|
anywhere anytime
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สภาพสังคมทุกวันนี้ การดูแลตัวเองสำหรับบางคนอาจดูเป็นเรื่องยาก เพราะงานที่เร่งรัดจนไม่รู้ว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือเข้าฟิตเนส แต่สำหรับคนที่ต้องทำงานหนักเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน วิธีรักษาสุขภาพแบบผสมผสานของศิริยุพา รุ่งเริงสุข อาจช่วยได้
ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ปัจจุบันอายุ 45 ปี แต่ครั้งล่าสุดที่เธอไปตรวจสุขภาพ หมอผู้ตรวจชื่นชมสภาพความยืดหยุ่นของร่างกายเธอว่าเหมือนคนอายุ 30
เธอเป็นคนทำงานหนัก นอกจากงานประจำที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาหลักสูตร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังมีตำแหน่งวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทำงานวิจัย และเป็นผู้สอนในหลักสูตรพฤติกรรมองค์กร การจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง
"ทุกวันนี้ ทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน" เธอบอก
เฉพาะงานสอน และการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่งานที่ต้องนั่งโต๊ะอยู่กับที่ เธอจึงเหมือน กับคนทำงานอื่นๆ อีกหลายคน ที่ไม่สามารถ กำหนดช่วงเวลาของตนเองได้ว่าใน 1 สัปดาห์ จะต้องใช้เวลากี่วัน หรือใน 1 วัน ต้องใช้เวลา กี่นาที เพื่อเข้าฟิตเนส หรือออกกำลังกาย
ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเป็นอย่างยิ่ง
"เราเป็นคนรักตัวเอง ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะใครก็ตามที่ไม่รักตัวเอง แสดงว่าเขาเป็นคนที่ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น"
anywhere anytime คือหลักคิดในการดูแลสุขภาพตนเองของศิริยุพา
เป็นการผสมผสานรูปแบบการดูแลรักษาสุขภาพ โดยดึงจุดเด่นของภูมิปัญญาทั้งจากทางตะวันตก และตะวันออก มาปรับเข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน ภูมิปัญญาที่ว่า มีทั้ง วิถีของจี้กง โยคะ การทำสมาธิ รวมถึงหลักการออกกำลังกายแบบตะวันตก และท่าบริหาร ต่างๆ ตามหลักของการทำกายภาพบำบัด
ที่สำคัญ ในการบริหารร่างกายในแต่ละครั้ง เธอไม่ติดยึดกับช่วงเวลาหรือสถานที่
หากบางคนที่สังเกตวิธีการของเธออย่างผิวเผิน อาจมองว่าค่อนข้างมั่ว แต่หากได้ศึกษาลงไปอย่างจริงจังแล้ว ในแต่ละครั้งที่ศิริยุพาเจียดเวลามาดูแลร่างกายของตนเองนั้น เป็น การทำการบริหารอย่างเป็นระบบ และเข้าถึงแก่นในศาสตร์ของแต่ละแขนงวิชาอย่างลึกซึ้ง
"ทุกวันนี้ทำงานมาก วันเสาร์ก็เขียนงานวิจัย เพราะฉะนั้นเราจะมาจัดเวลาว่าทุก 4 วัน ต้องทำอะไรนี่ไม่ไหว เลยต้องใช้หลัก anywhere anytime คือใช้เวลาทุกอย่างให้มีคุณค่า ว่างก็ทำอันนั้นนิด อันนี้หน่อย หรือนึกขึ้นได้ก็ทำ โดยไม่จำเป็นจำต้องใส่ชุดออกกำลังกาย ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเข้าสปาให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ขอให้ทำทุกวัน และเมื่อรวมกันแล้วมันได้ ในแต่ละวันเราสามารถใช้เวลาในการบริหารร่างกายได้ 30-40 นาที"
ทุกเช้า ทันทีที่ลืมตาขึ้นบนเตียง ศิริยุพาจะเริ่มจากการนวดตัวเอง จากการศึกษาด้วยตัวเอง ทำให้เธอรู้จักจุดในร่างกายแต่ละจุดที่มีผลต่ออวัยวะสำคัญ หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นบริหาร ด้วยการนอนยกขา ตามหลักโยคะ และอีกบางท่าตามหลักการทำกายภาพบำบัด ก่อนจะจบด้วยการนอนทำสมาธิเพื่อกำหนดลมหายใจเข้าออก
แต่หากวันไหนที่มีนัดแต่เช้า ต้องเร่งรีบทำให้ไม่มีเวลา ตื่นขึ้นมาเธอจะยืนย่อขาตามหลักจี้กง ประมาณ 5-7 นาที เพื่อเลือดในตัวไหลเวียนได้อย่างสะดวก
เครื่องดื่มที่เธอต้องดื่มทุกเช้าหลังการบริหารร่างกาย คือน้ำขิงเพื่อกระตุ้นเลือดลมและขับเหงื่อ ซึ่งก็คือการล้างพิษต่างๆ ที่สะสมอยู่ในร่างกายจากการรับประทานเข้าไปในวันก่อนหน้า
ระหว่างวัน ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ไม่ว่าจะ 10 นาที 5 นาที หรือแม้เพียงแค่ 2 นาที เธอเป็นต้องหาโอกาสทำอะไรสักอย่างที่เป็นผลดีต่อร่างกาย เช่นหากต้องนั่งรถเพื่อไปบรรยายนอกสถานที่ เธอก็จะพยายามนั่งเกร็งหน้าท้อง หรือแขม่วท้อง เพื่อบังคับให้เลือดลมในร่างกาย ไหลเวียนได้สะดวก และยังเป็นการสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง
หรือหากต้องเดินทางไปต่างประเทศระหว่างอยู่บนเครื่องบิน เธอก็สามารถนั่งทำสมาธิ เพื่อให้จิตนิ่ง มีสติ
แต่หากต้องทำงานประเภทนั่งโต๊ะในห้องทำงานเป็นเวลานาน เธอก็จะมีท่าออกกำลังกายของตนเอง ที่จะทำให้หลังตรง และผิวพรรณดี หรือบางครั้งเธอก็จะพักการทำงานสัก 5-10 นาที ลุกขึ้นยืนย่อขา หรือยกแขนในท่าแบกอากาศ ซึ่งเป็นท่าบริหารตามหลักจี้กง หรือยืนยกมือประกบกันแนบติดกับแผ่นหลังตามหลักโยคะ หรือแม้แต่การก้มตัวลงกับโต๊ะทำงานแล้วเตะขาไปข้างหลัง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อสะโพกตามหลักบริหารร่างกายสมัยใหม่
ใต้โต๊ะทำงานของเธอ จะมีผ้าพลาสติกพับไว้ ผ้านี้จะถูกใช้เวลาที่มีงานเอกสาร หรือต้องอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาซับซ้อนมากๆ เธอจะนำผ้าดังกล่าว ปูกับพื้นหลังโต๊ะทำงาน และเว้นวรรคงานเพื่อนั่งสมาธิ สักระยะหนึ่ง ก่อนจะลุกขึ้นมาทำงานต่อ
แต่ถ้าเป็นช่วงที่ว่างจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะเป็นที่บ้าน เธอจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง บริหารร่างกาย โดยใช้ท่าบริหารตามหลักการต่างๆ ที่เธอศึกษามา และนำมาผสมผสาน กำหนดเป็นสูตรเฉพาะของตัวเธอเอง และการนั่งทำสมาธิ
ในวัย 45 ปี ศิริยุพาจัดว่าเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคของรอยต่อ ทันที่จะเห็นการใช้ชีวิตคนเมืองตามวิถีไทยดั้งเดิมที่ยังเป็นมิตรกับธรรมชาติกับวิถีชีวิตยุคใหม่ในโลก ที่ค่อยๆ พัฒนามาสู่ยุคดิจิตอล
พื้นฐานครอบครัวของเธออบอุ่น พ่อเป็นนายทหาร แม่ทำงานธนาคาร เธอเรียนจบชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์ และมัธยมปลายจากเตรียมอุดม ศึกษา เอ็นทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ และญาณี จงวิสุทธิ์
จากจุฬาฯ เธอบินไปเรียนต่อระดับปริญญาโท และเอก สาขาการบริหารรัฐกิจ จาก University of Southern California สหรัฐอเมริกา โดยได้รับรางวัลการศึกษายอดเยี่ยมในระดับปริญญาเอก
ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ที่ศศินทร์ เธอเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป Kendex Corporation, California ในอเมริกา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัทอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย
"คุณแม่เป็นคนที่สนใจเรื่องสมุนไพร ปลูกผักกางมุ้งอยู่ในบ้าน ส่วนคุณยายเรียนทางหมอจีน คุณยายจะรู้เรื่องเกี่ยวกับโสม จึงได้รับความรู้เรื่องเกี่ยวกับพืชผักสมุนไพรมาตั้งแต่เด็ก รู้ว่ากินขิงแล้วจะร้อน ที่บ้านจึงไม่ค่อยได้ใช้ยาแผนปัจจุบัน เช่น ถ้าเป็นไข้ปวดศีรษะจะกินขิง หรือจิบเหล้าให้เหงื่อออก"
เธอเริ่มใส่ใจสุขภาพตัวเองตั้งแต่เริ่มวัยสาว ด้วยจุดเริ่มต้นเหมือนกับคนที่เพิ่งแตกวัยสาวอื่นๆ อีกหลายคน คือแสวงหาวิถีทางที่จะทำให้รูปร่างของตนเองดูดีในสายตาผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากการออกกำลังกายตามหลักวิธีการของทางตะวันตก
"ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจหลักทางตะวันออก เคยเห็นคนรำไท้เก๊กที่สวนลุมฯ ยังขำๆ คือ ตอนนั้นยอมรับว่ายังไม่เข้าใจศาสตร์อันลึกซึ้ง ตื้นเขินมาก แล้วเราก็ทำแบบฝรั่งอย่างเดียว ทำเอ็กเซอร์ไซส์ แล้วในที่สุดก็มานั่งดูว่าทำไมเรายังมีปัญหาทางจิตใจ เราเครียด การเต้นมันก็พอช่วยได้ แต่ว่าไม่เข้าท่า ก็เลยไปเรียนทำสมาธิ"
เธอขึ้นไปเรียนนั่งสมาธิกับพระที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลาเรียน 1 เดือนเต็ม การฝึกทำสมาธิสอนแง่คิดหลายอย่างในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการขัดเกลาจิตใจให้มีสติ มีขันติ ความอดทน การต้องต่อสู้กับอารมณ์ ซึ่งเธอได้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
"ตอนแรกที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิ เราก็เข้าใจว่าสมาธิคือสมาธิ ออกกำลังก็คือออกกำลัง พออายุสัก 30 เราก็เริ่มรู้แล้วว่าจิตเรานี่ คือสิ่งที่ดึงทุกอย่างได้ อย่างเราหายใจ แล้วเรานึกไปด้วยว่าเราหายใจเข้า-ออก มันจะโล่งลงไปถึงท้อง แล้วถ้าเราคุมมันได้ เราจะทำอะไรสักอย่าง เราจะมีพลัง เสียงเรามีพลัง สายตาเรามีพลัง โดยที่เราไม่ต้องไปทำตาขมึงทึง แล้วเราจะรู้สึกได้ว่าผิวพรรณมันจะขึ้นมาทันที แต่ช่วงไหนถ้าจิตใจเราไม่ดี ผิวมันก็จะแสดงออก คนเรานี่ถ้าเราดูสายตา เราจะรู้ได้เลยว่ามันเคลียร์หรือไม่"
หลังจากได้เริ่มฝึกทำสมาธิในระดับหนึ่ง ศิริยุพาเริ่มสนใจศาสตร์แขนงอื่นๆ ที่จะมีผลดีต่อสุขภาพ เริ่มจากโยคะ จี้กง ไปจนถึงหลักการทำวารีบำบัด โดยศึกษาทั้งจากการซื้อตำรามาอ่านด้วยตัวเอง และไปเข้ารับการอบรม
"ตอนหลังนี่จะเริ่มเป็นซิสเต็มแล้ว เพราะว่าสังคมเขาให้ความสนใจเรื่องพวกนี้มากก็จะมีตำราให้เราอ่าน คราวนี้ก็เลยอ่านหมดเลย ทั้งวารีบำบัด จะเปิดน้ำร้อน น้ำเย็นกี่นาที แล้วก็เริ่มกลับมาดูสมุนไพร ก็เข้าตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย จนผสมผสานคิดเป็นสูตรของเราเอง"
สูตรที่เธอว่า ได้รับการพัฒนาตามสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการทำงานของเธอ จนกลายเป็นหลักคิด anywhere anytime
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|