การปฏิวัติในรอบ 60 ปีของไอบีเอ็ม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อไอบีเอ็มจะไม่มีผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า เมนเฟรม เอเอส 400 หรือ ริกส์ 6000 อีกต่อไป จะมีเพียงคำว่า e-server

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตมากแค่ไหน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองทะลุถึงโอกาส และจัดการกับสภาพแวดล้อมใหม่ ที่เกิดขึ้นนี้ได้ดีกว่ากัน

ไอบีเอ็ม ตั้งรับกับการมาของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ด้วยการวางทิศทางของการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการค้าในโลกของอินเทอร์เน็ต สร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ พัฒนาขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ แสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสามารถตอบสนองกับการค้าในยุคอีคอมเมิร์ซ และคำว่า e-business ก็คือ ผลิตผลที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ใหม่ ที่กลายเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของไอบีเอ็ม

แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการค้าโลกของ e-business ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ที่มีขีดความสามารถ ที่จะรับมือกับความซับซ้อนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปริมาณการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นหลายพันเท่า การเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายนอกได้แบบไร้ขีดจำกัด จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ ที่ตอบสนองได้ทั้งความจุของข้อมูล และความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล โดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องมาตรฐานของเทคโนโลยี ที่แตกต่างกันของระบบ หรือแม้แต่อุปกรณ์ปลายทางอย่างโทรศัพท์มือถือ เครื่องปาล์มทอป

" และนี่คือ เหตุผลที่เรามาแถลงข่าวในวันนี้" วนารักษ์ เอกชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศถึงทิศทางใหม่ของไอบีเอ็มพร้อมกับ 15 ประเทศไอบีเอ็มเรียกโครงการนี้ว่า March 1 ที่เกิดมาจากจากแนวคิดในการผสมผสานเทคโนโลยี และกระบวนการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนโครงสร้างของการเข้าสู่e-business

ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาไอบีเอ็มจะทุ่มเทให้กับการวิจัย และพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถให้กับผลิตภัณฑ์ ใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พัฒนาผลิตภัณฑใหม่ๆออกมาปีละ 2,000 ชนิด แต่ก็ยังไม่พอสำหรับการทำธุรกิจในยุค e-business ความซับซ้อนของธุรกิจ ที่มากขึ้น จำเป็นต้องอาศัย"วิธีการจัดการธุรกิจ"เข้าช่วย

และนี่ก็คือ เหตุผลที่ทำให้ ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ ที่คุ้นเคยกันมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเมนเฟรม หรือเครื่องระดับกลาง AS/400 หรือเครื่องระดับยูนิกส์ อย่าง ริกส์ 6000 จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อเรียกใหม่เหมือนกันว่า "IBM e-server"

ไอบีเอ็ม e-server ของไอบีเอ็ม จะถูกแบ่งแยกออกเป็นรุ่นตามลักษณะ และประเภทของการใช้งาน ธุรกิขนาดกลาง และเล็ก จะเป็นรุ่น i แต่หากเป็นรุ่น z ย่อมาจากคำว่า zero down time เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่องรับจำนวนธุรกิจ และข้อมูลอย่างมหาศาล เครื่องในรุ่นนี้จะมาจากตระกูลเมนเฟรมแบบเดิม

ส่วนรุ่น t ใช้เทคนิคล้ำหน้า เน้นความทันสมัยของเทคโนโลยี ในขณะที่รุ่น x จะเหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็กใช้อินเทล ราคาย่อมเยา

"ต่อจากนี้ ลูกค้าจะไม่ต้องไปจำว่า จะซื้อเครื่อง เมนเฟรม AS/400 หรือ ริกส์ 6000 อีกต่อไป จะมีเฉพาะไอบีเอ็ม e-server เท่านั้น และเขาจะเลือกซื้อตามปริมาณงาน ที่เขาต้องการ" วนารักษ์ อธิบาย

แน่นอนว่า การเปลียนแปลงชื่อยี่ห้อ (re-brand) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีของไอบีเอ็ม ไม่ใช่เพื่อสร้างความโดดเด่นในยุคสมัยของอีบิสซิเนส หรือการประหยัดงบโฆษณา และการตลาดจากการโปรโมทยี่ห้อสินค้าเดียว

่เหตุผลที่มากไปกว่านั้น พัฒนาการของเทคโนโลยี บวกกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาจะรู้แต่เพียงว่า ความต้องการคืออะไร ไม่รับรู้ว่าจะต้องเป็นเครื่องเมนเฟรม หรือมินิ หรือพีซี ขอแต่เพียงว่าตอบสนองความต้องการได้ในราคาที่เหมาะสม และนี่ก็คือโจทย์ของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์

ตลอด 2 ปีมานี้ ไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างระบบ อี-บิสซิเนส ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ทองแดง ที่ใช้ได้กับเครื่องระดับยูนิกส์ และเอเอส 400 หรือ การสนับสนุนระบบปฏิบัติการใหม่ๆ อย่างลีนุกซ์ รวมทั้งการเปิดตัวสถาปัตยกรรม ที่เป็นการนำเทคโนโลยีเมนเฟรมเข้ามาไว้ใน เซิฟเวอร์ของเครื่องพีซี ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่โลกใหม่ วิธีคิดแบบใหม่

ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของคำว่า e-business แต่ไอบีเอ็ม ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในสนามนี้ ซันไมโครซิสเต็มส์ คอมแพค เดลล์ ออราเคิล ซิสโก้ซิสเต็มส์ เป็นคู่แข่ง ที่เติบโตและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ความคาดหวังของไอบีเอ็ม ที่จะได้รับจากยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ก็คือ การที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่อยู่ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี ไอบีเอ็มจะยุบโรงงานที่มีอยู่หลายแห่ง เหลืออยู่เพียงแค่โรงงานเดียว

ผลที่ตามมา นอกเหนือจากความ "ง่าย" ระยะเวลาที่สั้นลง และต้นทุนที่ถูกลงของลูกค้า ในการที่จะได้รับจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ที่จะได้จากการปฏิวัติธุรกิจกระบวนการธุรกิจใหม่ ที่ไอบีเอ็มคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.