"โกลด์ไซท์" ช้อปปิ้งผ่านอินเตอร์เน็ตธุรกิจที่ยังต้องรอ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้องยอมรับว่า นักโต้คลื่นบนอินเตอร์เน็ตในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน หากใครไปงานไอทีเทรดดิ้งล่าสุด คงเห็นว่า พระเอกของงานคงหนีไม่พ้นอินเตอร์เน็ต

"ผมเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ที่คนเดินเข้าแถว เพื่อสมัครเป็นสมาชิกอินเตอร์เน็ต เพราะเวลานี้ ทุกคนผ่านยุคแรกที่เป็นช่วงของการเรียนรู้ไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคที่สองอันเป็นช่วงของการเติบโต" ดร.ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์ รองผู้อำนวยการ ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด กล่าว

แม้ว่า อินเตอร์เน็ตจะเป็นเครือข่ายอันทรงพลัง ทำให้คอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกันทั่โลก แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาเกือบครึ่ง เฉพาะแค่ที่มหาวิทยาลัยเอแบค ที่อินเตอร์เน็ตจัดเป็นวิชาบังคับก็มีนักศึกษาหลายหมื่นคน ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าองค์กร รวมทั้งลูกค้าที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และแถมแอคเคาท์อินเตอร์เน็ตจะมีสมาชิกบุคคลที่สมัครเข้ามาเพียงแค่หมื่นกว่ารายเท่านั้น

ด้วยตัวเลขเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อินเตอร์เน็ตในไทยเติบโตจริงหรือไม่

ข้อจำกัดการเติบโตของอินเตอรืเน็ตหลายคน มองว่า สาเหตุแรก คือ ค่าใช้บริการมีราคาแพง บรรดานักท่องอินเตอร์เน็ตต้องจ่ายค่าใช้ต่อเดือนถึง 1,200 บาท เป็นปัญหาข้อจำกัดสำคัญของการใช้อินเตอร์เน็ต

มีการประเมินว่า สาเหตุน่าจะมาจากยังถูกควบคุมจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการต้องขอสัมปทาน ซึ่งต้องแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน และต้องเช่าคู่สายเช่าความเร็วสูง ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูง ราคาค่าบริการจึงสูงตามไปด้วย

อีกทั้งข้อจำกัดในเรื่องระบบสื่อสารของไทย คู่สายมีอยู่อย่างจำกัด และความเร็วในการส่งข้อมูลเป็นปัญหาที่ทำให้บรรดานักโต้คลื่นอินเตอร์เน็ตของไทยต้องประสบปัญหาในการเรียกดูข้อมูลตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่เสมอ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ เหล่าไอเอสพีที่ได้รับอนุมัติจาก กสท.แล้ว 11 ราย ซึ่งกำลังทยอยเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 4-5 ราย

"ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไอเอสพีจะหวังรายได้จากยอดสมาชิกอินเตอร์เน็ตที่สมัคร เนื่องจากการแข่งขันจากผู้ให้บริการที่มีอยู่หลายราย ส่วนใหญ่จึงมุ่งหวังไปที่ลูกค้าประเภทองค์กร (คอร์ปอเรท) ซึ่งจะทำรายได้ให้มากกว่า" ดร.ธัชพงษ์ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในการนำเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปในเชิงธุรกิจ หรือที่เรียกว่า อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิซที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้อินเตอร์เน็ตแพร่หลายกว่านี้

ดร.ธัชพงษ์ กล่าวว่า อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกิจบนอินเตอรืเน็ต ไม่ว่าการทำช้อปปิ้งมอลล์ หรือโฆษณาบนอินเตอร์เน็ต จะเป็นส่วนที่ทำรายได้ให้กับไอเอสพีได้มากกว่าผู้ใช้ทั่วไป รายได้ที่ว่านี้ เช่น การรับเป็นที่ปรึกษา การรับทำโฮมเพจ

"จะเห็นได้ว่า ไอเอสพีทุกเจ้าจะมีให้บริการในส่วนนี้ทุกราย เพราะเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีไอเอสพีรายไหนจะหวังรายได้จากยอดสมาชิกเพียงอย่างเดียวได้" ดร.ธัชพงษ์ กล่าว

อินเตอรืเน็ต จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับมหาวิทยาลัย นักศึกษา นักวิจัย หรือนักวิชาการอีกต่อไป แต่ยังถูกแปรเปลี่ยนเป็นชอปปิ้งมอลล์ ที่ให้เจ้าของสินค้ามาตั้งร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการ โดยไม่ต้องกังวลถึงเนื้อที่ของร้านค้า สถานที่ตั้งของร้าน หรือเงินทุนที่ใช้ก่อสร้างร้านค้า

บรรดาพ่อค้า แม่ค้า หรือนักธุรกิจในสหรัฐอเมริกาหลายราย เริ่มหันมาเปิดร้านค้าบนอินเตอร์เน็ต ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันการเงินที่คิดจะเปิดสาขาแห่งใหม่บนเครือข่ายเส้นนี้ นอกเหนือจากการทำโฆษณาที่เป็นจุดเริ่มของธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต

นักโต้คลื่นบนอินเตอร์เน็ตจึงไม่เพียงแต่ค้นหาข้อมูลจากทุกมุมโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถสั่งซื้อสินค้า สั่งอาหารหรือบริการประเภทต่าง ๆ บนเครือข่ายเส้นนี้

ในเมืองไทยก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่า โฮมเพจของบรรดาไอเอสพีทุกราย ถูกจัดทำไว้สำหรับการใช้เป็นสื่อโฆษณา และ "ซื้อขาย" สินค้า เพื่อรองรับกับกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ

โฮมเพจส่วนใหญ่ถูกบรรจุด้วยข้อมูลโปรไฟล์บริษัทสินค้าและบริการต่าง ๆ เช่น โฮมเพจของอีซูซุ ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับล็อกซ์อินโฟร์จะมีข้อมูลแสดงสมรรถนะของรถรุ่นต่าง ๆ เช่นเดียวกับโตโยต้าธุรกิจ และเบนซ์ ที่เชื่อมโยงอยู่กับค่ายของเคเอสซี

เคเอสซีจัดทำโฮมเพจมีชื่อว่าโกลด์ไซท์ (GOLD SITE) เพื่อใช้เป็นชอปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่บนอินเตอร์เน็ต สินค้าและผลิตภัณฑ์ถูกแบ่งแยกออกตามประเภท เพื่อให้บรรดานักท่องอินเตอร์เน็ตเลือกหาข้อมูลสินค้า เช่น รถยนต์, โรงแรม, เอ็นเตอร์เทนเมนต์, อสังหาริมทรัพย์, ไฮเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับอินเตอร์เน็ต ประเทศไทย ที่มีโฮมเพจไว้เป็นแหล่งโฆษณา และขายสินค้า รวมทั้งดิไอเดียที่เปิดโฮมเพจสำหรับขายสินค้า โดยจะทำตลาดใน 10 ประเทศในย่านเอเชีย และสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้โฮมเพจชของดิไอเดีย เป็นหน้าโฆษณาให้กับสินค้าต่าง ๆ ใน 10 ประเทศ

ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าของสินค้าบางรายใช้อินเตอร์เน็ตเป็นที่รับสั่งจองสินค้าและบริการ ดังเช่น โฮมเพจของพิซซ่าฮัท ที่รับสั่งออร์เดอร์พิซซ่า หรือซิตี้แบงก์ ที่รับสมาชิกบัตรเครดิต ทั้งวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดผ่านอินเตอร์เน็ต รวมทั้งโรงแรมดุสิตธานีที่เปิดจองห้องพักผ่านอินเตอร์เน็ต และการขายโมเด็ม หรือพีซีคอมพิวเตอร์

หรือในกรณีของสามารถอินเตอร์เน็ตที่พยายามสร้างจุดขายสร้างไซเบอร์เน็ต เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจ และซื้อขายสินค้า หรือพบปะเหล่าบรรดาสมาชิกของสามารถ

แต่ปัญหา คือ การใช้อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ บนอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การ "โฆษณา" สินค้าและบริการบนอินเตอร์เน็ต มากกว่าจะใช้เป็น "ร้านค้า" เพื่อใช้จับจ่ายซื้อหาสินค้าดังที่หลายคนคาดหวังไว้

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การเป็นแค่แหล่งข้อมูลที่ใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์มากกว่าการซื้อขาย ซึ่งหลายคนเชื่อว่า หากการซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นจิรง และเป็นที่นิยมจะทำให้อินเตอร์เน็ตเติบโตขึ้นอีกมาก

แต่สภาพที่เป็นอยู่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การซือ้ขายของบนอินเตอร์เน็ตยังอยู่แค่จุดเริ่มต้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นเท่าใดนัก

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก คนไทยยังนิยมชอปปิ้งตามห้างสรรพสินค้ามากกว่าการซื้อสินค้าจากแคตาล็อก เพราะยังต้องเห็นสินค้า

อีกทั้งสินค้าที่ขายบนอินเตอร์เน็ตยังมีราคาแพงกว่าราคาท้องตลาด ซึ่งตามปกติแล้วสินค้าที่ขายผ่านระบบนี้จะต้องราคาถูกกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการจ่ายเงินผ่านอินเตอร์เน็ตยังมีข้อจำกัด เนื่องจากกฎหมายของไทยที่กำหนดการชำระเงินจะต้องมีลายเซ็นของผู้จ่ายกำกับซึ่งในอินเตอร์เน็ตยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

อีกทั้งปัญหาเรื่องความปลอดภัยของการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตยังไม่ได้มาตรฐาน

ส่วนใหญ่การชำระเงินในปัจจุบัน เช่น ชำระด้วยบัตรเครดิตผ่านอินเตอร์เน็ตจะต้องแฟกซ์ลายเซ็นของผู้ซื้อส่งตามไปหรืออาจต้องใช้วิธีเปิดเครดิตไว้ที่ผู้ขายก่อน เพื่อหักเงินในภายหลัง หรือใช้วิธีเก็บเงินจากผู้ซื้อหลังจากที่ส่งสินค้าไปให้

ความหวังของบรรดาไอเอสพี จึงอยู่ที่การรอวีซ่า มาสเตอร์การ์ด และไมโครซอฟท์ได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานใหม่ของการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต มีชื่อว่า SET เซ็กเคียวอิเล็กทรอนิกส์ ทรานแซกชั่น ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นมาตรฐานของการจ่ายเงินอย่างปลอดภัยออกวางตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกอินเตอรืเน็ตในไทยส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา ไม่ใช่คนทำงาน กลุ่มลูกค้าจึงจำกัดและอาจไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของผู้ผลิตสินค้า

สินค้าที่จำหน่ายบนอินเตอร์เน็ต จึงถูกจำกัดอยู่แค่สินค้าที่มีราคาไม่แพงนัก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชอปปิ้งมอลล์บนอินเตอร์เน็ตก็อาจยังต้องรอไปอีกหลายปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.