แน่นอน ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเห็นได้ชัด และแน่นอนว่าสัญญาณเหล่านี้ต่างเป็นตัวชี้สำคัญให้ภาคประชาชนต้องรัดเข็มขัดมากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผลกระทบนี้ก็ส่งผลไปทั่วโลกด้วย
สำหรับปัญหาค่าเงินบาทนั้น ดร.วรพลมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด เพราะเมืองไทยมีเงินทุนไหลเข้ามามากจึงเป็นธรรมดาที่ค่าเงินบาทจะแข็งตัวขึ้น แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะระมัดระวังไม่ให้มีความผันผวนของราคาเงินบาทมากนักเพราะจะเกิดปัญหาตามมาสำหรับผู้ประกอบการในด้านความสามารถในการแข่งขันซึ่งผู้ประกอบการเมืองไทยจะต้องไปแข่งขันในตลาดโลก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|