แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศผลการจัดตั้งธนาคารใหม่ออกมาแล้วว่า ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติขั้นต้นในการจัดตั้งแบงก์ใหม่นั้นมีเพียง
3 ราย คือ เอ็มบีเค พร็อพเพอร์ตี้ / กลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ / และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ
ส่วนที่พลาดท่าอีก 3 ราย คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า บริษัทเงินทุนเฟิสท์ซิตี้อินเวสเม้นท์
ในเครือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การทหารผ่านศึก
แต่ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ในฐานะแกนนำและถูกวางตัวให้เป็นว่าที่กรรมการผู้จัดการธนาคารทหารผ่านศึก
ก็ยังไม่สิ้นหวังกับผลประกาศที่ออกมา แม้ว่าธนาคารทหารผ่านศึกจะผิดเงื่อนไขในเรื่องของผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลอันดับแรกที่ถือหุ้นเกิน
5% นั่นก็คือ องค์การทหารผ่านศึกนั่นเอง
ดร.วีระชัย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยทีท่าเคร่งเครียดว่า ตนยังมีความหวังอยู่
แม้ว่าองค์การทหารผ่านศึกจะถือหุ้นถึง 25% แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างเช่นกัน
เนื่องจากว่ามีข้อกำหนดที่เรียกว่า พรบ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 5 ทวิ ห้ามใครก็ตามถือหุ้นเกิน
5% ยกเว้นผู้ถือหุ้นที่เป็นหน่วยงานราชการ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะรองรับอย่างสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ฯลฯ รวมตลอดถึงองค์การทหารผ่านศึก
ดังนั้น ในเมื่อจะช่วยองค์การทหารผ่านศึกกันจริง ๆ แล้ว และเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐ
ซึ่งแต่ละปีรัฐจะต้องให้งบประมาณกับองค์การทหารผ่านศึกปีละ 800-900 ล้านบาท
ถ้าหากว่าองค์การทหารผ่านศึกถือหุ้นได้เพียง 5% ก็ไม่มีอะไรขึ้นมาเพราะเป็นเงินที่น้อยมากก็อยากขออาศัยมาตรา
5 ทวิให้รัฐบาลช่วยพิจารณา
"คุณบดี จุณณานนท์ รัฐมนตรีคลังท่านเคยอยู่สำนักงบประมาณมาก่อน ท่านรู้ดี
ผมขอฝากความหวังไว้กับท่านด้วยเหมือนกัน เพราะถือว่าเรามีเจตนาดีซึ่งผลประโยชนที่ได้ก็เอาไปเจือจุนทหารที่บาดเจ็บ
และทุพพลภาพ ส่วนที่เหลือเอกชนถือหุ้นรายละไม่เกิน 5% ถูกต้องตามเงื่อนไขทุกประการ
โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จ.ระยอง"
"ถ้าถามว่ามีประโยชน์ไหม คำตอบคือมี ถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งจะเห็นชัดว่ามีประโยชน์มาก
เพราะเมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงิน มีการแข่งขันมากขึ้นก็จะทำให้ทุกธนาคารปรับปรุงตัวเองดีขึ้น
หลักการมีอยู่ว่า ถ้าไม่แข็งแรงอย่าให้ แต่ถ้าแข็งแรงถึง 5 แห่งที่ขอมาก็ให้ทั้ง
5 ไปเลย การแข่งขันก็จะมีขึ้น จาก 15 แห่งก็เป็น 20 แห่ง และทุกธนาคารก็จะปรับตัว
แล้วการบริหารงานทุกอย่างจะกระชับดีขึ้น ต้นทุนจะลดลงเมื่อต้นทุนลดลง ต้นทุนลูกค้าก็จะลดลงด้วย
การบริการดีขึ้นเร็วขึ้น จะส่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่างแท้จริง
สิ่งเหล่านี้จะจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น"
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วยองค์การทหารผ่านศึก 25% บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร
5% และอีกประมาณ 20% จะเป็นการกระจายกันไประหว่างบริษัท ช.การช่าง-คุณเฉลียว
อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดง-บริษัท กันยงวัฒนา-กลุ่มศรีวราโฮลดิ้ง และดร.วีรชะชัย
ที่เหลือนอกจากนั้นจะกระจายไปสู่ประชาชนทั่วไป
ส่วนการกำหนดแผนงานนั้น ดร.วีระชัย บอกว่า ในปีแรกของการดำเนินการนั้น ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเปิดสาขาให้ได้
10 สาขา และภายใน 3 ปีต้องได้ 65 สาขาและสาขาในกรุงเทพฯ จะต้องมีวงเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า
2,000 ล้านบาท สำหรับสาขาในต่างจังหวัดจะต้องมีเงินทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับนโยบายการบริหารงานนั้นจะเป็นการบริหารในลักษณะเหมือนธนาคารทั่วไป
มีธุรกรรมทางการเงิน และบริการแบบครบวงจร ซึ่งเชื่อว่า ประสบการณ์สมัยที่เป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการสมัยที่อยู่ธนาคารศรีนครคงจะช่วยนำพาธุรกิจให้ไปได้ดี
ทางด้านบุคลากรหรือพนักงานนั้นจะเน้นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนบุคลากร
"เมื่อเกิดธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่อีกถึง 4 หรือ 5 ธนาคาร ปัญหาด้านการแย่งตัวบุคลากรก็คงมีสำหรับธนาคารทหารผ่านศึกได้วางนโยบายไว้ว่า
จะไม่มีการแย่งชิงบุคลากรเด็ดขาด แต่จะอิงเครื่องทุ่นแรงประเภทคอมพิวเตอร์อย่างอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก
สาขาธนาคารที่ปกติเคยมี 20-30 คนก็อาจใช้คนแค่ 10 คน และจะอิงแนวร่วมกับต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่"
ทางด้านชีวิตส่วนตัวนั้น ดร.วีระชัย จบการศึกษาปริญญาทั้งตรี โท เอก ทางด้านบัญชีจากสหรัฐอเมริกา
และมีประวัติการทำงานที่โชกโชนทางด้านการเงินทั้งในและต่างประเทศ ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่ชาวต่างชาติยอมรับในความสามารถเป็น
ดร.ทางบัญชี เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และยังเคยดำรงตำแหน่งทั้งอาจารย์-ผู้ช่วยและรองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำ
3 แห่งในสหรัฐฯ และสอนหนังสืออยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 6 ปี
6 ปีในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่ลูกศิษย์ ณ สถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ
จำต้องยุติลงเนื่องจากต้องเดินทางกลับมาเยี่ยมคุณพ่อที่ป่วยที่เมืองไทย อันเป็นเหตุให้ต้องสละตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยท็อปเท็นอย่าง
UCLA
ดร.วีระชัย บอกว่า ตอนที่กลับมาเยี่ยมคุณพ่อ มีเหตุให้ได้พลคุณธนินทร์ เจียรวนนท์
แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีจึงชวนให้ไปทำงานด้วย ก็เลยตกลง เพื่อที่จะอยู่ดูแลคุณพ่อก่อนระยะหนึ่ง
ตั้งใจว่าจะทำแค่ปีเดียว แต่ก็อยู่ที่ซีพีถึง 4 ปี ในช่วงนั้นก็ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับคุณชาตรี
โสภณพนิช บิ๊กบอสของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กับธนาคารศรีนคร
ตามคำชักชวนของคุณวิเชียร เตชะไพบูลย์
นอกเหนือจากงานระดับชาติ ดร.วีระชัย ยังมีภารกิจส่วนตัวมากมาย
"ถ้าไม่ไหวจริง ๆ สำหรับงานที่ไม่มีเวลาให้ก็ต้องยอมให้มืออาชีพ หรือหาคนที่มีประสบการณ์
มีความสามารถมาทำแทน และเราคอยให้คำสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ โดยให้เกียรติเขาบริหารงานอย่างเต็มที่ไม่เข้าไปก้าวก่าย
อย่างเช่น ธุรกิจที่กำลังไปได้ดีอยู่ขณะนี้คือ การเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติรวมบัณฑิตที่พัทยา
ผมก็ได้เอาครูใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของอังกฤษมาดูแลแทน เพื่อดูแลบริหารงานโรงเรียนให้มีคุณภาพสูงสุด
โรงเรียนนานาชาติรวมบัณฑิต เปิดกิจการมากว่า 2 ปีแล้ว มีนักเรียนประจำกว่า
170 คน มีคุณครูชาวต่างชาติถึง 26 คน และจะขยายงานอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้"
สำหรับตำแหน่งทางสังคมก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งท้าทายอย่างการเป็นประธานโครงการรถไฟฟ้ามหานครคนที่สอง
(คนแรกคือ ดร.หิรัญ รดีศรี) หรือเป็นประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจของหอการค้าไทย
เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการร่วมพัฒนาภาครัฐและเอกขนหรือ กรอ.
ส่วนตำแหน่งใหม่ล่าสุดที่ ดร.วีระชัย กำลังตามฝันตัวเองว่าจะไปถึงดวงดาวหรือไม่นั้นก็คือ
ว่าที่ MD ของธนาคารทหารผ่านศึก ส่วนความฝันจะเป็นจริงหรือไม่คงจะต้องรอลุ้นกันต่อไป