เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ โอกาสในเขมรที่มีมากกว่าในเมืองไทย


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่ากลิ่นอายของสงครามล้างเผ่าพันธุ์ที่สร้างความสะเทือนมาเกือบ 20 ปี อาจยังไม่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในกรุงพนมเปญของกัมพูชาแล้วก็ตาม ยกเว้นสถานที่บางแห่งที่กลายเป็นตำนานความโหดร้ายยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำอันขมขื่นของชาวเขมร

กัมพูชาในวันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับบางประเทศในอินโดจีนที่ผ่านสงครามมาโชกโชน และอยู่ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูประเทศการค้าขายเริ่มต้นอีกครั้ง

กัมพูชา จึงกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่ดึงดูดกลุ่มทุนจากต่างแดนทั้งหลาย รวมทั้งของไทยที่อาศัยจังหวะเหล่านี้ขยับขยายเข้าไปลงทุน

หลายรายสมหวังมีโอกาสขยับขยายธุรกิจออกไปอีก ในขณะที่หลายรายต้องพลาดหวังกับธุรกิจที่ลงไปในประเทศแห่งนี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป

แต่สำหรับกลุ่มสามารถแล้ว อาจถือว่าเป็นโชคของเขา

เมื่อรัฐบาลของกัมพูชาภายใต้การนำของ 2 นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ระบบเอ็นเอ็นที 900 ที่กลุ่มสามารถเข้าไปลงทุนเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จากอายุสัมปทานเดิมที่ได้มาก 10 ปี เพิ่มอีก 25 ปี รวมเป็น 32 ปี

ผลของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มีความหมายสำหรับกลุ่มสามารถยิ่งนัก แน่นอนว่าผลดีย่อมมีมากกว่าผลเสีย ไม่นับรวมภาพลักษณ์ของกลุ่มที่จะสะท้อนกับมาในไทยแล้ว

การขยายอายุสัมปทานเพิ่มขึ้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนมากกว่าการลงทุนในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะบริษัทมีโอกาสเก็บเกี่ยวรายได้มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขของสัมปทานก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทแคมโบเดียวสามารถเคยจ่ายให้กับรัฐบาล 30% ตามสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลในบริษัทตลอดอายุสัมปทาน ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ 3 ปีแรกจ่ายส่วนแบ่ง 7% จากรายได้ 3 ปีถัดไปจ่ายส่วนแบ่ง 12% ปี และปีต่อ ๆ ไปจ่าย 15% จนครบอายุสัมปทาน 32 ปี

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นแต้มต่อครั้งสำคัญของแคมโบเดียสามารถ ผู้บริหารของบริษัทสามารถเล่าว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในกัมพูชา ส่วนใหญ่จะใช้โทรต่างประเทศถึง 50% ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้จะต้องหักให้รัฐบาลรายได้ที่เหลืออีก 50% จะต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับรัฐบาล 30% ที่เหลือจึงเป็นรายได้ของบริษัท

"เราแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่อาศัยว่าเรามีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาตลอด การที่ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขถือว่าเป็นประโยชน์กับเรามาก ซึ่งเราอาจต่อรองขอหักค่าโทรศัพท์ทางไกลให้รัฐบาลลดลงเหลือ 40%" ผู้บริหารชี้แจง

เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริษัทสามารถแคมโบเดีย เล่าว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือในกัมพูชาไปได้ดี หลังจากลงทุนไป 3 ปี ปีที่แล้วก็เริ่มมีกำไร และภายในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ มียอดลูกค้ามากกว่า 6,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกัมพูชายังต้องประสบปัญหาขาดแคลนโทรศัพท์พื้นฐาน มีให้บริการอยู่เพียงแค่ 4-5 พันเลขหมาย จากประชากรที่มีอยู่ 9.9 แสนคน กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนหันมาเลือกใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศนี้

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบต่าง ๆ ในกัมพูชา 4-5 ราย อาทิ แคมเทล ของซีพี ให้บริการระบบแอมป์ 800 บริษัท TRICALCOM ของมาเลเซีย ให้บริการระบบเอ็นเอ็มที 900 บริษัท CAMINTEL ประเทศอินโดนีเซีย และชินวัตร ให้บริการดทรศัพท์ ระบบเอ็นเอ็มที 450

แม้แนวโน้มจะไปได้ดี แต่การขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ เพราะไม่คุ้มกับระยะสัมปทานที่เหลืออยู่อีกไม่กี่ปี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารของกลุ่มสามารถต้องยื่นขอขยายอายุสัมปทานมาตั้งแต่ต้นปี เพื่อแลกกับการขยายการลงทุนเพิ่มอีก 100 ล้านบาท

แต่การยื่นขอเปลี่ยนแปลงสัมปทานไม่ใช่เรื่องง่าย

เจริญรัฐ เล่าว่า ต้องบินไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ทุกระดับของรัฐบาลอยู่หลายครั้ง และกว่าจะลงเอยลงได้ต้องอาศัยการไปเยือนกัมพูชาของนายกบรรหาร ศิลปอาชา ครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สัญญาขยายอายุสัมปทานของแคมโบเดียสามารถจึงลุล่วงลงได้

สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลกัมพูชาให้ไฟเขียว เป็นเพราะกลุ่มสามารถเป็นบริษัทเดียวที่วางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมากที่สุด นอกจากกรุงพนมเปญแล้วยังขยายไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น กัมโปงโสมพระตะบอง เสียบเรียบ และกัมปงจาม ในขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ 4-5 ราย ให้บริการเฉพาะในกรุงพนมเปญเท่านั้น

อันเป็นผลพวงมาจากกลยุทธครั้งแรกที่ต้องการต่อกรกับคู่แข่งที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ คือ แคมเทล ของกลุ่มซีพี ซึ่งให้บริการเฉพาะในพนมเปญ

ข้อแลกเปลี่ยนที่สามารถแคมโบเดียให้ไว้กับรัฐบาลกัมพูชา คือ การขยายเครือข่ายไปต่างจังหวัด อีก 2 แห่ง คือ สุวายเลียง และเกาะกง พร้อมทั้งติดตั้งเครือข่ายไมโครเวฟในการเชื่อมโยงเครือข่ายไปต่างจังหวัดแทนการใช้ดาวเทียม ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอีก 100 ล้านบาท

ผลการขยายในครั้งนี้ ผู้บริหารของสามารถเชื่อว่า จะทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 13,000 เลขหมาย คือ คิดเป็น 65% ของตลาดรวม และทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40%

อาการดีใจแบบสุด ๆ จึงปรากฏให้เห็นอย่างซ่อนเร้นไว้ไม่อยู่ของเจริญรัฐ พี่ชายคนโตของตระกูลวิไลลักษณ์ ที่มักจะให้ผู้เป็นน้องชาย ธวัชชัย วิไลลักษณ์ ออกโรงแถลงการณ์กับบรรดานักข่าว

ความสำเร็จในครั้งนี้ เจริญรัฐ ย้อนอดีตถึงการลงทุนในกัมพูชาว่า ยอมรับว่าเสี่ยงไม่น้อยกับการตัดสินใจมาลงทุนในกัมพูชาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

"เขมร 4 ปีที่แล้วเทียบไม่ได้เลยกับเวลานี้ แต่ตอนนั้นเราเห็นว่าธุรกิจในไทยของเราก็ไปได้ระดับหนึ่ง เลยมองเรื่องขยายไปต่างประเทศ ผมกับน้องชาย (ธวัชชัย วิไลลักษณ์) ก็ปรึกษากันว่าน่าจะลองเสี่ยงเข้ามาดู" เจริญรัฐย้อนถึงความหลัง

ผลการเสี่ยงในครั้งนั้นนับว่าคุ้มค่าไม่น้อย เพราะเวลานี้ กลุ่มสามารถได้ชื่อว่าเป็นโอปะเรเตอร์มือถืออย่างเต็มตัว แถมมีส่วนแบ่งตลาดอันดับต้น ๆ ในตลาดมือถือของกัมพูชา

ผิดกับในไทย ที่กลุ่มสามารถยังเป็นได้แค่เซอร์วิสโพรไวเดอร์ให้กับแทค ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัดอีกเยอะ ส่วนการจะพัฒนาไปเป็นโอปะเรเตอร์มือถือ เช่นเดียวกับไออีซีที่ได้รับไฟเขียวไปก่อนหน้านี้ ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยได้เมื่อใด

เมื่อเป็นโอปะเรเตอร์ในไทยไม่ได้ สู้เป็นโอปะเรเตอร์ในเขมรพลาง ๆ ก่อน หนทางคงสดใสไม่แพ้กัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.