|
พิษการเมืองถล่มอสังหาฯไตรมาส1ยอดขายวูบ-น้ำมันพุ่งต้นทุนสูง
ผู้จัดการรายวัน(27 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ยักษ์ใหญ่วงการอสังหาฯยอมรับไตรมาสแรกยอดขายบ้านวูบ หลังเจอมรสุมการเมืองถล่ม ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่ราคาน้ำมันที่ทะยานตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างขยับตามด้าน"วิกรม" แนะรัฐบาลหันมาเน้นการส่งออกให้ได้อย่างน้อย 20% แก้ปัญหาขาดดุลการค้า
วานนี้ (26 เม.ย.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ "ทางออกธุรกิจไทย...ฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง" ซึ่งนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งกระทบต่อการขายบ้าน เท่ากับภาวะความไม่สงบทางการเมือง เนื่องจากผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ เมื่อเกิดปัญหาความไม่สงบทำให้เกิดความกังวลต่อรายได้ประจำของตนเอง ดังนั้นจึงชะลอซื้อสินค้าประเภทถาวร เช่น บ้าน รถยนต์
นอกจากนี้ ยอดขายบ้านขึ้นอยู่กับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากจีดีพีมีการเติบโต มีการลงทุนเกิดการจ้างงาน ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรายได้ก็จะซื้อบ้านแม้ว่าราคาน้ำมัน หรืออัตราดอกเบี้ยจะสูงแค่ไหนก็ตาม ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากในช่วงปี 2532 - 2533 ที่จีดีพีโต 11% อัตราดอกเบี้ย 15% แต่กลับมียอดขายบ้านสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.7 แสนยูนิต ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าแม้ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยจะเป็น 2 หลักแต่หากจีดีพีโตย่อมส่งผลให้การขายบ้านโตขึ้นตาม
ส่วนปัญหาในเรื่องราคาน้ำมันจะส่งผลต่อค่าขนส่งวัสดุก่อสร้าง และต้นทุนการผลิต ซึ่งช่วงที่ผ่านมาซัปพรายเออร์เกือบทุกรายได้เข้ามาเจรจาของปรับขึ้นราคาวัสดุประมาณ 3-5% ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตาม ในขณะที่ราคาขายบ้านไม่สามารถปรับขึ้นได้จาการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้กับสภาพดังกล่าว เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่าน้อยกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านช่วงนั้นมาได้ต่างมีบทเรียน และเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางในการปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการคือ จะต้องบริหารและจัดการต้นทุนให้ดี สอดคล้องกับกำลังซื้อในแต่ละทำเล
“ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับปัจจุบันไม่ได้มีผลต่อยอดขายบ้าน เพราะในอดีตราคาน้ำมันแค่ไม่ถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ใครพูดว่าราคานำมันจะถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐเค้าก็ว่าบ้า แต่ตอนนี้มันถึงแล้ว และในอนาคตอาจจะสูงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลก็ได้ แต่ก็ยังมีความซื้อบ้าน ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นผลต่อยอดขายบ้านก็จะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก”นายอนันต์กล่าว
สำหรับเป้าหมายการขายบ้านของบริษัทในปีนี้ว่า บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของยอดขายบ้านอยู่ที่ 10% เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยบริษัทมองว่าตลาดบ้านในราคา 1-2 ล้านบาท ยังเป็นตลาดที่ดี และบางพื้นที่ยังเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากเนื่องจากเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ รวมไปถึงบ้านที่มีราคาแพงตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไปยังสามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนบ้านระดับราคา 5-10 ล้านบาท มีการชะลอเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นมนุษย์เงินเดือนเมื่อเกิดภาวะไม่ดีจึงชะลอการซื้อ
"ข้อเสียของธุรกิจอสังหาฯ คือส่งออกไปขายต่างประเทศไม่ได้ ดีมานด์จำกัดเฉพาะในประเทศ และการสร้างบ้านต้องใช้เวลานาน กว่าจะส่งมอบให้ลูกค้าใช้เวลา 8 เดือนถึง 1 ปีแต่ราคาที่ขายให้ลูกค้าเป็นราคาปัจจุบัน ดีเวลลอปเปอร์ต้องแมเนจคอร์สกับดีมานด์ให้ดีมองตลาดให้ออก และควรคิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ยอมรับว่าภาวการณ์ซื้อขายบ้านโดยรวมในช่วงไตรมาส 1/2549 ชะลอตัว โดยเฉพาะช่วง เดือนม.ค.-ก. พ. 2549ลดลงมากเมื่อ เทียบกับ 2548 ช่วงเกิดภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิ"นายอนันต์กล่าว
ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย แต่เมื่อวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม ดังนั้น ทางออกของธุรกิจที่จะต้องเร่งดำเนินการคือ เน้นการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศให้ได้อย่างน้อย 20% เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อสร้างความสมดุล และแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้า ขณะเดียวกันภาครัฐบาลเองจะต้องหันมากระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท/ปี
"บางครั้งมาตรการที่สนับสนุนด้านภาษีจำเป็นจะต้องนำมาใช้เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง แต่ก็ติดขัดด้านการคัดค้านว่าจะกระทบต่อฐานการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้บางครั้งภาคราชการต้องปรับใหม่" นายวิกรมกล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยขายสินค้าหรือส่งออกสินค้าน้อยกว่าซื้อเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชี และไม่สามารถที่จะสู้ต่างประเทศไทย นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องเร่งพิจารณาคือ การเจรจาการค้าภายใต้กรอบการค้าเสรีเอฟทีเอ .เพื่อสร้างโอกาสการส่งสินค้าไปต่างประเทศ หาตลาดใหม่เช่น ตลาดอียู และรัสเซีย เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าไทยก็จะเผชิญคู่แข่งสำคัญที่น่ากลัว โดยเฉพาะคู่แข่งประเทศ เวียดนาม ซึงหากลงนามกับประเทศญี่ปุ่นได้เมื่อไหร่ เวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวยิ่งสำหรับภาคธุรกิจไทย
นายวิกรม กล่าวเสนอแนะว่า ทางออกในยุคที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ก็คือจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสังเกตได้จาก แรงงานจำนวน 36 ล้านคนทั้งหมด นั้นประมาณ 40% เป็นแรงงานภาคการเกษตร ซึ่งมีผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีประมาณ 9% ขณะที่จำนวนแรงงานประมาณ 10% ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม แต่มีขีดความสามารถหรือมีผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีสูงถึง 40% ฉะนั้น หากต้องการทำให้จีดีพีอัตราการเติบโตสูงขึ้นภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อเร่งส่งเสริมหรือสนับสนุนภาคอุตสหกรรม พึ่งตนเอง-พัฒนาโปรดักท์
ขณะที่นายบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะเปิดปัญหาวิกฤติราคาน้ำมันแพงที่ต้องยอมรับว่ากระทบต่อต้นทุนธุรกิจ แต่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องมองวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ให้เป็นโอกาสที่จะต้องหาทางออกให้ได้ ดังนี้ 1. พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ที่จะต้องมีการนำเอาระบบเทคโนโลยีมาช่วย และการพัฒนานี้จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2. สินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาดจะต้องมูลค่าเพิ่ม หรือมีมูลค่าในตัว เมื่อสินค้ามีมูลค่าในตัว ก็สามารถที่จะปรับราคาขายได้ตามสัดส่วนต้นทุนที่สูงขึ้น
"ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติใด เราต้องบอกว่าเราสู้ได้ ซึ่งเราต้องเพิ่มศักยภาพของตนเอง มีความรวดเร็วในการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิด และต้องพร้อมที่จะมีแผนงานรองรับเพื่อช่วยเลหือตัวเองก่อนที่จะให้ผู้อื่นหรือรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย " นายบุญเกียรติ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นคือ ดอกเบี้ย น้ำมัน ค่าเงินที่แข็ง ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจของเครือไอ.ซี.ซี.ฯด้วย แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางเครือเองก็มีการปรับตัวรองรับมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการ การบริหาร และ การผลิต มาตลอด
ด้านนายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกได้มีการปรับตัวขึ้นอย่างมากนับจากต้นปีเป็นต้นมาปรับโดยขึ้นเกือบ 100 บาท/ตัน จากกว่า 400 บาท/ตัน เป็นเกือบ 500 บาท/ตัน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เปลี่ยนนำเข้ามาขายเป็นนำเข้าวัสดุมาผลิตเองภายในประเทศ แต่ต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันในประเทศลดลง
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทเองได้หันมาเน้นการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยในปีนี้ตังเป้าส่งออก 20% จากปีที่แล้วส่งออก 18% โดยตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพราะกลุ่มนี้จะไม่คำนึกถึงราคา กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ดังนั้นในภาวะที่ตลาดในประเทศไม่มีการขยายตัว อีกทั้งราคานำมันยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรหันไปทำตลาดต่างประเทศแทน ซึ่งเชื่อว่าเอกชนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ แต่รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเนื่องจากกฎหมายหลายตัว และนโยบายของรัฐบาลเองไม่ได้เอื้อให้ผุ้ประกอบการไทยไปลงทุนยังต่างประเทศ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ในการสนับสนุน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา
"ไทยเป็นคนที่แปลกรู้ๆว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนแต่ก็ไม่ยอมแก้ โดยเฉพาะราชการไทยเป็นคนที่ใส่หมวกกันน๊อกและตั้งการ์ดสูงที่สุด เราเก่าไม่ถูกที่คัน เรามีปัญหาคือการขาดดุลการค้าต้องแก้ตรงนี้ เอกชนไทยเก่งเชื่อว่าสามารถออกไปแข่งกับต่างประเทศได้สบาย แต่พันธนาการค่อนข้างเยอะทำให้ไปลำบาก" นายวิน กล่าว
นายวินกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการควรวางแผนสำรองเตรียมเอาไว้หลายๆ แผน เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็สามารถเปลี่ยนแผนไปใช้แผนสำรองได้ทันที นอกจากนี้ควรหันมาปรับปรุงระบบภายในหรือลดต้นทุนลง โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง หากวางระบบไม่ดีจะเป็นปัญหาระยะยาวและยากแก่การแก้ไข
นายธีรพงษ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเว่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในภาวะที่ปัจจัยลบมากมาย ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยควรหันปรุงระบบภายใน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ที่ผ่านมาในภาวะที่เศรษฐกิจดีจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากคนในองค์กรเท่าที่ควร แต่ตอนนี้ทุกควรต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|