เวทีนี้ของ อนันต์ อัศวโภคิน ที่นายกฯ บรรหารรับคะแนนไปเต็ม ๆ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2539 ที่ผ่านมานั้น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยได้จัดงานสัมมนา เรื่อง "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับเศรษฐกิจ" ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีนี้ที่มีผู้มาร่วมงานสัมมนากันอย่างคับคั่งกว่า 1,000 คน และอยู่กันตลอดเวาจนถึงงานเลิกเป็นส่วนใหญ่

อาจจะเป็นเพราะงานครั้งนี้ เป็นของฟรี ที่ปริญญา นาคฉัตรีย์ อธิบดีกรมที่ดินยอมทุ่มเงินเกือบ 1 ล้านบาท ทำให้ผู้ร่วมฟังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หรืออาจจะเป็นเพราะ การระดมเจ้าหน้าที่กรมที่ดินมาเกือบยกกรมหรือคำพูดของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้มาดำเนินรายการงานนี้พูดดักคอไว้ตั้งแต่เริ่มงานใหม่ ๆ ว่าหวังว่าช่วงบ่ายทุกคนยังไม่หนีหายไปไหน ไม่เช่นนั้นแล้วพรุ่งนี้หนังสือพิมพ์อาจจะพาดหน้า 1 ได้ว่า

"ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่สนการปรับปรุง ที่นั่งโหรงเหรง"

จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม แต่มันก็ได้ทำให้สภาพของงานดูยิ่งใหญ่ คึกคัก และมีผลทำให้บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาทำพิธีเปิดสัมมนาตั้งแต่เช้า 9.00 น. ต้องอยู่ต่อไปจนถึงเที่ยง หลังจากนั้นก็ได้กลับไปประชุมสภาฯ และย้อนกลับมานั่งฟังอีกครั้งในช่วงเวลา 15.00 น.

แสดงถึงนัยของความสนใจผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ และในเวลาถัดมาก็มีนโยบายทางการเงินเพื่อผู้ประกอบการด้านนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

เป็นการแสดงท่าทีทาง "ธุรกิจการเมือง" ที่น่าสนใจยิ่ง

ผู้บรรยายในวันนั้นมีทั้งหมด 5 คน ซึ่งมีทั้งในส่วนภาคเอกชนและภาครัฐบาล แต่ดูเหมือนว่า อนันต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สามารถพูดถึงปัญหา และเสนอทางออกได้ใจความมากที่สุดสมกับที่คนทั้งห้องประชุมรอฟังยักษ์ใหญ่ในวงการจัดสรรที่ดินคนนี้

อนันต์เริ่มด้วยคำพูดที่น่าสนใจ และคาดว่าคงเป็นที่ถูกใจคนฟัง (ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ) ว่า

"ช่วงมีกำไรไม่บ่น พอเริ่มเดือดร้อนก็วิ่งหาให้รัฐฯ ช่วย ซึ่งไม่เหมาะสม อยากจะให้จัดการธุรกิจของเราให้ดีเสียก่อน"

แต่อย่างไรก็ตาม อนันต์ยอมรับว่า ปัญหาในการทำธุรกิจจริง ๆ ก็มีอยู่ และมีวิธีการบางอย่างที่รัฐควรจะเข้ามามีบทบาท เช่น การควบคุมผู้ประกอบการที่มากเกินไป และไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ธุรกิจธนาคารรัฐบาลตรวจสอบหลักเกณฑ์ผู้ก่อตั้งเข้มงวด พอมีปัญหาก็มีเงินกองทุนอัดฉีดช่วยเหลือ ในขณะที่เวลาคนถอนเงินจากธนาคารมาซื้อบ้าน จากผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีความรับผิดชอบเงินที่เก็บออมมานาน ตรงนั้นก็อาจจะสูญหายไปได้ ซึ่งตรงจุดนี้กลับไม่มีการควบคุม

ปัญหาใหญ่อีกอย่างของการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ เป็นธุรกิจที่หาข้อมูลที่ถูกต้องอ้างอิงได้ยากมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจะไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์ว่า ควรสร้างหรือไม่สร้างอย่างไร โดยรัฐฯ อาจจะช่วยโดยให้ธนาคารพาณิชย์ทำรายงานส่งรวบรวมเป็นระยะ ๆ

อนันต์ ยังพูดถึงเรื่องการหักค่าลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อบ้านหลังแรกโดยเฉลี่ยต่อเดือนว่า มันน้อยมากแทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ค่าประชดรัฐบาลผ่านนายกฯ บรรหารที่ว่า "ถ้าจะช่วยก็ช่วย ถ้าช่วยแค่นี้อย่าช่วยเลยดีกว่า" คำกล่าวนี้เรียกเสียงปรบมือดังลั่นที่ประชุมเช่นกัน

หลังจากฟังอนันต์ และรับฟังปัญหาจากผู้ร่วมประชุมบางส่วน สักพักนายกฯ บรรหารก็ได้เดินทางกลับโดยปล่อยให้ทางที่สัมมนาพูดคุยกันต่อไป โดยฝากให้อธิบดีกรมที่ดินรวบรวมเสนอในโอกาสต่อไป

นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองได้ให้ความสนใจ และให้เวลามานั่งรับฟังปัญหาต่อหน้าผู้ประกอบการเป็นเวลาหลายชั่วโมงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในรัฐบาลสมัยอื่น ๆ

และงานนี้ต้องขอชมเชยอนันต์ว่า พูดจาได้กระชับและเป็นงานขึ้นเยอะ ส่วนโอกาสที่ได้แสดงข้อมูลความรู้ต่อหน้านายกรัฐมนตรีในวันนั้น ไม่ทราบว่าท่านประทับใจแค่ไหน แต่ทางพรรคพลังธรรมเขาประทับใจ "กึ๋น" ของเฮียตึ่ง คนนี้มานานแล้ว...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.