|
เติบโตท่ามกลางขวากหนาม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงสร้างโดยรวมของบริษัทใน "ผู้จัดการ 100" ปี 2548 ไม่ได้แตกต่างไปจากเมื่อปี 2547 มากนัก โดยอัตราการหมุนเวียนของบริษัทที่เข้ามาอยู่ใหม่กับบริษัทที่รายชื่อได้หลุดออกไปจากตาราง มีจำนวนอย่างละ 11 บริษัท (เทียบกับอย่างละ 13 บริษัทในปี 2547)
ในจำนวนบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Newcomer ปีนี้ เป็นบริษัทที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนใหม่ถึง 4 บริษัท (โกลว์ พลังงาน, อินโดรามา, พฤกษา และค้าเหล็กไทย) ไม่รวมบริษัทที่เพิ่งได้รับการย้ายจากกลุ่มฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกลุ่มปกติ (แมกเนคอมพ์ พริซิชั่น และบริษัทที่ได้กลายเป็นหุ้นประเภท turn around (กรุงเทพดุสิตเวชการ และจีเอฟพีที) เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนบริษัทที่หลุดจากตาราง (displace) เป็นบริษัทที่หายไปจากระบบเพราะถูกควบรวมกิจการถึง 3 บริษัท (ปิโตรเคมีแห่งชาติ, ไทยโอเลฟินส์ และธนาคารเอเชีย)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งสิ้น 473 บริษัท เพิ่มขึ้น 37 หลักทรัพย์ จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 ที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ทั้งสิ้น 436 หลักทรัพย์
แต่เนื่องจากในระหว่างปี มีการหมุนเวียนของหลักทรัพย์ต่างๆ อาทิ มีบริษัทที่ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน 3 บริษัท มีการควบรวมกันของกิจการต่างๆ 2 กรณี คือกรณีของปิโตรเคมีแห่งชาติควบรวมกับไทยโอเลฟินส์ ตั้งเป็นบริษัทใหม่ คือ ปตท. เคมีคอล และธนาคารยูโอบี รัตนสินซื้อกิจการธนาคารเอเชีย แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารยูโอบี โอเวอร์ซีส์
ทำให้ความแตกต่างของจำนวนหลักทรัพย์ ณ สิ้นปีมีตัวเลขที่แตกต่างจากจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้ามาจดทะเบียนใหม่ตลอดทั้งปี 2548 ที่มีเพิ่มเข้ามาทั้งสิ้น 44 หลักทรัพย์
โดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าปี 2548 เป็นปีที่เศรษฐกิจโดยรวม เริ่มมีสัญญาณของความผันผวน อันเนื่องมาจากปัจจัยลบหลายๆด้าน อาทิ การเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยการขาดดุลการค้า รวมถึงผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง สืบเนื่องจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดถล่ม 6 จังหวัดอันดามันในปลายปี 2547
แต่บริษัทใน "ผู้จัดการ 100" ยังมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึง 21.50% และส่วนใหญ่ยังมีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไร (เพิ่มขึ้น 23.30% โดยภาพรวม) มีบริษัทเพียง 7 แห่ง จาก 100 บริษัทเท่านั้น ที่ยังประสบกับการขาดทุน (2 ในนี้อยู่ในกลุ่มโทรศัพท์พื้นฐาน คือ ทรู คอร์ปอเรชั่น และทีทีแอนด์ที อีก 2 บริษัทอยู่ในกลุ่มเหล็ก คือนครไทยสตริปมิลล์ และสหวิริยาอินดัสตรี้ ส่วนอีก 1 บริษัทคือปิคนิก คอร์ปอเรชั่น เกิดจากปัญหาการจัดการและการบริหารการเงิน)
ธุรกิจพลังงาน ยังคงเป็นธุรกิจที่โดดเด่น โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่ได้รับผลดีโดยตรงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ตามด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่เริ่มทำหน้าที่กลไกหลักสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงกลุ่มเดินเรือที่คาดว่าจะมีรายได้ดีขึ้นจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับค่าระวางใหม่
ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง (ยกเว้นกลุ่มเหล็ก) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นขึ้นจากความเคลื่อนไหวของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ค่อนข้างคึกคักตลอดทั้งปี (แต่ปัจจัยพื้นฐานของทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อย่างเข้าปี 2549 จากการชะลอโครงการเมกะโปรเจ็กต์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด)
ส่วนธุรกิจสื่อสาร มีสัญญาณของการชะลอตัวทั้งทางด้านรายได้และผลกำไรอย่างเห็นได้ชัด
โดยสรุปแล้ว "ผู้จัดการ 100" ปี 2548 ยังคงทำหน้าที่สะท้อนภาพรวม และสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดทิศทางของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของ 100 บริษัทแรกที่มีรายได้สูงที่สุดในปี 2548 ยังเป็นสัดส่วนที่สูงถึงเกือบ 90% เมื่อเทียบกับตัวเลขรวมของทุกบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทุกๆ ด้าน
แต่หน้าที่นี้ ก็เป็นเช่นดาบ 2 คม หรือเหรียญ 2 ด้าน เพราะขณะที่ในด้านหนึ่ง ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดนั้น แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง ก็หมายถึงการมีบทบาท และอิทธิพลของบริษัทเพียง 100 บริษัท ที่มีเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งมีจำนวนที่สูงกว่าถึง 3 เท่า
(รายละเอียดโปรดอ่าน "ภาพสะท้อนตลาดทุน (แบบไทยๆ)" ซึ่งเป็นเรื่องหลักของ"ผู้จัดการ 100" ฉบับนี้)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|