ชุมพล ณ ลำเลียงกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย เคยพูดถึงศิษย์เก่า
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ที่โชคชะตาพัดพาให้มาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า
ค่อนข้างเป็นห่วงลูกน้องคนนี้ เพราะต้องไปอยู่ในองค์กรที่ต้องสู้รบปรบมืออย่างตลาดหลักทรัพย์อาจวางตัวลำบาก
แล้วมันก็เป็นอย่างที่ชุมพลห่วงจริง ๆ สิงห์นั่งเก้าอี้ เบอร์หนึ่งในตลาดหลักทรัพย์เพียงแค่
8 วัน ก็ทำเอาตลาดปั่นป่วนไปหมด ไม่ผิดอะไรกับฝูงแตนที่แตกฮือและพร้อมจะย้อนกลับมาสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามารุกรานบ้านเมือง
ผู้ที่เป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นตัวของสิงห์เอง ทุกคนคาดหวังให้เขามาเป็นผู้พิทักษ์ประโยชน์ของคนในตลาดหลักทรัพย์
แต่กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เขากล้าหาญเสนอเรื่องที่ sensitive อย่างยิ่ง
คือ สนับสนุนการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax)
ซึ่งเขาเห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลักลั่นของตลาดหลักทรัพย์ไทยมาตลอด
21 ปี แต่บังเอิญมาตรการนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของกลุ่มผลประโยชน์
ในตลาดหลักทรัพย์ ความปั่นป่วนจึงจบลงด้วยความชอกช้ำ สิงห์แถลงคำกล่าวขอโทษไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความเสียใจต่อการเสนอความเห็นในเรื่องนี้
ว่าไปแล้วสิงห์มีคุณสมบัติที่มีประโยชน์กับตลาดหลักทรัพย์ไทยหลายอย่าง เขาไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ในตลาด
จึงไม่ต้องพะวักหน้าพะวงหลัง โอกาสทำในสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ยังขาดอยู่จึงเป็นไปได้มาก
รวมถึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สิงห์คิดจะแก้ไขอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนโบรกเกอร์
ครึ่งแรกของชีวิตการทำงาน สิงห์ ใช้ไปกับงานราชการในกระทรวงการคลัง เขาหอบปริญญาโทบริหารธุรกิจสาขาการเงินการธนาคาร
จาก Wharton School Of Finance and Commerce University Of Pensylvania เข้ารับราชการในปี
2511 เป็นเศรษฐกรโท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับธนาคารแห่งประเทศไทย
ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการในปี 2523 คือ ผู้อำนวยการกองวางแผนการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในยุคที่บดี จุณณานนท์ ยังเป็น ผอ.สำนักงบประมาณ
ประสบการณ์ครึ่งหลังของชีวิตว่าไปแล้วมีส่วนเกี่ยวพันกับตลาดหลักทรัพย์อยู่บ้าง
ในมุมของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาด เขาลาออกจากคลังมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและวางแผน
บ.ปูนซิเมนต์ไทย อยู่พักหนึ่ง จึงย้ายมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บ.เยื่อกระดาษสยามในเครือปูนซิเมนต์ไทย
แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะหยั่งลึกถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของกลุ่มผลประโยชน
์ที่ก่อตัวอย่างต่อเนื่องยาวนานในตลาดหลักทรัพย์ ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา
ในระบบนิเวศน์ของตลาดหลักทรัพย์ วงจรชีวิตของกลุ่มต่าง ๆ ล้วนพึ่งพาอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก
กลุ่มแรก-นักลงทุนรายย่อย หรืออีกฉายาหนึ่งว่า "แมลงเม่า"
กลุ่มนี้เป็นประชากรหลัก (ร่วม 30-40% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด) อยู่กับการหาเช้ากินค่ำในตลาด
อยู่นาน ๆ ไปก็มีบ้างที่เผลอเข้าใจว่าเป็นเจ้าของตลาดหลักทรัพย์เสียเอง บางคราวถึงกับเคยเรียกร้องขอส่งตัวแทนรายย่อยเข้าไปเป็นกรรมการตลาดฯ
ก็มี
กลุ่มที่สอง นักลงทุนจากต่างประเทศ (มีสัดส่วนราว ๆ 30%) พวกนี้เหมือนนกอพยพ
ที่มองจากเบื้องสูง เมื่อเห็นว่าที่ใดอุดมสมบูรณ์ก็พร้อมจะปูพรมทุกเมื่อ
ใน Zero Sum Game อย่างตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีคนได้ต้องมีคนเสีย และเกือบจะทุกครั้งเหล่านกอพยพจากต่างแดนจะเป็นผู้ชนะ
ส่วนผู้แพ้ไม่ใช่ใครอื่นเหล่าแมลงเม่านั่นเอง
กลุ่มสุดท้าย นักลงทุนสถาบันของไทย กลุ่มนี้สวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งโบรกเกอร์
ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเป็นเจ้าของตลาดหลักทรัพย์โดยตรง ในฐานะสมาชิก ขณะเดียวกันส่วนใหญ่หากินโดยตรงกับกลุ่มแมลงเม่า
ด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมจากการสั่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โบรกเกอร์ที่เข้มแข็งยังขยายแขนขาไปถือหุ้นในบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ทำธุรกิจจัดการกองทุน
และอีกหลาย ๆ แห่ง
ยิ่งเดินมาถึงข้อต่อสำคัญของการพัฒนาในทศวรรษนี้ การต่อสู้เพื่ออยู่รอดก็เข้มข้นขึ้น
ภายใต้โครงสร้างที่ซับซ้อน กลุ่มต่าง ๆ ล้วนช่วงชิงโอกาสในการสร้างกติกาใหม่
เพื่อธำรงไว้ซึ่งอิทธิพลในแนวทางที่ตนได้เปรียบ เมื่อตกเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ทุกฝ่ายก็พร้อมจะใช้เหตุผลและวิธีการต่าง
ๆ ตอบโต้ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อระบบโดยรวมก็ตาม
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ อยู่ท่ามกลางการต่อสู้อันดุเดือด โดยเฉพาะในฤดูกาลอันแห้งแล้ง
ดัชนีตลาดหุ้นไทยไต่ระดับไม่พ้น 1,200 จุดอย่างนี้
ในสายตาของคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดหลักทรัพย์ อาจมองว่า เขาไม่ควรจะถูกบั่นทอนความมั่นใจจากการทำในสิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นเมื่อ
21 ปีที่แล้วเช่นนี้
ทว่า ในสายตาของกลุ่มผลประโยชน์ สิงห์ไม่ต่างอะไรกับปรปักษ์ที่แปลกปลอมเข้ามาในวงจรชีวิตพวกเขา
ที่เคยเสวยสุขอยู่กับสมดุลยอันเบี้ยวบูดของตลาดหลักทรัพย์ไทยมาช้านาน