กาแฟเดินทัพเข้าครัวสร้างสีสันใหม่ทั้งดื่มทั้งกิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่ารสนิยมการดื่มกาแฟจากลูกค้าคอกาแฟทั่วโลกจะไม่ได้มีท่าทีว่าจะลดลงไป แต่การเพิ่มอัตราการเติบโตของการดื่มกาแฟเป็นไปได้ยาก หนทางขยายตลาดการบริโภคกาแฟจึงไม่แตกต่างจากสินค้าอย่างอื่น คือ ไม่เน้นหนักการเพิ่มแต่เพียงด้านปริมาณการดื่มต่อคนหรือเพิ่มปริมาณจำนวนคนที่ดื่มอย่างเดียว หากยังต้องหาทางสร้างนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ แตกต่างออกไปจากวิถีทางของการบริโภคกาแฟแบบเดิม ในฐานะของผลิตภัณฑ์ในตลาดเครื่องดื่ม

กาแฟเป็นตัวชูโรงนำลิ่วในด้านความนิยมของตลาดที่หาเครื่องดื่มทาบรัศมีได้ยาก การพัฒนาตลาดกาแฟก็คือ ทำให้กาแฟเป็นอาหารจานยอดนิยมสูงสุดในครัวเรือนเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกาแฟในแนวใหม่ คือ การแนะนำกาแฟในฐานะของส่วนผสมที่ลืมไม่ได้ในสินค้าอาหารประจำวันมากมายหลายสิบๆ อย่างแล้ว เริ่มจากอาหารหวานพื้นฐาน อย่างเช่นคุกกี้ เค้ก พาสต้า ขนมหวานต่างๆ ที่มีรสชาติของกาแฟบนโต๊ะอาหาร ไอศกรีม คาสตาร์ด

ถัดจากนั้น ก็คือ การประยุกต์ใส่กาแฟในอาหารประเภทอื่นๆ ที่สามารถกลมกลืนเข้าไปให้กลิ่นกรุ่นของกาแฟหอมหวนไปทั้งครัวได้ โดยใช้จุดขายที่ว่าการเพิ่มรสชาติของกาแฟในอาหารนั้น ทำให้ชีวิตมีความคึกคัก มั่นคง แข็งแกร่ง และหนักแน่นลึกซึ้งมากขึ้น

ประเด็นหลักของการพัฒนากาแฟจากการเป็นเครื่องดื่มมาเป็นส่วนประสมในอาหารก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับกาแฟในลักษณะของเครื่องดื่มเหลวๆ ร้อนๆ หรือ ใส่น้ำแข็งเย็นๆ รูปแบบแรกของกาแฟสำหรับอาหาร คือ กาแฟคั่วบดนั่นเอง แต่ในฐานะของส่วนประสมในอาหาร เราต้องนึกถึงกาแฟในลักษณะของถั่ว เมล็ดธัญพืชที่หน้าตาคล้ายกับผลไม้อย่างเชอร์รี่ เมื่อเก็บเกี่ยวมาจากต้นกาแฟแล้ว ก็จะถูกนำไปทำความสะอาด อบจนแห้ง นำไปคั่ว และทำให้เป็นส่วนผสมคล้ายคาราเมล ที่จะผสมในอาหารได้หลากหลายชนิด เพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้นขึ้น และให้ความสดชื่นตื่นตัวมากขึ้น

รูปแบบที่สอง คือ กาแฟที่เป็นน้ำ เพราะนอกเหนือจากกาแฟคั่วบดที่จะเข้าไปผสมในอาหารแล้ว กาแฟที่เป็นน้ำก็ยังนำไปพัฒนาประยุกต์ใส่ในอาหารได้ไม่ยาก เพียงแต่เพิ่มเติมเข้าไป เหมือนอย่างในญี่ปุ่นที่มีขาวใส่ชาในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าไปมีบทบาทในอาหารแทนที่น้ำเปล่า เพื่อเพิ่มรสชาติที่ติดปากของชาให้การทานข้าวหน้ากับต่างๆ มีความอร่อย ได้มีทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น

รูปแบบที่สาม คือ กาแฟที่เข้าไปแทนที่น้ำผลไม้ นม หรือน้ำกะทิ ที่เคยใส่ในอาหาร โดยเฉพาะกาแฟร้อนสามารถทดแทนนมร้อนหรือครีมได้ทันที ที่น่าสนใจคือ นักการตลาดกาแฟยุคใหม่ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการนำเอากาแฟมาใช้ประโยชน์ในแนวใหม่ ในฐานะของส่วนผสมอาหาร โดยพยายามใช้คำว่า กาแฟสามารถให้การบำบัดแบบ “อะโรเมติก” ที่สร้างความมีชีวิตชีวา และความอยากอาหารได้ไม่แพ้ส่วนผสมของเครื่องหอมที่จัดไว้ในกลุ่มของ “อะโนเมติก” โดยตรง

ประการแรก ในการใช้บำบัดแบบอะโรเมติกกาแฟไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อทำให้ได้บรรยากาศในระหว่างการสูดดมอย่างเดียว หากแต่ยังสามารถดื่ม และบริโภคทำให้อิ่มและหายอยากได้พร้อมกับส่วนผสมอย่างอื่นที่เป็นอาหารด้วย

ประการที่สอง รสชาติแบบอะโรเมติกนี้ ไม่ได้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ใช้ในการปรุงอาการเท่านั้น หากแต่ต้องยอมรับกันว่า ในบรรดาเครื่องดื่มทั้งหลาย ไม่มีเครื่องดื่มประเภทใดที่ให้กลิ่นหอมอบอวลรุนแรงและเรียกน้ำย่อยในกระเพาะได้ดีเท่ากับกาแฟ และยังหอมไกลออกไปหลายลี้ ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาที่ได้กลิ่นพลอยอยากจะดื่มไปด้วย

ประการที่สาม ไม่ใช่กาแฟทุกประเภทและทุกรสชาติที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายแบบอะโรเมติกในทุกครั้งที่มีการสูดดม หากน่าจะเน้นได้เฉพาะกาแฟอินสแตนท์ และกาแฟเอสเพรสโซมากกว่าอย่างอื่นซึ่งจะนำกาแฟอย่างไหนไปใช้ก็ขึ้นกับประเภทของอาหารที่จะปรุงโดยกาแฟมากกว่า

เรื่องนี้ คงจะคล้ายกับการใช้น้ำตาลที่มีหลายอย่างว่าควรจะใช้น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลกรวดกันดีสำหรับคนช่างทำอาหารแล้ว ก็ขึ้นกับประเภทของอาหารที่จะปรุงด้วย แต่สำหรับแม่ครัวมือสมัครเล่น น้ำตาลแบบไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น

กาแฟเอสเพรสโซเป็นกาแฟที่มีกลิ่นเฉพาะตัวฉุนเฉียวกว่ากาแฟตามปกติทั่วไป จึงต้องปรุงพร้อมกับเครื่องปรุงอื่นที่มีกลิ่นรุนแรงเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น อาจต้องหันไปใช้กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนแทน หากเป็นการเสิร์ฟอาหารในตอนเย็น หรือเป็นการเสิร์ฟอาหารที่มีเด็กๆ ร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนหลังจากอาหารเย็นมื้อนั้น

ตอนนี้ โลกการตลาดมองกาแฟด้วยมุมมองใหม่ ในการนำไปใช้ในอรรถประโยชน์ที่หลากหลายและที่แตกต่างจากต้นแบบดั้งเดิมมากขึ้น แต่รสชาติที่ได้รับการยอมรับและกำลังฮิตติดตลาดในต่างประเทศตอนนี้คือ การเติมกาแฟในคาสตาร์ด ซอส ของหวานแบบอิตาเลียน ผสมใส่ชอกโกแลตดำ และในจานอาหารเย็นในงานปาร์ตี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.