|
หุ้นเหล็กรอเวลาฟื้น
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาวะโอเวอร์ซัปพลายในตลาดโลกที่ทำให้บริษัทเหล็กของไทยส่วนมากขาดทุนในปีที่ผ่านมาเริ่มส่อแววดีขึ้นเมื่อราคาเหล็กเริ่มฟื้นตัว และหากราคายังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นโอกาสที่หุ้นเหล็กจะกลับมาอีกครั้ง
ปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้เป็นช่วงที่บริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากเป็นพิเศษ สาเหตุสำคัญเป็น เพราะราคาเหล็กในปี 2547 ปรับตัวสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้หลายบริษัทเร่งระดมทุนเพื่อไปขยายกำลังผลิตหรือบางรายก็อาศัยจังหวะที่ผลการดำเนินงานมีกำไรดีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะขายหุ้นได้ราคาดี
แต่กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นกลับส่งผลให้ราคาเหล็กในปี 2548 ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลการดำเนินงานบริษัทในกลุ่มนี้ลดต่ำลงเป็นส่วนมาก หลายบริษัทถึงกับขาดทุน มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ยังสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ โดยซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่งที่สามารถสร้างกำไรต่อเนื่องได้
ซีเอสพีฯ ดำเนินธุรกิจศูนย์บริการเหล็ก ประกอบด้วยการจัดหาและแปรรูปเหล็กแผ่นชนิดม้วน รวมทั้งให้บริการแปรรูปเหล็กแผ่นชนิดม้วน โดยการนำเหล็กแผ่นชนิดม้วนขนาดใหญ่มาตัดเป็นเหล็กแผ่น หรือเหล็กแถบตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ มีกำลังผลิตปีละ 163,800 ตัน จำหน่ายให้กับลูกค้าหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายการผลิตไปสู่ท่อเหล็กรีดเย็น ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น ปีละ 10,000 ตันและภายในไตรมาส 2 นี้จะติดตั้งเครื่องจักรเสร็จตามแผนงาน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 30,000 ตัน
"การผลิตท่อเหล็กรีดเย็นเป็นความพยายามที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไปในโปรดักต์เดิมของเรา" วีรศักดิ์ ชัยสุพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ซีเอสพีฯ ให้เหตุผลของการขยายงาน
การขยายไลน์ไปผลิตท่อเหล็กรีดเย็นของซีเอสพีฯ เนื่องจากผู้บริหารมองเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีศักยภาพสูงและยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยท่อเหล็กรีดเย็นที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในอนาคต
โครงการผลิตท่อเหล็กรีดเย็นของซีเอสพีฯ ใช้เงินลงทุนในส่วนของเครื่องจักรจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวได้มาจากการขายหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในราคาหุ้นละ 3 บาท ซึ่งนอกจากค่าเครื่องจักรแล้วยังนำไป ใช้ในการปรับปรุงโรงงานและที่ดินจำนวน 50 ล้านบาทและชำระหนี้ระยะสั้นอีก 138 ล้านบาท
ซีเอสพีฯ ระบุว่า รายได้จากท่อเหล็กรีดเย็นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผลดำเนินงานปี 2548 มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2548 บริษัท มีรายได้รวม 2,741 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 39.5% และมีกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% โดยนอกจากยอดขายท่อเหล็กรีดเย็นแล้ว ในเดือนธันวาคม 2547 มีการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท มีการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเหล็กมาให้ซีเอสพีฯ เพียงบริษัทเดียว โดยรับซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบและสินค้าทั้งหมดจากบริษัทในเครือ ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตและฐานรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับในปีนี้ซีเอสพีฯ ตั้งเป้ายอดรายได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 10-15% โดยสาเหตุหลักมาจากการผลิตท่อเหล็กรีดเย็น ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 30,000 ตัน ภายในไตรมาส 2 และการเพิ่มกำลังผลิตของเหล็กแผ่นแถบที่มีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 193,800 ตัน นอกจากนี้ยังจะขยายฐานตลาดเหล็กแผ่นให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 35% และ 20% เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ซีเอสพีฯ คาดว่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นผลจากตลาดในประเทศจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กในตลาดโลกในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจีนมีมาตรการลดกำลังผลิต 30% ด้วยการปิดโรงงานขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานและมีปัญหาเรื่องมลภาวะ
"ผลกำไรจะเห็นได้ชัดในงวดไตรมาส 2 เพราะเป็นช่วง ที่ราคาเหล็กปรับเพิ่มขึ้นแล้ว" วีรศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|