แผนกลยุทธ์สู้วิกฤตพลังงาน เล็งซื้อบ่อน้ำมัน-ผลิตไบโอดีเซลเพื่อส่งออก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนยุทธศาสตร์ แก้วิกฤตพลังงานชาติ "สนพ" เล็งซื้อบ่อน้ำมันเป็นของชาติ หลังใช้หนี้กองทุนหมด มั่นใจลดการนำเข้าน้ำมันได้ 10% เตรียมส่งไบโอดีเซลสู่ตลาดต่างประเทศ ด้านกระทรวงเกษตรฯมั่นใจๆไบโอดีเซลเป็นรูปเป็นร่างอีกปีครึ่ง เหตุต้องรอนำเข้า"ต้นปาล์ม"จากต่างประเทศ

หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นสู่ระดับ 72 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงเวลาประมาณ 10 วัน ขณะที่ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 2 บาทต่อลิตร และจากบทวิเคราะห์ต่างๆพากันคาดการณ์ว่าเราอาจจะเห็นน้ำมันทะยานไปแตะราคา 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไม่ช้า ดังนั้น ประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันเป็นหลักอย่างไทย ต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ภาครัฐจึงต้องเร่งออกนโยบาย เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน

บรรเจิดให้ไทยเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน

เมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าเพื่อการป้องกันการพึ่งพิงน้ำมันในระยะยาว ทาง สนพ.ได้วางแผนยุทธศาสตร์พลังงานประเทศไทยเพื่อความยั่งยืนไว้แล้วก็คือ ในอนาคตให้ใช้เงินลงทุนไปซื้อน้ำมันหรือเป็นเจ้าของสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม แหล่งน้ำมันในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงเหมือนกับหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแผนที่วางไว้นั้นจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าหลังจากที่องทุนน้ำมันใช้หนี้ 70,000 ล้านบาทหมดแล้ว

อย่างไรก็ดีแผนที่สนพ.กำหนดไว้นั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของรายละเอียดบ้าง เพราะจะมีการดำเนินการในอีก 2 ปี คาดว่าโครงการนี้จะลดการนำเข้าน้ำมันได้ 10% หรือ 1,500 ล้านลิตร โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าบ่อน้ำมันที่จะเข้าไปซื้อตั้งไว้เบื้องต้นที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นบ่อน้ำมันขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่อย่าง ESSO หรือ SHELL

โดยแนวทางการดำเนินงาน เมตตามองว่าควรจะตั้งเป็นองค์กรมหาชน มีการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจจะให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น บมจ.ปตท.สผ. เป็นผู้บริหารเงินกองทุนนี้ อีกทั้งมีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บจากผู้ใช้เบนซิน 2.50 บาทต่อลิตร ดีเซล 1.55 บาทต่อลิตร เดือนละประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองแนวทางการระดมทุนนั้นจะมีสัดส่วนจะออกมาในรูปแบบใดคงต้องรอผลการศึกษาอีกครั้งหนึ่งว่าแบบใดจะเกิดผลดีในด้านการลงทุนสูงสุด แต่เชื่อว่าสามารถระดมทุนซื้อบ่อน้ำมันได้และในด้านการบริหารจัดการ คาดว่าอาจจะต้องอาศัยมืออาชีพอย่าง บมจ. ปตท.สผ เข้ามาช่วย

โครงการพลังงานทดแทนคืบหน้ากว่าที่คาด

นอกจากนี้ทางสนพ.เตรียมเสนอแผนพลังงานของประเทศภาพรวมต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยเป้าหมายจะเน้นเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ไทยไม่ต้องรับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกครั้ง โดยไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่อ่อนแอที่สุดในโลกที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันจากต่างประทศ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 90-95 ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันแพงทุกครั้งไทยจะได้รับผลกระทบหนักสุด

โดยแผนดังกล่าวจะเน้นเรื่องให้ไทยพึ่งพาการผลิตเชื้อเพลิงภายในประเทศ เช่น การส่งเสริมให้ชาวบ้านพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการไบโอดีเซลชุมชน ซึ่งมีนโยบายจะส่งเสริมถึง 130 จุด และไบโอดีเซลมีต้นทุนอยู่ที่ 20 บาทต่อลิตร หากทำเองได้แล้วไทยจะลดการพึ่งพิงน้ำมันราคาแพงลงไป ในอนาคตทาง สนพ. ได้วางแผนให้ไทยพัฒนาไปสู่การผลิตไบโอดีเซลเพื่อการส่งออกอีกด้วย เพราะไทยถือว่าได้เปรียบกว่าประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

สำหรับมาตรการพลังงานทดแทนที่วางไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2548 เมตตากล่าวว่าในขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ และสามารถทำไบโอดีเซลในระดับชุมชนได้แล้ว 50 หมู่บ้าน ซึ่งทางกระทรงอุตสาหกรรมมีโรงงานต้นแบบที่แล้วเสร็จแล้วกว่า 5 โรงงาน ถือว่าเป็นการดำเนินงานที่เร็วกว่าที่คาดหมายไว้ ซึ่งการวางกลยุทธ์ต่อไปสำหรับพลังงานทดแทนก็คือ การวางแผนจัดระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการจัดสถานที่ปลูกด้วย

ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบการปลูกพืชพลังงานทดแทนก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนนี้โครงการปลูกพืชดังกล่าวก็คืบหน้าไปได้บางส่วน คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนภายใน 1 ปี ปัจจุบันต้องรอการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ปาล์มจากต่างประเทศก่อน

ไทยขาดเมล็ดพันธุ์ปาล์มต้องรออีก 1 ปี

พินิจ กอศรีพร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้วางพื้นที่สำหรับปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านไร่ แบ่งเป็นการปลูกปาล์มน้ำมันที่ภาคใต้ 1 ล้านไร่ ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการเตรียมหน้าดินเพื่อเตรียมพร้อมในการปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว ปลูกปาล์มน้ำมันที่ภาคตะวันออกกว่า 300,000 ไร่ รวมทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง พม่า ลาว และกัมพูชาอีก 500,000 ไร่ และยังไม่นับรวมพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยอยู่แล้วกว่า 6,200,000 ไร่

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ ไทยยังไม่มีเมล็ดปาล์มที่เพียงพอให้กับพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น คอสตาริก้า และ ปาปัวนิวกีนี ในการสั่งซื้อแต่ละครั้งต้อง สั่งซื้อเมล็ดครั้งละ มากๆ อย่างน้อยครั้งละ 1,000,000 เมล็ด โดยภาคใต้มีตัวเลขที่แน่นอนแล้วว่ามีที่ใดจะปลูกแล้ว ดังนั้นการปลูกปาล์มจึงต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ครึ่ง ในการเพาะเมล็ดพันธุ์และสามารถนำไปปลูกได้จริง อีกทั้งตอนนี้ในส่วนของการปลูกปาล์มในภาคตะวันออกจะต้องรอต่อไปซักระยะ เพื่อให้ชาวสวนเงาะที่ปลูกเงาะไม่ได้ราคาหันมาปลูกปาล์มแทน เพราะแม้ทางกระทรวงเกษตรฯจะตั้งเป้าไว้ที่ 300,000 ไร่ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของเกษตรกรว่าจะเปลี่ยนใจหันมาปลูกปาล์มหรือไม่

สำหรับการทำสัญญา Contract Farming กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว และ กัมพูชานั้น ช่วงนี้อยู่ในระยะการศึกษาพื้นที่ โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ และสภาพอากาศของพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงาน แม้พม่าจะให้พื้นที่ไทยอย่างเต็มที่กว่า 43,000,000 ไร่ แต่ทางกระทรวงเกษตรฯต้องจัดเตรียมทีมงานไปสำรวจสภาพดินและระบบการขนส่งก่อนที่จะลงทุนในระยะแรก ดังนั้นจึงคาดว่าภายในสิ้นปีนี้โครงการพลังงานทดแทนจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นจาก มันและอ้อย เพราะตอนนี้พืชทั้งสองชนิดต่างมีผู้สนใจปลูกมากขึ้น อีกทั้งราคาก็พุ่งสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จะได้ กากน้ำตาลมาใช้สำหรับผลิต เอธานอลเพิ่มขึ้นด้วยอีกทาง แต่สำหรับปาล์มน้ำมันนั้นคงต้องรอไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างเด่นชัด โดยมีโรงงานรองรับไว้พร้อมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตด้านพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขี้นอย่างเร่งด่วนขณะนี้ คือ รัฐจะแบ่งการเข้าไปช่วยเหลือเป็นภาคธุรกิจ เช่น ในภาคขนส่งจะช่วยเหลือภาคขนส่งที่ขนส่งคน คือ ช่วยเหลือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งทาง บมจ. ปตท.และ กระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือต่อไปว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบลดราคาน้ำมันให้ ส่วนภาคขนส่งสินค้าจะช่วยเหลือร่วมกันระหว่างกลุ่มโรงกลั่นและกลุ่มบริษัทค้าน้ำมันอยู่ในตลาด อาจจะใช้ในรูปของการให้บัตรส่วนลดในการเติมน้ำมันตามโควตา ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดต่อ ด้านกลุ่มอาชีพเกษตรกร และประมง บมจ.บางจาก บมจ.ปตท. และโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ จะดูแลต่อไป ส่วนกลุ่มประมงรายย่อย จะให้ส่วนลดประมาณลิตรละ 2 บาทเศษ ขณะที่เกษตรกรก็จะยังคงช่วยเหลือโดยจำหน่ายราคาน้ำมันถูกกว่าปกติลิตรละ 1 บาทเศษ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.