กิตติ กีรติธรรมกุล เพิ่งมาเป็นน้องใหม่ของบริษัทเทเลคอมเอเซีย ในเครือเจริญโภคภัณฑ์
หรือที่เรียกกันง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า ซีพี ได้ไม่นานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักลงทุนสัมพันธ์
(VICE PRESIDENT INVESTOR RELATIONS OFFICE) ซึ่งหน่วยงานนี้เพิ่งเปิดมาได้ประมาณ
3 ปีเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าใหม่สำหรับในประเทศไทยที่มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมา
นับได้ในบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่จะมีหน่วยงานแบบนี้นับได้คงไม่เกิน 3
แห่ง
กิตติ ได้เล่าว่า ในส่วนของเทเลคอมเอเชียนั้น ได้ตั้งสำนักลงทุนสัมพันธ์ขึ้นมา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระของผู้บริหาร เนื่องจากเทเลคอมเอเซีย
หรือทีเอ เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผลให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นค่อนข้างเยอะทั้งประเภทรายย่อยและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ
รวมทั้งพวกกองทุนต่าง ๆ และโบรกเกอร์ และยังมีบริษัทวิจัยต่าง ๆ ที่ต้องการทราบว่า
หุ้นของทีเอ หรือบางครั้งอาจจะถามเลยไปถึงหุ้นของซีพี ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่เขาจะให้ก็คือ ข้อมูลหรือรายละเอียดให้กับกลุ่มนักลงทุนเหล่านั้น
ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างลึกอย่างพวกสถาบัน กิตติ อาจจะต้องวิเคราะห์ให้เขาฟังด้วยในบางครั้งถ้าเขาต้องการ
หรือบางที่ก็จะขอมาดูงานของทีเอเลยว่า ทำงานกันอย่างไร กิตติก็มีหน้าที่ต้องตระเตรียมเอกสารเพิ่มเติมไว้ให้ด้วย
"ตอนนี้เราจะเน้นการให้ข้อมูลของเทเลคอมเอเซียมากหน่อย เนื่องจากถือว่าเพิ่งเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นาน
และมีจำนวนหุ้นที่กระจายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นความสนใจของนักลงทุนและโดยธรรมชาติของหุ้นที่ให้บริการเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเรา
จะเป็นหุ้นที่ถือว่าเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับประชาชนมากหน่อย อย่างเรื่องความคืบหน้าของโครงการระบบโทรศัพท์พื้นฐานพีเอชเอส
นักลงทุนก็อยากทราบความคืบหน้ามีโทรเข้ามาถาม บางทีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ลงไปว่าเราได้แล้ว
แต่ยังไม่มีหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการแจ้งมาเราก็ต้องชี้แจงไปว่าความจริงเป็นอย่างไร
เรารอจดหมายจากทางการอยู่นะอะไรแบบนี้ เวลาได้โครงการอะไรใหม่ ๆ มาก็จะมีโทรเข้ามาถามเป็นจำนวนมาก
นักข่าวบ้าง นักลงทุนหุ้นบ้าง เพราะบางที่โทรไปถามผู้บริหาร เขาก็จะไม่มีเวลามาอธิบายได้มาก
ๆ อันนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตอบแทน"
กิตติ ชี้แจงถึงเนื้องานต่อไปว่า หน้าที่ของเขาไม่ใช่แบบงานประชาสัมพันธ์
แต่อาจจะดูคล้ายคลึงในแง่ของพีอาร์เฉพาะเรื่องหุ้นเพียงเรื่องเดียว แต่การตอบคำถามของนักลงทุนก็ต้องดูขอบข่ายว่าจะสามารถให้ได้แค่ไหน
และพนักงานทุกคนที่อยู่ในฝ่ายนี้จะรู้เรื่องหุ้นเป็นอย่างดี พนักงานในส่วนนี้หลายคนมาจากบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
"บางทีมีข่าวอะไรที่เกี่ยวกับบริษัทหลุดลอดไปลงหนังสือพิมพ์ก็จะมีนักลงทุนรายใหญ่
พวกประเภทสถาบันหรือรายย่อยก็ตาม จะถามทันทีตอนนี้น่าจะไปซื้อหุ้นเพิ่มไว้ดีไหม
หรือทำไมถือหุ้นไว้นานแล้วทำไมไม่ขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของเราต้องอธิบายกับนักลงทุน
บางรายเครียดเข้ามาเลย เราต้องชี้แจงอย่างใจเย็นเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากทั้งกับนักลงทุนและกับตลาดหลักทรัพย์ด้วย
หน้าที่ของเราก็คือ ต้องคอยเทคแคร์นักลงทุน ชี้แจงข้อมูลด้วยความจริงและพยายามให้เขาสบายใจให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือย่อยทั้งในและต่างประเทศ จะต้องเท่าเทียมและทั่วถึง"
กิตติ เล่าต่อไปว่า ส่วนงานของเขานั้นมีทั้งหมด 5 คน และทุกคนจะมีความรู้เรื่องหุ้นและการเงินเป็นอย่างดีและภาษาต้องดีด้วย
เพราะต้องประสานงานกับนักลงทุนประเภทสถาบันของต่างประเทศด้วย ทุกคนพร้อมที่จะตอบและให้ข้อมูลได้ตลอดเวลา
บางครั้งปุ๊ปปั๊บรับสายโดยไม่มีเวลาเตรียมตัว ทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้เสมอ
ซึ่งสำนักลงทุนสัมพันธ์นั้นจะขึ้นตรงกับผู้บริหารระดับสูง คือ ดร.วีรวัฒน์
กาญจนดุล ที่จะดูแลทางด้านการเงินและดูแลฝ่ายนี้ด้วย
เดิมทีฝ่ายนี้รับผิดชอบงานทางด้านไออาร์ (INVESTOR RELATION) ของบริษัทแม่
คือ เจริญโภคภัณฑ์ จนเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว จึงมาเน้นงานของเทเลคอมเอเซียมากกว่า
เพราะเป็นหุ้นที่กระจายอยู่ในตลาดเยอะและเป็นหุ้นใหม่ ก็เลยมีการโอนย้ายจากซีพีมายู่ทีเอ
แต่ก็ยังทำให้ซีพีอยู่ด้วยไม่ได้ทิ้งไปเลย
สำหรับบริษัทในเครือซีพีที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้มีทั้งหมด
6 บริษัทด้วยกัน คือ สยามแมคโคร / บริษัทวีนิไทย / บริษัทกรุงเทพโปรดิวส์
/ บริษัทเทเลคอมเอเซีย / บริษัทซีพีเอฟ และบริษัทซีพีเอ็นอี
ส่วนบริษัทใหม่ ๆ ที่เตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไปนั้น ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายลงทุนสัมพันธ์
ถ้าหากมีบริษัทใดที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด ทางบริษัทแม่ คือ ซีพี ก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาพวกโบรกเกอร์ดูแลจัดการให้เลย
เราจะดูแลแต่เฉพาะบริษัทที่เข้าจดทะเบียนอยู่ในตลาดแล้วเท่านั้น
สำหรับสิ่งที่เตรียมจะผลักดันต่อไปหลังจากที่กิตติเข้ามาดูแลงานในส่วนนี้แล้วก็คือ
โครงการให้ความรู้กับนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย สถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งเป็นการให้ความรู้แบบทั่วไปและเฉพาะด้าน
"เราจะให้ความรู้อย่างตรงไปตรงมา ถ้านักลงทุนรายใดไม่ถนัดเรื่องหุ้นและมีงบประมาณน้อยสายป่านสั้น
เราจะแนะนำให้หยุดเล่นหุ้นทันที หรือให้มืออาชีพเขาเล่นแทนให้ คือ พวกกองทุนต่าง
ๆ เพราะเป็นการประกันความเสี่ยงไปในตัว"
การสัมมนาจะจัดหมุนเวียนกันไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่เคยจัดไปแล้วก็ที่หาดใหญ่
จ.สงขลา และที่สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ซึ่งร่วมกับรายการมันนี่ทอล์กของ
ดร.เสรี ไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งการสัมมนาให้ความรู้
2 ครั้งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปเป็นอย่างดี และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่า
จะจัดอีก 2-3 ครั้ง โดยตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้มากพอสมควร
ทางด้านส่วนตัวนั้น กิตติ เล่าถึงตัวเขาเองว่า จบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางด้านอุตสาหกรรม
เมื่อปี 2518 แล้วไปต่อบริหารธุรกิจทางด้านการเงินที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นอยู่ช่วยธุรกิจของครอบครัวเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกระยะหนึ่ง
จึงออกมาทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรมอยู่ 3 ปี จากนั้นย้ายสายงานไปทำด้านการตลาดที่บริษัทน้ำมันโมบิลอีก
3 ปี จึงย้ายมาสายงานเก่าด้านหลักทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยซากูระอยู่กว่า
4 ปี จนมาจบที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสเกือบ 5 ปีจนล่าสุดถูกชักชวนมาที่สำนักลงทุนสัมพันธ์ของเทเลคอมเอเซีย
กิตติ เปิดเผยถึงทิศทางในอนาคตของตัวเองในระยะ 3-4 ปีข้างหน้าว่า เขายังมีความสุขกับการเป็นมือปืนรับจ้างต่อไป
โดยไม่คิดที่จะไปประกอบธุรกิจส่วนตัว แม้ว่าจะมีแรงสนับสนุนจากธุรกิจครอบครัวของตนเองก็ตาม
"ตรงนี้ผมมีความสุขดีแล้วกับการเป็นมือปืนรับจ้างครับ" เขากล่าว