ดร.โอฬาร ไชยประวัติ "มันเป็นเช่นนั้นเอง"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดช่วงชีวิตของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เขามักสวมหมวกหลายใบ ทั้งถูกร้องขอและได้รับมอบหมายให้ไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน

แต่ตำแหน่งที่สร้างความบอบช้ำให้กับเขามากที่สุด น่าจะเป็นตำแหน่งที่เขาเพิ่งได้รับมาในระยะ 2-3 ปีนี้

ตำแหน่งที่ว่า ได้แก่ ตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น, กรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท., กรรมการบริษัทการบินไทย และตำแหน่งที่เป็นตัวเปิดประเด็นขึ้นมาคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน)

"ตามข้อเท็จจริง ขณะที่นายโอฬาร ไชยประวัติ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้น นายโอฬารเป็นกรรมการในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารและโทรคมนาคม จึงเป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. ที่มีระบบรับส่งข้อมูลประกอบด้วยเส้นใยแก้วนำแสง และต่อมาบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัท กฟผ.โทรคมนาคม จำกัด เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงมีประโยชน์ได้เสียกับกิจการของ กฟผ.และบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งนายโอฬารยังเป็นกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ กฟผ.ซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อีกด้วย นายโอฬารจึงเป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. และบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) และมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17(5) ประกอบมาตรา 5 มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และตามหลักฐานประวัติของนายโอฬารที่ใช้ประกอบการพิจารณาออกคำสั่งแต่งตั้งก็ระบุการเป็นกรรมการดังกล่าวไว้ชัดเจน นายโอฬารจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท อันเป็นการขัดต่อหลักความเป็นกลาง ซึ่งผู้มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งได้รู้หรือควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามดังกล่าวแล้ว คำสั่งแต่งตั้งนายโอฬารเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจึงขัดต่อกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรง จึงมีผลทำให้การกระทำใดๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลทางกฎหมาย"

(เนื้อหาคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ล้มการแปรรูปกิจการบริษัท กฟผ.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549)

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ดร.โอฬารเพิ่งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย โดยไม่ได้ให้เหตุผลของการลาออก

วันที่ 5 เมษายน สหภาพพนักงานบริษัทการบินไทย ประมาณ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นำโดยสมศักดิ์ ศรีนวล รักษาการประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้มารวมตัวประท้วงที่สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถ.วิภาวดีฯ เรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารบริษัทรับผิดชอบกรณีการลาออกของ ดร.โอฬารโดยไม่ได้แสดงเหตุผล พร้อมเรียกร้องให้ทวงคืนสิทธิประโยชน์ที่เขาเคยได้รับ

การประท้วงดังกล่าว เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้สงสัยในการทำงานของคณะกรรมการการบินไทย ว่าเอื้อประโยชน์เส้นทางการบินให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ถือหุ้นโดยกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-ไทเป และเส้นทางอื่นๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องการความชัดเจนในนโยบายเปิดเสรีทางการบิน เนื่องจากทำให้สายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียได้รับประโยชน์ ขณะที่การบินไทยได้รับความเสียหาย

"ดร.โอฬาร เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2487 เป็นบุตรชายคนเล็กในจำนวนพี่น้อง 3 คนของคุณพ่อลือ และคุณแม่ดำริห์ มีพี่สาวและพี่ชายอย่างละหนึ่งคน ชีวิตวัยเด็กของ ดร.โอฬาร เป็นครอบครัวที่อบอุ่นอยู่ที่จังหวัดแพร่ มีลูกชายหญิงอย่างละคนกับสุชาดา สุรพิบูล คือ น.ส.ทอแสง และนายฐิติพล พี่น้องของดร.โอฬาร ล้วนประสบความสำเร็จในชีวิตการงานที่ดีกันทุกคน

ทางด้านการศึกษานั้นถือว่ามีประวัติการศึกษาที่เยี่ยมยอด เป็นคนเรียนดีเลิศโดยจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จาก WHARTON SCHOOL UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA, USA เนื่องจากจบปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมส่งผลให้สามารถต่อปริญญาเอกที่สถาบันเอ็มไอทีได้ โดยไม่ต้องเรียนปริญญาโท

ในส่วนการทำงานนั้นเริ่มงานครั้งแรกที่ฝ่ายวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2513 ใช้ชีวิตอยู่ที่แบงก์ชาติเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงได้ลาออกมาในตำแหน่งล่าสุดคือผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

หลังจากนั้นก็ได้มาเริ่มงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2525 ในตำแหน่งพนักงานบริหารระดับสูง หรือเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ คร่ำหวอดอยู่ในธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปีพอดี จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อปี 2535 สืบแทนธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่ลาออกไปเล่นการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์"

(จากล้อมกรอบประกอบเรื่อง "ดร.โอฯ รายวัน รับปรึกษาทั่วราชอาณาจักร" นิตยสารผู้จัดการมกราคม 2540)

ดร.โอฬารเป็นนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 2 ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าเพื่อนนักเรียนทุนรุ่นเดียวกับเขาล้วนจบอาชีพในช่วงท้ายการทำงานด้วยอาการที่บอบช้ำมากน้อยแตกต่างกัน

"เมื่อกล่าวถึงนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วก็ขออธิบายกันสักนิดหนึ่งว่า นักเรียนทุนรุ่นที่ 2 ของแบงก์ชาติตามนโยบายของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้น มีเพียง 3 คนเท่านั้นคือ เริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งได้ทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น จรุง หนูขวัญ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และคนสุดท้ายก็คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา

ส่วน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในปัจจุบันนี้ เป็นรุ่นน้องของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติอีกรุ่นหนึ่ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นนักเรียนทุนของแบงก์ชาติ รุ่นที่ 3 และได้ไปเรียนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์"

(จากรายงานผู้จัดการเรื่อง "ในวันที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ต้องสูญเสีย" นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2529)

ชื่อของ ดร.โอฬารเป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในหมู่นักธุรกิจมานานกว่า 20 ปี เริ่มจากการที่เขาเป็นคนแรกที่กล้าทำนายภาวะเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านยุคตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2522-2526 ว่ามีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยในปี 2528 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นบวก

ผลจากการทำนายครั้งนั้น ทำให้สื่อต่างตั้งฉายาให้เขาเป็นโหรเศรษฐกิจ เขามักจะถูกผู้สื่อข่าวถามความเห็นต่อเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งเชิงมหภาค และจุลภาค

"ขอแจ้งให้ทราบด้วยนะคะว่าการแถลงข่าวของเราครั้งนี้จะไม่เป็นทางการอย่างที่หลายๆ แห่งเขาทำกัน ผู้บริหารของเราทุกคนที่จะมาพบขอให้ท่านทุกคนทำตัวเป็นกันเอง ใครอยากคุยปัญหาอะไรกับผู้บริหารคนไหนเชิญตามสะดวกค่ะ..." ทุกคนถึงบางอ้อ... ก็เมื่อสุภาพสตรีผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ช่วยอธิบายออกมาดังๆ นั่นแหละ

อีกชั่วอึดใจผู้บริหารก็ค่อยๆ ทยอยเข้ามาในห้องรับรองทีละท่านสองท่าน เริ่มต้นจากท่านแรกซึ่งคุ้นหูคุ้นตานักข่าวน้อยหน่อย คือประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ แล้วก็ตามมาติดๆ โดย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการอีกท่านหนึ่งซึ่งดูเหมือนกว่าจะเดินพ้นประตูเข้ามาได้ก็แทบทุลักทุเลเต็มที เพราะกลุ่มนักข่าวตั้งกำแพงคำถามกั้นเป็นชั้นๆ"

(จากเรื่อง "เก๋ไปอีกแบบ ไทยพาณิชย์" มีท เดอะ เพรส นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2527)

เมื่อมีชื่อเสียง ทำให้เขาเริ่มออกไปมีบทบาทในวงกว้างขึ้นนอกเหนือจากตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงรัฐบาล

การสวมหมวกหลายใบของเขา ครั้งหนึ่งก็เคยสร้างปัญหาให้กับตัวเขามาแล้ว

"..ดร.โอฬารไม่เพียงแต่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเท่านั้น แต่ถือว่ายังเป็นตัวแทนของสถาบันการเงินอย่างเต็มตัวในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ตามด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควบมาด้วย

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนทั้งเวทีการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การเป็นวุฒิสมาชิก เป็นคณะกรรมการนโยบายเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น

"ทุกตำแหน่งที่คุณโอฬารได้รับล้วนมีหน้าที่ล้นมือทั้งสิ้น แค่เฉพาะงานที่ไทยพาณิชย์เองสองมือก็จะเอาไม่อยู่แล้ว แถมตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยก็ไม่ใช่น้อย ซึ่งบทบาททุกวันนี้มากกว่าประธานในสมัยก่อนๆ เช่นการเข้าช่วยเหลือซื้อหุ้นในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) การมีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะตลาดหุ้น รวมถึงการร่วมกันแก้วิกฤติการณ์อุตสาหกรรมส่งออกที่มีปัญหา 19 รายการ" แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวให้ความเห็น

และล่าสุดคือปัญหาเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้วิกฤติธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินเพื่อกระทุ้งให้ทางการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่ดิน และเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ด้วย

ในช่วงที่ ดร.โอฬารเล่นหลายบทเช่นนี้ ทั้งเป็นตัวแทนจากภาครัฐและตัวแทนของภาคเอกชน ทำให้ในบางครั้งก็มีคำถามเกิดขึ้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการธนาคารพาณิชย์บ้างเหมือนกัน เช่นกรณีที่ต้องมีการลงขันของธนาคารทั้ง 14 แห่งเพื่อช่วยฟื้นฟูธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นมีแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งในแวดวงธนาคารพาณิชย์กล่าวด้วยความหงุดหงิดว่า

"การที่สมาคมธนาคารไทยจะต้องลงขันในกองทุนพยุงหุ้นหรือกองทุนฟื้นฟูให้บีบีซีนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อนในตอนแรกอาจจะเกิดจากประธานสมาคมฯ ไปรับเรื่องมาโดยที่ยังไม่ได้หารือกับสมาชิกเลย ในแต่ละปีที่มีปัญหาเราต้องลงเงินไปทีละ 700-800 ล้านบาท เราก็เสียดาย แล้วยิ่งถ้าเป็นธนาคารขนาดใหญ่ก็ต้องลงขันมากตามสัดส่วนของสินทรัพย์ ถ้าในภาวะที่เศรษฐกิจดีก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ เราก็ต้องประคับประคองตัวเองอยู่เหมือนกัน แล้วปีนี้ลงเงินไปตั้ง 3 ครั้ง คือกองทุนพยุงหุ้น 5,000 ล้านบาท โครงการปล่อยกู้ให้โบรกเกอร์อีก 6,400 ล้านบาท และของบีบีซีอีก 7,000 ล้านบาท รวมแล้วปีนี้พวกเราต้องลงขันทั้งหมด 18,400 ล้านบาท ถึงขนาดบางรายลุกขึ้นคัดค้านก็มี"

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งในวงการธนาคาร กล่าวเสริมในเรื่องเดียวกันนี้ว่า "บางครั้งเราก็พยายามมอง ดร.โอฬารอย่างเข้าใจนะ แต่บางทีก็อดที่จะเกิดคำถามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ได้ว่าสับสนหรือไร เช่นในฐานะที่ปรึกษาของนายกฯ หรือรัฐมนตรีคลังก็อาจจะถูกขอร้องให้ช่วยเรื่องกองทุนพยุงหุ้น หรือบีบีซี แต่ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยก็จะถูกสมาชิกขอร้องให้ช่วยมาต่อรองกับรัฐบ้าง แต่ ดร.โอฬารเหมือนอยู่ตรงกลาง โดนอัดมาจากทั้งข้างล่างและข้างบน แต่เพราะรับหลายบทอย่างนี้ภาพมันเลยซ้อนทับกันอย่างแยกไม่ออก"

(จากเรื่อง "ดร.โอฯ รายวัน รับปรึกษาทั่วราชอาณาจักร" นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2540)

"ภาวะงานล้นมือของ ดร.โอฬาร ในระยะหลังคงเข้าตาคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ จนกระทั่งการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีประจิตร ยศสุนทร เป็นประธานกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ลงมติแต่งตั้งให้ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการของธนาคารฯ และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อนหน้าของธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2539 เป็นต้นไป

เหตุผลของประจิตรในการดึงธารินทร์มาคืนรังนั้น เขาบอกเพียงคร่าวๆ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารฯ เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญหน้าสู่ความยากลำบากในการบริหารงาน ขณะที่ ดร.โอฬารเองก็มีงานล้นมือทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยังสวมหมวกหลายใบในเวทีการเมือง"

(เนื้อหาอีกตอนหนึ่งจากเรื่องเดียวกัน)

ดร.โอฬารลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2544 หลังเสร็จภารกิจในเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนของธนาคาร ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการ 14 สิงหาคม ตามนโยบายของธารินทร์ ที่ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรอบใหม่

จากนั้นชื่อของเขาก็เงียบหายไปพักใหญ่ๆ จนมีชื่อกลับมาอีกครั้ง เมื่อมาช่วยงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งทางด้านการบริหารกิจการบ้านเมือง และเรื่องธุรกิจ

เริ่มจากตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงกรรมการในบริษัทต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วในตอนต้น ฯลฯ

แม้จะเป็นคนเหนือและเรียนชั้นมัธยมต้นจากเชียงใหม่มาด้วยกัน แต่สายสัมพันธ์ระหว่าง ดร.โอฬาร กับ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเริ่มขึ้นในช่วงหลัง เพราะที่เชียงใหม่ ดร.โอฬารจบจากโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ซึ่งมีปรัชญาและแนวคิดแตกต่างจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศิษย์เก่า

และสายสัมพันธ์นี้น่าจะมีที่มาจากหลายช่องทางด้วยกัน ช่องทางหนึ่งโดยผ่านทางพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย

"ภายใต้ความสัมพันธ์ในฐานะศิษย์เก่าร่วมสถาบัน MIT และร่วมอยู่ในมูลนิธิศึกษาพัฒน์ พารณ อิศรเสนา อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นผู้ทาบทามให้โอฬารเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร เพื่อสานงานต่อและคิดงานใหม่ โดยทักษิณ ชินวัตร แสดงความเห็นชอบ ก่อนที่พารณจะผันตัวเองไปจัดการงานวางระบบการศึกษาขั้นมูลฐานตามแนว construc-tionism กับโรงเรียนในโครงการหลายแห่ง"

(จากเรื่อง "นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร บทบาทวันนี้ของโอฬาร ไชยประวัติ" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2545)

อีกช่องทางหนึ่ง ผ่านทางอนันต์ อัศวโภคิน ต่อเนื่องไปถึงบุญคลี ปลั่งศิริ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของ พ.ต.ท.ทักษิณ

อนันต์และโอฬารนั้นมีความสนิทสนมกันมาอย่างยาวนาน

"อนันต์ และโอฬาร ทั้ง 2 คนเกี่ยวพันกันทั้งในแง่การทำธุรกิจ เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ที่มีความผูกพันสนิทสนมส่วนตัวมานานกว่า 10 ปี

ในเรื่องของเกมกีฬา ทั้ง 2 คนชอบกีฬาที่มีความท้าทายและความเร็วสูงคือเครื่องบินเล็กเหมือนกัน จนได้ร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทสยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ เช่นบริษัทสุพรรณิกา, บริษัทสยามปาร์ค และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ มีธงชัย จิระดิลก, ศุภเดช พูนพิพัฒน์, ชินเวศ สารสาส ร่วมเป็นกรรมการ

ส่วนในเกมธุรกิจทั้ง 2 ยังมีแนวความคิดไปในทางเดียว กันและได้กำหนดยุทธวิธีให้แบงก์ไทยพาณิชย์ กับแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไปลงทุนร่วมกันอีกหลายบริษัท..."

(จากเรื่อง "โอฬาร VS อนันต์ พันธมิตรตลอดกาล" นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2541)

ส่วนอนันต์กับบุญคลีนั้นเป็นศิษย์เก่าจากคณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกัน (วศ.11) และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทสนมกันอย่างยิ่ง

นอกจาก 2-3 ตำแหน่ง ที่เสมือนเป็นหมวกที่มีเผือกร้อนซ่อนอยู่ข้างในที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ทุกวันนี้ ดร.โอฬารยังสวมหมวกที่มีความหมายเชิงสังคมอีกหลายใบ อาทิ รองประธานมูลนิธิศึกษาพัฒน์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดร.โอฬารเพิ่งได้รับงานใหญ่ชิ้นใหม่ โดยได้เป็นประธานจัดงานฉลอง 100 ปี นามพระราชทานของโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย และเป็นประธานกองทุน 100 ปี 100 ล้าน ที่ต้องระดมทุนให้กับโรงเรียนเก่าของเขาให้ได้ 100 ล้านบาทภายใน 3 ปีนี้

ตำแหน่งนี้ เขาทำร่วมกับศิษย์เก่าปรินส์รอยอีกหลายคน 1 ในนั้นคือ น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุคต้น

ตำแหน่งนี้น่าจะเป็นหมวกใบใหม่ที่สวยที่สุดสำหรับ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แล้วในยามนี้ หลังจากที่เขาเพิ่งบอบช้ำกับหมวก 2-3 ใบที่เคยสวมใส่อยู่

"ระยะนี้เขาคงเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่บ่อยครั้งขึ้น เพราะนอกจากมีบ้านอยู่ที่นั่นแล้ว ภาระหนึ่งที่เขาทำด้วยความสุขใจก็คือการหาทุน 100 ล้านบาทให้ได้ภายใน 3 ปี เพื่อมอบให้โรงเรียนปรินส์รอยนำไปใช้เพื่อการศึกษารวมทั้งวางแผนการทำปรินส์รอย 2 เพื่อสร้างคนดีสู่สังคมต่อไป"

ประโยคสุดท้ายในล้อมกรอบเรื่อง "โอฬาร ไชยประวัติ กับความทรงจำอันมากมาย" ประกอบเรื่อง "ปรินส์ รอยแยลส์ ความหมายลึกซึ้งกว่า 100 ปี" ที่เพิ่งตีพิมพ์ในนิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.