|
'จีน' กับการขาดดุลวัฒนธรรม
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ในยุคนี้ไม่ว่าใคร ประเทศไหนก็มิอาจปฏิเสธความร้อนแรง และพลานุภาพทางเศรษฐกิจของจีนได้ สถิติล่าสุดระบุว่าประเทศจีนกระโดดจากประเทศธรรมดาๆ เมื่อไม่กี่ปีก่อน ก้าวขึ้นมากลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี แล้ว
ปี 2548 ที่ผ่านมา ตัวเลขการได้ดุลการค้าของจีนเท่ากับ 101,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (โดยส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ก็มาจากการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาลถึง 201,700 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นตัวบ่งชี้ได้ดีถึงการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจการค้าของโลกได้อย่างมหัศจรรย์ของจีน
นอกจากนี้ในปัจจุบันอาจถือได้ว่าไม่มีมุมไหนของโลกที่ไม่มีสินค้าตีตรา Made in China วางขาย เพราะมีสถิติบ่งบอกว่าทุกวันนี้ตู้เย็นร้อยละ 20 เครื่องซักผ้าร้อยละ 30 ถุงเท้าร้อยละ 40 รถจักรยานยนต์ร้อยละ 50 โทรทัศน์สีร้อยละ 55 ยาเพนนิซิลินร้อยละ 60 อุปกรณ์กีฬาร้อยละ 65 นาฬิการ้อยละ 75 รถแทรกเตอร์ร้อยละ 80 และกระดุมร้อยละ 95 ที่ชาวโลกใช้กันอยู่ทุกวันนี้ต่างก็ผลิตจากประเทศจีนนี้ทั้งสิ้น
แน่นอนว่าชาวจีนส่วนใหญ่ย่อมยินดีกับความเข้มแข็งของภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อันนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ความอยู่ดีกินดีของชีวิตโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามพวกเขาว่า พอใจหรือไม่กับสถานะของประเทศในการเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและโรงงานขนาดมหึมาของโลก? คำตอบก็คือ
"ยังไม่พอใจ!"
ที่ยังไม่พอใจ เพราะชาวจีนเองก็มองเห็นในจุดอ่อนที่ว่า ปัจจุบันประเทศตนเป็นเพียงแค่โรงงานประกอบสินค้าให้กับโลกเท่านั้น จีนไม่มีสถานะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลก และยังไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมหลักที่มีพลานุภาพในการกำหนดกระแสของโลกได้
ช่วงเกือบปีมานี้ ชาวจีนติดใจและปวดใจกับการเปรียบเปรยของป๋อซีไหล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประโยคหนึ่งที่กล่าวต่อหน้านักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ครั้งเมื่อถูกตั้งข้อหาว่าจีนทุ่มตลาดสิ่งทอ จนทำให้สหภาพยุโรปต้องตอบโต้ด้วยการลดโควตาสิ่งทอที่ผลิตจากจีน
ครั้งนั้นป๋อซีไหลโต้ตอบกับนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสว่า "กว่าจีนจะซื้อเครื่องบินโดยสารอย่างแอร์บัส A380 ได้สักลำหนึ่ง ก็ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานของลูกหลานชาวจีนในการผลิตเสื้อเชิ้ตกว่า 800 ล้านตัว..."
นอกจากนี้ในปี 2548 เหล่าปัญญาชนชาวจีนที่แต่เดิมก็รู้สึกหวั่นไหวอยู่แล้วต่อการไหลบ่าเข้ามาของภาพยนตร์ฮอลลีวูด หลังจากการที่รัฐบาลจีนขยายโควตาอนุญาตให้ภาพยนตร์จากตะวันตกสามารถเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์จีนได้มากขึ้น ก็ต้องรู้สึกตะลึงพรึงเพริดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อละครโทรทัศน์ "แดจังกึม" จากเกาหลีใต้ ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย และก่อกระแสความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมเกาหลีขึ้นมาในประเทศเกาหลีใต้ ที่ชาวจีนจำนวนไม่น้อยต่างก็รู้สึกมาตลอดว่าเป็น "วัฒนธรรมลูก" ของจีน
ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ปัญญาชนบางส่วนกล่าวเตือนสติคนในชาติว่า แม้ทุกวันนี้ จีนได้ดุลการค้าอย่างมหาศาล แต่ดุลวัฒนธรรมก็ติดตัวแดงอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน และชาวจีนยังไม่ควรจะดีใจกับคำว่า Made in China แต่ควรจะให้ความสำคัญกับคำว่า Made by Chinese Culture มากกว่านี้
ปัญญาชนจีนบางส่วนใช้คำศัพท์เปรียบเทียบสถานะประเทศของตัวเองในปัจจุบันว่า เต็มไปด้วยฮาร์ดแวร์ แต่ไร้ซอฟต์แวร์ สำหรับฮาร์ดแวร์ ในที่นี้นั้นก็ไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทุน แรงงาน ส่วนซอฟต์แวร์ในที่นี้นั้น ชาวจีนเขารวบยอดเอาไว้ว่าคือ ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม
ชาวจีนที่มีวัฒนธรรมยาวนานกว่า 5,000 ปี เหตุใดจึงกล่าวว่า ตัวเองขาดความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม?
นอกจากเหตุผลอย่างกว้างๆ ที่กล่าวไปแล้วว่า ทุกวันนี้สินค้าที่จีนผลิต-บริโภคจีนไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น ไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ และไม่มีพลังในการกำหนดกระแสวัฒนธรรมของโลกดังเช่นที่ประเทศมหาอำนาจ ประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วไปควรจะเป็นแล้ว ยังมีตัวอย่างเล็กๆ แต่สามารถยืนยันได้ถึงสถานะที่ยังอ่อนแอของวัฒนธรรมจีนในเวทีระดับโลกได้อย่างดี
ในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน ปี 2549 ครั้งล่าสุดนี้ เจ้าฉี่เจิ้ง สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองได้ตั้งกระทู้ ยกปัญหาเกี่ยวกับสภาวะการ "ขาดดุลหนังสือ" ของประเทศจีนขึ้นมาในที่ประชุม
โดยเจ้าฉี่เจิ้งระบุว่า ปัจจุบันดุลการนำเข้า-ส่งออกหนังสือของจีนโดยเฉลี่ยนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 10 ต่อ 1 หรือหมายความว่า ขณะที่จีนนำเข้าลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศมาตีพิมพ์ 10 เล่ม หนังสือจีนเองกลับส่งออกลิขสิทธิ์หนังสือจีนไปตีพิมพ์ยังต่างประเทศได้เพียง 1 เล่มเท่านั้น โดยสัดส่วนนี้จะยิ่งถ่างกว้างขึ้นไปเป็น 100 ต่อ 1 หากพิจารณาแต่ในส่วนของดุลการค้าหนังสือระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ข้อมูลจากนิตยสาร New Weekly ฉบับที่ 224)
นอกจากนี้สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ยังแจกแจงรายละเอียดอีกด้วยว่า ในปี 2547 ประเทศจีนนำเข้าลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศรวม 10,040 รายการ ขณะที่ส่งออกเพียง 1,314 รายการ โดยในจำนวนนี้ 3 ประเทศคู่ค้าหนังสือสำคัญที่สุดของจีนก็คือ อันดับหนึ่ง สหรัฐฯ นำเข้าจำนวน 4,068 รายการ ส่งออก 14 รายการ อันดับสองอังกฤษ นำเข้า 2,030 รายการ ส่งออก 16 รายการ อันดับสาม ญี่ปุ่น นำเข้า 694 รายการ ส่งออก 22 รายการ ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของหนังสือจีนและคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ก็คือ ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่เมื่อพิจารณาตามประเภทของหนังสือนำเข้า-ส่งออกแล้ว หนังสือที่จีนนำเข้า โดยมากนั้นเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ ไอที การบริหารธุรกิจ มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ วรรณกรรม เป็นต้น ขณะที่หนังสือที่จีนส่งออกนั้นเป็นหนังสือการแพทย์แผนจีน กังฟู วรรณคดีจีน วัฒนธรรมจีน และหนังสือเรียน ภาษาจีน เป็นต้น
คนในแวดวงหนังสือจีนกล่าวว่า นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน-วัฒนธรรมจีน-ภาษาจีน แล้ว หนังสือจีนส่งออกที่เหลือและพอจะได้รับการกล่าวขานจากโลกตะวันตกบ้างอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่อง Shanghai Baby หรือ Beijing Doll นั้น โดยลึกๆ แล้วความนิยมของชาวตะวันตกที่มีต่อวรรณกรรมเหล่านี้กลับมีสาเหตุหลักมาจากความสนเท่ห์ของชาวตะวันตกที่มีต่อสังคมจีนและผู้หญิงจีนรุ่นใหม่ มากกว่าความสนใจอย่างแท้จริงต่อวัฒนธรรมของจีนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดุลการค้าหนังสือ แม้จะเป็นเพียงดัชนีชี้วัดตัวเล็กๆ ถึงความอ่อนแอทางวัฒนธรรมจีน (ในความหมายของประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก) แต่ก็ใช่ว่าคนจีนไม่คิดจะลงมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ทางการจีนก็เริ่มดำเนินนโยบายเผยแพร่หนังสือจีนให้ออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติ ซึ่งวิธีหนึ่งในทางปฏิบัติของรัฐบาลจีน ก็คือ การส่งเสริมเงินทุนในการแปลหนังสือจีนดีๆ ให้เป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ในปีนี้ (2549) มีรายงานระบุว่า รัฐบาลจีนจะให้เงินสนับสนุนในการแปล ตีพิมพ์และเผยแพร่หนังสือจีนอย่างน้อย 10 ล้านหยวน
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องหนังสือและการปลุกกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับคนในชาติแล้ว ในภาพรวม รัฐบาลจีนภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานการศึกษาภาษาจีนกลาง ยังได้ส่งเสริมให้มีการตั้ง "สถาบันขงจื๊อ" ขึ้นทั่วโลก โดยหวังว่าสถาบันขงจื๊อจะเป็นหัวหอกในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนในภาพรวม ไม่เฉพาะแต่เพียงภาษาจีนที่ในขั้นต้นถือว่าเป็นแรงดึงดูดหลักเท่านั้น
จากเป้าหมายตั้งต้น 100 สถาบันของรัฐบาลจีน ล่าสุดได้มีสถาบันขงจื๊อเกิดขึ้น แล้วทั่วโลกรวม 40 กว่าแห่ง (รวมถึงประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) โดยส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในจีนกับสถาบันการศึกษาในประเทศนั้นๆ
สำหรับเราชาวไทย นอกจากควรจะจับตามองว่ากระบวนการทวนกระแสอัสดงคตานุวัตร (Westernization) เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลวัฒนธรรมครั้งนี้ของจีนจะเป็นอย่างไรต่อไปแล้ว ก็น่าจะใช้การดำเนินการครั้งนี้ของจีนเป็นกระจก เพื่อส่องมองตัวเองว่าการวาดฝันในการเป็นเมืองหนังสือโลก ศูนย์กลางแฟชั่นแห่งเอเชีย ดีทรอยต์แห่งเอเชีย และอีกหลายๆ ฝันของเรานั้น ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|