เลโนโว กลยุทธ์สุดเจ๋งสลายแบรนด์ IBM ออกจากตลาด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเลโนโว บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์จากจีน เข้าไปซื้อกิจการแผนกเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีมาจาก “ไอบีเอ็ม” บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทจากเอเชียอย่าง เลโนโว ก็มีความคืบหน้าทางการตลาดในวงกว้างขวางมากขึ้นมาตามลำดับ ในการดำเนินแผนงานและกิจกรรมทางการตลาดหลากหลายประการ เพื่อพยายามนำเอาแบรนด์ของตนเองเข้าไปเสียบแทรกอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดในสหรัฐฯ ทดแทนตลาดที่เคยเป็นฐานของแบรนด์ไอบีเอ็ม เจ้าของตลาดเดิมมาก่อน

สำหรับนักการตลาดแล้วความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้นทางการตลาดของเลโนโว ถือว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว และออกจะเกินกว่าการคาดหมายของตลาดด้วยซ้ำ จนในวันนี้ “เลโนโว” ได้กลายเป็นแบรนด์ติดหูและชินปากของชาวอเมริกันไปอีกรายหนึ่งไปแล้ว

ปัจจุบันเลโนโวอยุ่ในตำแหน่งทางการตลาดที่ถือว่าใหญ่มาก เพราะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก และยังคงครองกิจการอันดับหนึ่งของจีนในด้านคอมพิวเตอร์อีกด้วย

ที่ผ่านมา เลโนโวพยายามอิงฐานโมเดลของบริษัทไอบีเอ็มในการรุกตลาด โดยเฉพาะตลาดเป้าหมายหลักคือ ตลาดสหรัฐฯ ดังนั้น ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา นักการตลาดจึงได้เห็นกลยุทธ์ของเลโนโว ที่เน้นจำหน่ายสินค้าโมเดล ThinkPad แก่ผู้ใช้ภาคธุรกิจหรือกิจการห้างร้านที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการค้าขายทำรายได้ที่จดทะเบียนเป็นสัญชาติในสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า SMB เซกเตอร์ นั่นเอง

ส่วนตลาดระดับครัวเรือนหรือการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อใช้สอยส่วนบุคคลนั้น เลโนโวยังใช้การจำหน่ายผ่านทางช่องทางที่เป็นเทเลโมบายหรือเทเลโฟนและบนตลาดออนไลน์ทางเว็บไซต์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่เลโนโวคงไม่กล้าหาญที่จะหันไปทำการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านทางตลาดตัวแทนขายโดยตรงเอง ในแบบเดียวกับที่กิจการของคู่แข่งใช้กันอยู่ หากเลโนโวไม่มั่นใจและยังไม่พร้อมทีเดียว แต่นักการตลาดบางคนทำนายว่าเลโนโว คงอดรนทนไม่ได้ และคงพยายามที่จะทำให้กิจการเลโนโวมีพร้อมโดยเร็ว ถึงแม้ว่าคงต้องรอเป็นปีทีเดียวกว่าเลโนโวจะลงมือทำการตลาดระดับครัวเรือนจริงๆ

สิ่งที่น่าสนใจในวันนี้สำหรับเลโนโวคือ การเติบโตทางการจำหน่ายและการขยายตลาดที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีใหญ่ๆ ของโลก ในไตรมาสแรกของปีนี้ นับจากที่เลโนโวซื้อกิจการคอมพิวเตอร์พีซีมาจากไอบีเอ็ม เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เป็นเงินค่าซื้อกว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์

มีการคาดว่าส่วนแบ่งตลาดโลกขณะนี้ของเลโนโว น่าจะอยู่ในราว 6.4% เทียบกับเจ้าครองตลาดอย่างบริษัทเดลล์ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 18.1% และเอชพี ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 16.4% สำหรับในตลาดสหรัฐฯ นั้น โดยมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจ คือ ประการแรก เลโนโวกำลังถากถางเส้นทางเพื่อจะก้าวขึ้นไปเป็นแบรนด์ที่ยอมรับในระดับครัวเรือน เช่นเดียวกับที่เดลล์ เอชพี และ แอปเปิล

ประการที่สอง เลโนโวยังคงมอบความไว้วางใจไอบีเอ็มพัฒนาแบรนด์ในกลุ่มโมเดล ThinkPad สำหรับลูกค้าภาคธุรกิจรายใหญ่ต่อไป และทำการพัฒนาสินค้าในแบรนด์เลโนโวด้วยตนเองเท่านั้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ในตลาดระดับโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้อย่างมั่นคง

ปัจจัยทางลบที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาแบรนด์เลโนโวในระดับโลก มีอยู่หลายประเด็น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นกิจการต่างชาติจากเอเชีย ยิ่งเป็นบริษัทของจีน มีรัฐบาลจีนเข้ามาเกี่ยวข้องในระดับที่ไม่ชัดเจน ที่อหังการเข้าไปซื้อกิจการของไอบีเอ็มแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ใช้ที่เป็นกิจการธุรกิจในต่างประเทศไม่ไว้วางใจว่าจะยังทำให้ฐานข้อมูลทางธุรกิจของสหรัฐฯ ได้รับความปลอดภัยอยู่หรือไม่ แม้ว่า ผู้บริหารจะยอมให้มีการตรวจสอบกระบวนการและระบบงานของกิจการ เพื่อให้ผู้ที่จะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปใช้งานเกิดความสบายใจว่า ผู้ใช้จะได้รับความปลอดภัยและความคุ้มครองในระดับที่เพียงพอ และยังพยายามยืนยันว่ารัฐบาลจีนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานประจำวันแต่ประการใด

อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทางการตลาดของเลโนโวในสหรัฐฯ กลับไม่มีปรากฏให้เห็นในตลาดย่านตะวันออกกลาง ที่นำสายผลิตภัณฑ์ซีรีส์ เลโนโว 3000 เป็นสินค้าในระดับครัวเรือนออกจำหน่าย ที่ได้การต้อนรับ และเปิดใจจะรับแบรนด์ใหม่จากเอเชียไว้พิจารณาโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะไม่มีรอยแผลในใจอย่างที่สหรัฐฯ เคยมีกับกิจการจากจีน

ดูเหมือนว่าการดำเนินงานการตลาด ท่ามกลางกระแสของการเมืองและความหวาดระแวงระหว่างประเทศแบบนี้ ไม่ค่อยจะดีเท่าใดนักสำหรับกิจการหน้าใหม่ในวงการคอมพิวเตอร์โลกอย่างเลโนโวเอาเสียเลย นั่นหมายความว่า เลโนโวคงต้องหาทางซื้อใจของชาวอเมริกันให้ได้ก่อนที่จะทำให้การค้าเชิงพาณิชย์ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.