|

ปีแห่งการประคองตัว
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจที่กระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ภัทรลิสซิ่งวางแผนงานในปีนี้อย่างระมัดระวัง โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนเป็นอันดับแรก
ถึงแม้ว่าปี 2548 ที่ผ่านมา ภัทรลิสซิ่งจะเพิ่งได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร Forbes จากสหรัฐอเมริกาให้เป็น 1 ใน 11 บริษัทของไทยที่ได้รับรางวัล Asia's Best Under a Billion และเป็นบริษัทลิสซิ่งเพียงรายเดียวของไทยที่ได้รับรางวัล ซึ่งแสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงานในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองถึงสถานการณ์ในปีนี้ เกริกชัย ศิริภักดี กรรมการผู้จัดการ ภัทรลิสซิ่ง ยอมรับว่าเป็นปีที่ต้องประคองตัว
"ปีนี้เรามองเรื่องการเติบโตเป็นอันดับรอง เราจะไม่ทำอะไรที่จะเพิ่มความเสี่ยงของเราโดยไม่จำเป็น" เกริกชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ภัทรลิสซิ่งทำธุรกิจหลักจัดหาทรัพย์สินให้กับผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลในรูปแบบลิสซิ่ง หรือการให้เช่าในลักษณะสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) โดยเน้นไปที่รถยนต์ ทั้งที่เป็นรถยนต์สำหรับผู้บริหาร รถยนต์ประจำสำนักงานและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ให้เช่ากว่า 7,000 คัน นับเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจนี้ โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ปตท., ยูโนแคล และบางจาก
นโยบายของปีนี้ที่จะไม่มุ่งเน้นเรื่องของการขยายตัวค่อนข้างสวนทางกับผลการดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ภัทรลิสซิ่งมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 33% เลยทีเดียว (ดูข้อมูลจากตารางประกอบ) และนโยบายนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการทำธุรกิจในปีนี้ของภัทรลิสซิ่งได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภัทรลิสซิ่งเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่ารายได้รวมจะเพิ่มขึ้น 11% จาก 1,412.52 ล้านบาทในปี 2547 มาเป็น 1,567.98 ล้านบาทในปี 2548 แต่ผลกำไรสุทธิกลับลดลงกว่า 8% โดยสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยลบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"ปีที่ผ่านมามีแรงกดดันในด้านต้นทุนหลายเรื่อง ทำให้การขยายตัวทำได้ยากขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งหมดประดังกันเข้ามา จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ที่เกิดสึนามิ เพราะมันมีผลกระทบในช่วงต้นปี การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อย กำไรที่ลดลงก็น่าจะถือว่าใช้ได้ในบรรยากาศที่เป็นอย่างนี้" เกริกชัยกล่าว
ปัจจัยลบดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาในปีนี้ทำให้ภัทรลิสซิ่งตั้งเป้าการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรเอาไว้ที่ 5% เท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนให้ยังอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรได้ โดยเฉพาะต้นทุน ด้านการเงิน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจลิสซิ่ง โดยใช้รูปแบบของการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินระยะยาวเพื่อทำให้บริษัทมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารต้นทุนด้วยการนำเงินที่มีต้นทุนต่ำมาชำระคืนเงินที่มีต้นทุนสูงกว่า
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ก็คือในปีที่ผ่านมาภัทรลิสซิ่งได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร (Company Rating) และหุ้นกู้ไม่มีประกัน (Issue Rating) จากบริษัท ทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดอันดับของไทย ได้ปรับเพิ่มอันดับจาก BBB+ ขึ้นเป็น A- อันดับเรตติ้งที่ดีขึ้นนี้จะส่งผลให้ภัทรลิสซิ่งสามารถหาแหล่งเงินทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำลง โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัท
รวมทั้งได้มีการปรับโครงสร้างเงินทุนโดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 300 ล้านบาท ขึ้นเป็น 450 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt/Equity Ratio) ลดลงเหลือ 2.59 เท่าจากเดิมที่ 3.36 เท่า และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายงานของบริษัทในอนาคตด้วย
นอกจากผลการดำเนินงานที่มีกำไรอย่างสม่ำเสมอแล้ว ตั้งแต่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 10 ปี ภัทรลิสซิ่งมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่งดไป 2 ปี สำหรับปีที่ผ่านมามีการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท เทียบกับหุ้นละ 0.35 บาท ในปี 2547 และ 0.27 บาทต่อหุ้นในปี 2546
ผลการดำเนินงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัทรลิสซิ่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล Asia's Best Under a Billion จากนิตยสาร Forbes โดยเกณฑ์การพิจารณารางวัลดังกล่าวมี 7 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1. เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2. มีรายได้ตั้งแต่ 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 3. มีอัตราการเจริญเติบโตของกำไรสุทธิเป็นบวก 4. มีกำไรก่อนภาษีไม่น้อยกว่า 5% 5. มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่า 5% ในช่วงระยะเวลามากกว่า 5 ปี 6. มีอัตราการเจริญเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 5 ปี มากกว่า 0% 7. ปราศจากผู้ถือหุ้นโดยหน่วยงานราชการ
แม้ผลกำไรและเงินปันผลของภัทรลิสซิ่งจะอยู่ในเกณฑ์สม่ำเสมอ แต่ราคาหุ้นกลับไม่ได้สะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาเลย ในปีที่ผ่านมาราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) อีกด้วย การที่ได้รับรางวัลจาก Forbes ในครั้งนี้อาจเป็นชนวนจุดความสนใจต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มาสนใจภัทรลิสซิ่งมากขึ้นและช่วยให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้นได้บ้าง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|