"องครักษ์พิทักษ์เสรี" เป็นฉายาที่ ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล อดีตผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ได้รับตลอดเวลาที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับเสรี
จินตนเสรีจนเป็นที่ทราบกันดี ดังนั้นเมื่อ 'นาย' ต้องลาออกตามวาระครบ 4 ปี
ดร.ชัยพัฒน์ จึงตัดสินใจลาออกพร้อมนายหลังจากที่ตั้งท่าคิดจะออกตั้งแต่ปีนี้
และเบนเข็มหางานใหม่ทำ
"ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา ปรกติอยู่ที่ไหนไม่นานแค่ 2 ปีก็ออก แต่นี่อยู่กับตลาดฯ
มานานถึง 5 ปีกว่า และไม่คิดปลดเกษียณที่นี่ ผมเป็นคนที่อยู่กับระบบงานเอกชนก่อนมานั่งที่ตลาดหลักทรัพย์
และจะกลับไปที่เอกชนอีก ก็เหมือนกับเป็นการสร้างความรู้ให้ตนเองสองด้าน"
ดร.ชัยพัฒน์ เล่าให้ฟัง
งานใหม่ที่ ดร.ชัยพัฒน์ ได้รับการทาบทามจากณัฐศิลป์ จงสงวน อดีตเจ้านายเก่าสมัยทำอยู่บริษัทมอร์แกรน
เกรนเฟล คือ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์สถาบันของ บงล.จีเอฟ
ซึ่งเป็นนโยบายให่ของจีเอฟในวาระครบรอบ 30 ปีที่จะส่งเสริมธุรกิจหลักทรัพย์กับสถาบันต่าง
ๆ นอกจากนี้ จีเอฟได้ร่วมกับกลุ่มไพร์มอีสบริหารกองทุนมูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐขยายเครือข่ายลูกค้าต่างประวเทศ
โดยดร.ชัยพัฒน์จะรับผิดชอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตราสารอนุพันธ์ และธุรกิจบริหารกองทุนส่วนบุคคล
(ไพรเวทฟันด์) ซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญของบริษัทในอนาคต
ว่าไปแล้วจังหวะเวลาที่ ดร.ชัยพัฒนา ลาออกและเลือกร่วมงานกับจีเอฟก็เป็นช่วงเวลาเหมาะสม
เพราะกลุ่มจีเอฟได้ปรับโครงสร้างบริหารใหม่ เพื่อรงอรับการขยายธุรกรรมการเงินหลากหลาย
ทำให้ผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการของ บงล.จีเอฟ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
หนึ่ง-กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย บริหารโดยสันติ หอกิตติกุล สอง-กลุ่มธุรกิจเงินทุนดูแลโดย
นฤนาท รัตนะกนก สาม-กลุ่มวาณิชธนกิจ บริหารโดยโรเบิร์ต แมคมิลแลน และสี่-กลุ่มน้องใหม่
'กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์สถาบัน' ดูแลโดยดร.ชัยพัฒน์ และห้า-กลุ่มวิจัยธุรกิจ
ซึ่งเพิ่งยกฐานะมีกรรมการผู้จัดการเป็นครั้งแรก
หากดร.ชัยพัฒน์ ยังรั้งรออยู่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ก็ใช่ว่าจะก้าวหน้าได้เป็นใหญ่ในยุคของนายใหม่อย่าง
"สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์" เพราะดร.ชัยพัฒน์รู้ตัวดีว่า สมัยเรืองอำนาจเมื่อสองปีก่อน
ขนาดเสรีพยายามผลักดันให้ดร.ชัยพัฒน์ขึ้นเป็นรองผู้จัดการเทียบเท่าสุรัตน์
พลาลิขิต เพื่อเตรียมต่อบันไดให้ดร.ชัยพัฒน์ เป็นหมายเลขหนึ่งก็ยังล้มเหลวจากเสียงคัดค้านของกรรมการบางคน
โดยบุคลิกนิสัย ดร.ชัยพัฒน์ มีมาดนักวิชาการระดับดอกเตอร์สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์
สหรัฐ ที่ค่อนข้างเชื่อมั่นตัวเองสูง ชีวิตการทำงานในฐานะนักวิจัยที่เขียนผลงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุนที่ผ่านสำนักวิจัยดัง
ๆ อย่างทีดีอาร์ไอ สถาบัน CMRI ของไอเอฟซีที หรือมอร์แกรน เกรนเฟล ก่อนจะมาใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเสรีอย่างเต็มที่
บางครั้งทำให้ ดร.ชัยพัฒน์ ก้าวร้าวและโดดเดี่ยวไม่คบหากับเพื่อนผู้บริหาร
ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ ดร.ชัยพัฒน์ ต้องเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะโดนสถานการณ์ใหม่ในจีเอฟบังคับให้ต้องเปลี่ยน
ดร.ชัยพัฒน์ ได้เล่าให้ฟังว่า ตัดสินใจมาอยู่ที่จีเอฟด้วยตัวเอง เพราะอยากกลับมาทำงานกับเอกชน
แต่ที่เพิ่งลาออกพร้อมกับอดีตผู้จัดการเสรีก็เพราะได้รับปากว่าจะอยู่ช่วยจนครบวาระ
สำหรับการทำงานกับกลุ่มจีเอฟ จะนำประสบการณ์จาการที่ได้ออกไปทำโรดโชว์ เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์
"ที่สำคัญ คือ ดร.ณรงค์ชัย ท่านเป็นอาจารย์และที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งผมเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์
และอาจารย์เป็นคนดีที่ผมเลือกทำงานด้วย" นับว่าเป็นสายสัมพันธ์อันเก่าแก่ที่
ดร.ชัยพัฒน์ พยายามเกาะเกี่ยวให้ถึง
ดร.ชัยพัฒน์ ไม่ใช่ลูกศิษย์คนแรกที่ถูก ดร.ณรงค์ชัย ชวนมาทำ ดร.อัจนา ไวความดี
ดอกเตอร์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาที่ทำงานเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์
ธรรมศาสตร์ 10 ปีก่อนจะมาทำกับทีดีอาร์ไอเกือบ 2 ปี เคยโดน ดร.ณรงค์ชัย ชวนมาทำที่จีเอฟสำเร็จ
ปัจจุบัน ดร.อัจนาได้รับการโปรโมทเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการสำนักวิจัยธุรกิจ
ที่คาดว่าน่าจะได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลุ่มใหม่ ถ้าไม่พลิกโผ
เพราะปรากฏข่าวลือสะพัดภายในจีเอฟว่า "ดร.อัจนาขอลาออก" ก่อนวันที่
1 สิงหาคมที่ ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุลเข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์สถาบันกับบงล.จีเอฟ
ข่าวลือนี้สร้างจินตนาการไปไกลถึงว่า เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ เพราะทั้งคู่ต่างหยั่งรู้วิถีและตัวตน
"อีโก้" ตามธรรมชาติของนักวิจัยที่มักทำงานคนเดียวและอยู่กับข้อมูลตัวเลขตลอดเวลา
ติดต่อกับคนอื่นน้อยมาก งานแต่ละวันหมดไปกับการประชุม ไปต่างประเทศ หรือห้องค้าต่างจังหวัด
และเวลาที่เหลือก็หมดไปกับงานวิจัยและอ่านหนังสือ จนครั้งหนึ่ง ดร.อัจนา
เคยเปรียบว่า โลกของนักวิจัยเหมือนกบอยู่ในกะลาครอบ
แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่ว่าวันนี้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของจีเอกจะปฏิเสธข่าวลือนี้ว่า
ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่สำหรับคนใหม่อย่าง ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า
ปรับเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทันการณ์และกว้างไกลอย่างมีวิสัยทัศน์ที่พ้นจากตัวเองได้มากน้อยเพียงใด