|
น้ำมันพุ่ง-บาทแข็ง-ดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจไทยปี49 ทรุดยาว
ผู้จัดการรายวัน(26 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงปลายสัปดาห์นี้...เป็นช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมหรือไตรมาสแรกของปี 2549 ออกมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายๆฝ่ายจับตามอง...เพราะนอกจากจะทำให้เห็นภาพในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้ในอีกระดับหนึ่งด้วย...
ไตรมาสแรกเผชิญมรสุมทางการเมือง
ปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนให้ชะลอลงไปนั้น เป็นเรื่องของวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลายปีก่อน...เข้มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งมาถึงจุดร้อนแรงสุดในช่วงเดือนมีนาคมเชื่อมต่อต้นเดือนเมษายน โดยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2549 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมานั้น การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนได้ชะลอตัวลง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index) หดตัวลง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จากที่ขยายตัว 0.9% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยลบต่างๆ ได้แก่ การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ผลของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ในขณะที่การชะลอตัวของรายการหลักๆของดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินซึ่งหดตัว 11.3% จากที่หดตัว 1.3% ในเดือนมกราคม ,ยอดขายรถจักรยานยนต์หดตัว 6.8% จากที่หดตัว 6.1% ในเดือนก่อนหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 5.7% ลดลงจาก 9.7% ในเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกคงมีอัตราการเติบโตที่ดี เป็นผลจากการส่งออก ยังมีอัตราการเติบโตได้ดี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 23.3% เพิ่มขึ้นจาก 14.5% ในเดือนมกราคม หรือเท่ากับมีการขยายตัว 18.9% สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 15.3% จาก 0.4% ในเดือนก่อนหน้า หรือเท่ากับขยายตัว 7.4% สำหรับในช่วง ม.ค.-ก.พ. 49 โดยอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นของการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 49 นั้น เป็นผลจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วขยายตัวเพียง 5.95% เท่านั้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราการขยายตัวของการส่งออกดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยทางด้านปริมาณ โดยปริมาณการส่งออก (Export Volume) ขยายตัวร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับร้อยละ 9.9 ในเดือนมกราคม (โดยขยายตัวร้อยละ 14.6 สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี) ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอัตราการขยายตัวของการนำเข้า เป็นผลส่วนใหญ่จากปัจจัยทางด้านปริมาณเช่นกัน โดยปริมาณการนำเข้า (Import Volume) ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 8.2 ในเดือนมกราคม (แต่ยังคงหดตัวร้อยละ 1.6 สำหรับในช่วง ม.ค.-ก.พ. 49)
นอกจากปัจจัยในเรื่องของการเมืองที่ทวีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องแล้ว เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งแม้จะยังไม่ร้อนแรงเท่าปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ยังเป็นส่วนที่จะวางใจไม่ได้...
ดังนั้น การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจากปัจจัยทางการเมืองที่เป็นตัวการหลักที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนั้น คงจะเห็นได้จากตัวเลขที่ ธปท.จะมีการประกาศออกมาในช่วงปลายสัปดาห์นี้
บาทแข็ง-ราคาน้ำมันพุ่งกระหน่ำต่อ
...ช่วงรอยต่อของเดือนมีนาคมถึงเมษายนปัญหาทางการเมืองได้คลี่คลายลงไประดับหนึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนี้ได้ประกาศที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลัง การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน... แต่เศรษฐกิจไทยกลับรับผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจากสถานการณ์ตึงเครียดของสถานการณ์ในประเทศอิหร่าน...
...ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยไปอยู่ที่ระดับ 37.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 41 บาท เมื่อปลายปี 2548 หรือแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 8 และเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้ข่าวดีของตลาดเงินไปแล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่คลี่คลาย หลังการประกาศไม่รับตำแหน่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าค่าเงินสกุลหลักของภูมิภาคโดยเฉพาะเงินเยนและเงินหยวนจะยังคงแข็งค่าขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลอดปี 2549 เงินบาทไม่น่าที่จะแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยคาดว่าเงินบาทอาจจะปิดระดับ 38-39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ ปลายปี 2549 หรือคิดเป็นอัตราแข็งค่าร้อยละ 5.2-7.9 จากค่าปิด ณ ปลายปี 2548 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเงินบาทตลอดทั้งปี 2549 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 38.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราแข็งค่า ประมาณ ร้อยละ 3.9 จากปี 2548
ขณะที่ทางสภาหอการค้าไทยระบุการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากจนถึงประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เพราะหากเปรียบเทียบกับเงินสกุลเอเชียอื่นๆ เงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเงินทุกสกุล คือ แข็งขึ้นกว่าร้อยละ 8 สาเหตุเนื่องจากการเก็งกำไรของนักลงทุนข้ามชาติ ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง ของประเทศ และเห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามกลไก ตลาด เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เงินบาทสามารถผลักให้ขึ้นลงและเก็งกำไรได้ง่าย เพราะภาครัฐไม่มีกำลังจะฝืน ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่ากว่านี้ จะมีผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวลดลง เนื่องจากภาคการส่งออกเติบโตลดลงเพราะขายสินค้าได้น้อยลง
โดยในเรื่องของการดูแลค่าเงินบาทนั้นไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกนั้น ทางกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.อีกครั้งในวันที่ 27 เมษายนนี้ เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกถือเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา...ซึ่งยังคงต้องติดตาม ต่อไปว่าจะมีนโยบายออกมาอย่างไร...เนื่องจากมีการประเมินว่า ธปท.เองก็ต้องการที่ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น...
ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากกระแสวิตกเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์อิหร่านและปริมาณน้ำมันเบนซินสำรองของสหรัฐ โดยราคาน้ำมันดิบสหรัฐงวดส่งมอบเดือนมิถุนายนขยับขึ้น 1.48 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 75.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ตลาดลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนเช่นกัน ก็สร้างสถิติใหม่ที่ 74.79 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนขยับลงมาปิดที่ 74.57 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาน้ำมันขยับขึ้นจากระดับเมื่อ 4 ปีก่อนถึง 3 เท่า
...การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นปัจจัย หลักที่กดดันให้เงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับสูง และทำให้ ธปท.ยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจด้วย... แม้ว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังนายทนง พิทยะ จะออกมากล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว...แต่ในเรื่องนี้ทางผู้บริหารของ ธปท.ยังไม่ได้มีการออกมา รับลูกแต่อย่างใด ยังยืนยันแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดิม...
ช่วงครึ่งปีหลัง ศก.ยังมีสิทธิฮวบได้
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามทางการได้วางเป้าหมายไว้...
ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังน่าจะอยู่ในอัตรา 4.0-4.5% แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างก็ตาม หากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมีความยืดเยื้อ ธนาคารก็จะมีการทบทวนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้
ทั้งนี้ ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงขึ้น ทำให้ทางการจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
"ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะยืดเยื้อหรือไม่คงต้องจับตาสถานการณ์ในประเทศอิหร่านเป็นหลั ก ซึ่งหากแก้ไขปัญหาได้เร็วก็ไม่น่าจะกระทบมาก" ดร.บันลือศักดิ์กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น มาก ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบและมีการชะลอตัวมากที่สุดน่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นน่าจะยังมีอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางปี โดยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 5.0%
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้เป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและมีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 5.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ก็มีแนวโน้ม ที่จะปรับไปถึง 9.0% แต่ไม่น่าจะเกิน 10%
ส่วนค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยอาจจะไปแตะที่ 36.00 บาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไทยไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามได้ ทำให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศต่อไป
ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะคลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูปัจจัยอื่นๆอย่างใกล้ชิด รวมถึงบทบาทของผู้บริหารนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศว่ารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร... กับปัญหาของค่าเงินบาทและราคาน้ำมันที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปได้ง่ายๆ...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|