|
ฟิทช์ปรับเป้าจีดีพีไทยลดเหลือ4.3%ชี้น้ำมันแพงกระทบขาดดุลเดินสะพัด
ผู้จัดการรายวัน(27 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ฟิทช์ เรตติ้งคาดจีดีพีไทยปี 49 ลดฮวบเหลือ 4.3% จากประมาณการที่ 5% พร้อมให้เครดิตไทยที่ระดับ A- ระบุเหตุความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลกระทบเศรษฐกิจ เผยหากเมกะโปรเจกต์ล่าช้าส่งผลให้งบประมาณเกินดุลได้ถึง 0.3% ของจีดีพี ขณะที่ราคาน้ำมันกระทบดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเป็นครั้งแรกจากปี 2541 ถึง 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.1% ของจีดีพี
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับ ได้รายงานผลการวิเคราะห์เครดิตของประเทศไทย โดยยืนยันระดับเครดิตของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ A- ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มระดับเครดิตที่มีเสถียรภาพ ระดับเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศว่าอยู่ที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ F2
โดยฟิทช์ ระบุว่า ได้คาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย (จีดีพี) ในปี 2549 นี้ จะลดลงเหลือเพียง 4.3% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 5% โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ คือ ยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้ครบจำนวน ทำให้อาจไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ แม้ว่าความตึงเครียดทางการเมืองจะเริ่มคลี่คลาย หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม
"ฟิทช์ คาดว่า ความยุ่งยากทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีในปี 2549 จะลดลงเหลือ 4.3% จาก 5% และหากความยุ่งยากทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตในระยะปานกลางได้" รายงานข่าวกระทรวงการคลัง ระบุ
ทั้งนี้ ฟิทช์ ให้ความเห็นว่า เครดิตของประเทศไทยมีความคงทนยิ่งขึ้นนับแต่ปี 2541 ที่เศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น และฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศดีขึ้น ทำให้ปัจจัยชี้วัดเครดิตหลักยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในระดับเครดิต BBB
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ฐานะการคลังของประเทศที่มั่นคงในปีงบประมาณ 2548 โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งวิธีการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ ส่งผลให้ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้า ขณะที่รายจ่ายการลงทุนของภาครัฐลดลงเล็กน้อย ทำให้คาดว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเกินดุลคิดเป็น 0.6% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศในกลุ่มระดับเครดิต BBB
"นอกจากนั้น ในปี 2549 หากมีความล่าช้าในการลงทุนโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเมกะโปรเจกต์ และไม่มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ งบประมาณจะเกินดุล 0.3% ของจีดีพี และยอดหนี้ของรัฐบาล (หนี้โดยตรงของรัฐบาลรวมกับหนี้ของ FIDF) คาดว่าจะอยู่ที่ 27.8% ของจีดีพี ในปี 2549 ซึ่งลดลงจาก 31.9% ในปี 2548 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะที่ไม่รวมหนี้ในภาคการเงินต่อจีดีพี (Non-Financial Public Debt) คาดว่าจะลดลงเหลือ 39.5% ในปี 2549 จาก 46.1% ในปี 2548" รายงานข่าวกระทรวงการคลัง ระบุ
อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยขาดดุล 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.1% ของจีดีพี นับว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 โดยฟิทช์ เห็นว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเครดิตของประเทศ อันเนื่องจากมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และการลงทุนในหลักทรัพย์โดยรวม อีกทั้งเงินทุนสำรองของประเทศยังเพิ่มขึ้น โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น 4.6% คิดเป็นมูลค่าสูงสุด 52.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเทียบเท่ากับ 4.5 เดือนของภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ
และเหตุผลสุดท้าย ได้แก่ หนี้ต่างประเทศทั้งหมดของประเทศไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคิดเป็นมูลค่า 51.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำที่สุดนับจากหลังวิกฤติเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อรายรับจากต่างประเทศ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 37.8% ในปี 2548 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีระดับเครดิต BBB
"ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศระดับ BBB ที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิ (Net External Credit Position) (12.8% ของรายรับจากต่างประเทศในปี 2548) สัดส่วนสภาพคล่องต่างประเทศของไทย (External Liquidity Ratio) คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 289.4% ในปี 2549 จาก 299.4% ในปี 2548 ซึ่งฟิทช์ ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศที่มีระดับเครดิต BBB" รายงานข่าวกระทรวงการคลัง ระบุ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|