Ecash เงินสกุลใหม่ของโลกออนไลน์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเมืองใหญ่ หรือแม้แต่เมืองย่อยก็ตาม มากครั้งที่ต้องฝากชีวิตไว้กับพัฒนาการทางเทคโนโลยีหลายชนิดที่ไม่เคยคาดคิดว่า จำเป็นต้องใช้หรือต้องมี แต่กลับต้องมีต้องใช้อย่างยากจะฝืนทาน เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกและเวลาให้ได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตที่บางคนอาจรู้สึกว่าวันหนึ่งมีเพียงยี่สิบชั่วโมงยังน้อยไป

ภายหลังที่โครงข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ตถูกเปิดให้ใช้เพื่อเป้าหมายการพาณิชย์ได้อย่างเต็มตัว พรมแดนของการค้าในโลก online ก็ถูกขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วและเสรี ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องรีรอให้องค์การการค้าโลก (WTO) วางกฎเกณฑ์การค้าขายให้ การค้าเสรีในโลกดิจิตอลทะลุทะลวงพรมแดนภาษี และศุลกากรทุกด่านทุกชาติ แต่ยังก่อน การค้าขายบนเน็ตเวิร์คยังไม่ถึงกับทำมาค้าขึ้น เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังไม่วางใจถึงความปลอดภัยจากการซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตผ่านเน็ตเวิร์ค

ด้วยเหตุนี้ พัฒนาการของเงินจึงเปลี่ยนผ่านจากยุคเบี้ยหอยมาเป็นเหรียญและธนบัตร เช็ค คราฟต์ ตั๋วเงินผ่านยุคพลาสติกของบัตรเครดิตและเดบิตเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์แคช (electronic cash หรือ ecash)

อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีแคช ก็คือ เงินสกุลอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เหมือนกับเงินสด เช็ค หรือบัตรเครดิต ระบบอีแคช ที่หลายบริษัทออกมาในช่วงนี้อาจจะแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมตรงกันในเป้าหมายที่ต้องการให้การซื้อขายบนเน็ตเวิร์คปลอดภัยและสะดวก

สำหรับนักชอปปิ้งที่ต้องการจับจ่ายด้วยอีแคช จำเป็นต้องลงทะเบียนและเปิดบัญชีกับผู้ผลิตอีแคชก่อน

ไซเบอร์แคช ใช้เวอร์ชัวลวัลเล็ต หรือกระเป๋าเงินเสมือนจริงเพื่อส่งข้อมูลบัตรเครดิตที่ใส่รหัสไว้ส่งไปยังพ่อค้าสำหรับลูกค้าของ เฟิร์สต์ เวอร์ชวล จะใช้วิธีเรียกข้อมูลบัตรเครดิตขึ้นมา จากนั้นจะซื้อสินค้าด้วยเวอร์วลพิน (Virtual PIN)

ส่วนมาร์ค ทเวน แบงก์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ใช้ระบบอีแคชที่ชื่อว่า ดิจิแคช (DigiCash) ออกมาโดยชาวดัชท์นั้น ลูกค้าต้องมาเปิดบัญชีเช็คก่อน จากนั้นแบงก์จะออกเหรียญอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้

เมื่อเทียบการให้บริการอีแคชของทั้งสามเจ้าแล้ว ปรากฏว่า ไซเบอร์แคชได้รับความวางใจในด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก ซอฟต์แวร์เวอร์ชวลวอลเล็ตสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของไซเบอร์แคชหรือจากแผ่นดิสก์ หลังจากติดตั้งซอฟต์แวร์แล้ว ผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลการซื้อสินค้าสำหรับบัตรเครดิตหนึ่งใบหรือมากกว่าก็ได้ จากนั้นซอฟต์แวร์จะทำการต่อสายไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์หลักของไซเบอร์แคชเพื่อบันทึกประวัติและออกพาสเวิร์ดให้

ถ้าผู้ใช้ต้องการซื้อของบางอย่าง ร้านค้าจะส่งคำร้องในการซื้อสินค้าไปยังไซเบอร์แคช พอได้รับการอนุมัติจากธนาคารที่ออกบัตรเครดิตให้ผู้ใช้แล้ว ไซเบอร์แคชจะแจ้งการอนุมัติไปยังร้านค้า

จากนั้นไซเบอร์แคชจะคอยถามเพื่อเป็นเช็กความถูกต้องเป็นระยะ ๆ อาทิ ร้านค้าออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แล้ว และกรอกคำสั่งเรียบร้อยแล้ว อาจจะดูยุ่งยากสักหน่อย แต่กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หากจะมีข้อเสียของการใช้บริการไซเบอร์แคชอยู่บ้างก็ตรงที่ร้านค้าที่เข้าร่วมรายการเพียง 43 ร้านเท่านั้น

ส่วนบริการของมาร์คทเวนแบงก์นั้น ผู้ซื้อสินค้าต้องลงทะเบียนและส่งเช็คไปยังธนาคารเพื่อเปิดบัญชี World Currency Access หลังจากที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งระบบกระเป๋าเงินอีแคชได้ ทั้งยังสามารถเลือกพาสเวิร์ด เพื่อใส่รหัสและซื้อสินค้าได้หลากหลาย จากนั้นให้โอนเงินไปยังโรงกษาปณ์อีแคชที่ธนาคารหรือโอนไปยังคอมพิวเตอร์ของคุณเอง

จะว่าไปแล้ว ระบบใช้เฉพาะเงินสดของมาร์ค ทเวนก็สะดวกดี โดยเฉพาะถ้าต้องซื้อของราคาต่ำ ๆ หรือถ้าคุณไม่มีบัตรเครดิต การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์กระเป๋าเงินก็ทำได้ง่าย ๆ ส่วนข้อเสียของเจ้านี่ก็คล้ายกับไซเบอร์แคชตรงที่มีร้านค้าร่วมรายการน้อยราย และอาจจะใช้ไม่ได้กับระบบดิจิตอลแคชของธนาคารรายอื่น

เทียบกับเฟิร์สเวอร์ชวลแล้ว บริการอีแคชของรายนี้มีร้านค้าร่วมด้วยถึง 1400 ร้าน แต่ข้อเสียของระบบเวอร์ชวลพินอยู่ตรงกระบวนการที่ค่อนข้างรุ่มร่าม แถมร้านค้าส่วนใหญ่เน้นขายข้อมูลเสียมากกว่า ซ้ำไม่มีสินค้าดี ๆ ให้เลือก

ระบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตของเวอร์ชวลพินถูกออกแบบมาเพื่อช่วยร้านค้าเล็ก ๆ บรรยายสรรพคุณสินค้า ส่วนวิธีซื้อขายสินค้าจะกระทำผ่านอีเมล์ ถึงกระนั้นระบบไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้อยากควักกระเป๋าเลย

ความยุ่งยากเริ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มกรอกแบบฟอร์มการขอใช้ออนไลน์จากเว็บไซต์ของเฟิร์สต์ เวอร์ชวล ตามมาด้วยการยื่นผ่านอีเมล์ ถึงจะได้รับรหัสการลงทะเบียน และได้รับคำแนะนำให้โทรศัพท์ฟรีไปยังหมายเลขที่ให้ไว้เพื่อทำการเปิดบัญชี ทำเอาเสียเวลาไปหลายชั่วโมงกว่าจะได้เวอร์ชวลพินมาใช้

หากถามว่าแล้วการซื้อสินค้าด้วยอีแคชมันปลอดภัยแค่ไหน ส่วนใหญ่แล้วถือว่าปลอดภัยทีเดียว บริษัทที่ให้บริการอีแคชบางรายถึงกับใช้ระบบการใส่รหัสเป็นจุดแข็งของบริษัท เพื่อป้องกันข้อมูลทางการเงินไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนฉ้อฉล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.