"กองทุนฟื้นฟูฯ จะยุบทิ้งหรือรอเวลาฟื้นฟูตัวเอง?"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงินเป็นเครื่องมือของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะยุคผู้ว่าวิจิตร กองทุนถูกพันเข้าไปสู่วัฏจักรการเมืองและอำนาจอย่างหลีกไม่พ้น ขณะที่สถาบันการเงินอื่น ๆ ไม่พอใจมากยิ่งขึ้นที่ถูกระดมเงินไปอุดรอยรั่วที่ไม่น่าจะทำ บทบาทของกองทุนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นในหลายกรณีที่เลือกปฏิบัติต่อสถาบันที่เข้าไปถือหุ้น ถึงเวลาต้องมาทบทวนอนาคตของกองทุนแห่งนี้ให้ถึงแก่นแล้วกระมัง!?

ตั้งกองทุนมาสิบปีเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนมา 7 คนแล้ว ที่นี่ใช้ผู้จัดการเปลือง" สว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินคนล่าสุดเล่าให้ฟัง

น่าสังเกตว่าเจ็ดคนดังกล่าวล้วนแล้วแต่เคยผ่านฝ่ายวิชาการและฝ่ายกำกับและตรวจสอบมาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟ ูและพัฒนาสถาบันการเงินคนแรก นภพร เรืองสกุล อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน ขณะที่อดีตฝ่ายวิชาการก็มี ดร. ศิริ การเจริญดี ดร. เกลียวทอง เหตระกูลและสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ โดยเฉพาะสุภาพสตรีสองคนหลังเคยเป็นลูกน้องผู้ว่าการธนาคารชาติ วิจิตร สุพินิจมาก่อน (ดูตาราง 7 ผู้จัดการกองทุน)

ที่พิเศษคือสว่างจิตต์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อการฟื้นฟ ูและพัฒนาสถาบันการเงินเป็นสมัยที่สอง หลังจากมีผลงานเข้าตากรรมการในสมัยแรกสามารถแก้ไขปัญหาบริษัทเงินทุนเอฟ ซีไอ ของคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์จนกระทั่งได้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมเข้าร่วม

"ดิฉันเป็นผู้อาวุโสคนเดียวที่ย้ายแล้วกลับมาใหม่ และอาจจะเป็นจังหวะที่มาทีไรมีข่าวดังทุกที เช่นปลายปี 35 ก็มีกรณีวิกฤตบริษัทเงินทุนเอฟซีไอ พอมาครั้งนี้ก็มีเรื่องธนาคารบีบีซี ก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ค่อยเก็บเนื้อเก็บตัวไป" สว่างจิตต์ ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเล่าให้ฟัง

เมื่อกองทุนช้า-พลาดท่าบีบีซี
"เขาโกหกผม" น้อยครั้งที่เจ้าสัวพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงษ์จะพูดโพล่งออกมาต่อสาธารณชนแต่คงเป็นอะไรที่เหลืออดจริง ๆ ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การสิ้นสุดลงได้ผลผิดจากข้อตกลงที่ "เขาผู้ทรงอิทธิพลคนนั้น" ได้รับปากไว้ว่ากรรมการใหม่ จะต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มตันติพิพัฒน์พงษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่แต่พลิกล็อคกลายเป็น ม.ร.ว. ดำรงเดช ดิศกุล และ ม.ร.ว. ดำรงเดช ดิศกุล และ ม.ร.ว. อรอนงค์ เทพาคำไป

เรื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อวันประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ 26 เมษายนที่ผ่านมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินตายน้ำตื้น เสียท่ากลุ่มเกริกเกียรติที่กุมอำนาจต่อโดยมีกรรมการ 11 คนจาก 15 คน ในขณะที่ธนาคารชาติคุมแค่ 3 เสียงเท่าเดิม ทำให้แผนการฟื้นฟูบีบีซีต้องล่าช้าไปอีกจากเดิมที่นับว่าช้ามาก

ความล่าช้าของแบงก์ชาติในการแก้ปัญหาที่ตรวจเจอตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบันที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ วิจิตร สุพินิจได้ใช้อำนาจสั่งการตามมาตรา 24 ทวิ. ทั้งหมดถึง 5 ครั้งทักท้วงให้รับเร่งแก้ไขปัญหาแต่คำสั่งไม่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเด็ดขาดเหมือนกรณี บง. เอฟซีไอ โดยผู้ว่าการวิจิตรมักอ้างว่ากลุ่มเกริกเกียรติให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหา แต่ความจริงกลุ่มนี้กลับปกปิดหนี้เสียที่เพิ่มพูนจากสินเชื่อด้อยคุณภาพไม่ต่ำกว่า 77,968 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้สูญ 19 ล้านบาทหนี้จัดชั้นสงสัย 19,730 ล้านบาท หนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน 25,931 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อเทคโอเวอร์มีความเสี่ยงสูง 32,688 ล้านบาท

"ก็คงไม่มีปัญหาเมื่อถึงจุดนี้ แต่ตอนนั้นมีอะไรที่เข้าใจผิดกันนิดหน่อยกลายเป็นปัญหาใหญ่โตที่ว่า กองทุนไม่ไปทำให้เป็น 42% จริง ๆ ตรงนั้นเราไม่มีส่วนเลย" เสียงปฏิเสธของผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน

กรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การถือเป็นกรณีแก้ไขปัญหาสไตล์ซอฟท์แลนดิ้งของผู้ว่าการวิจิตร ที่ประเมินสถานการณ์และคนว่าควบคุมได้ จนกระทั่งเกิดกระบวนข่าวการเปิดโปงสายสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ระหว่างผู้ว่าการวิจิตรกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยเฉพาะมีหลักฐานผู้ว่าการวิจิตรกู้เงินโอดีวงเงิน 5 ล้านบาทจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

ข่าวนี้ดีสเครดิตผู้ว่าการธนาคารชาติอย่างแรงพอ ๆ กับการซื้อหุ้น บงล. นครหลวงเครดิตในราคาพาร์ นับว่าเป็นเรื่องหนักใจที่ประธานกองทุนอย่างผู้ว่าวิจิตรต้องพยายามอย่างหนัก ที่จะต้องฟื้นฟูภาพพจน์ตัวเองให้มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมือสะอาดก่อนผ่าตัดคนอื่น

แต่ผู้ว่าการวิจิตรยืนยันถือเป็นเรื่องปกติไม่ผิดจรรยาบรรณเพราะลงทุนอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบข้อมูลได้

"การลงทุนของผมอยู่ภายใต้ระเบียบปฏิบัติฉบับนี้" ฉบับที่ผู้ว่าวิจิตรอ้างคือคำสั่ง ธปท. ฉบับที่ 7/2533 ที่กำหนดเงื่อนไขถือหุ้นจดทะเบียนต้องลงทุนระยะยาวและชอบธรรม

กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้เสียแล้ว ผู้ว่าการวิจิตรจึงต้องอดทนต่อกระแสกดดันทางการเมืองเร่งปลดชนวนระเบิดจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การก่อนที่ตัวเองจะถูกปลด

"จริง ๆ กองทุนเรามีผู้แทนไปบริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ คือคุณชูศรี แดงประไพ ผู้ช่วยผู้ว่าการคือท่านจะประสานกับฝ่ายกำกับ และตรวจสอบคือขณะนี้ทางฝ่ายจัดการกองทุนไม่ได้เข้าไปร่วมเรื่องบริหารแก้ไขปัญหา ขณะนี้เราทำแค่เอาเงินเข้า และมีตัวแทนก็ซึ่งผู้ช่วยฯ ชูศรีประสานงานกับฝ่ายกำกับและตรวจสอบในการแก้ไขปัญหา และถ้ามีกรรมการผู้อำนวยการอีกคนไปช่วยเสริมให้แก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นกองทุนฯ จึงเป็นทัพเสริมในแง่ของเงินทุน" ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเล่าให้ฟัง

ตั้งแต่กลางปี 2538 หลังจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน พบว่าทุก ๆ อาทิตย์ธนาคารชาติได้ "ทักท้วง" เรื่องปล่อยสินเชื่อรายใหญ่และเพิ่มทุนตลอดแต่ไม่มีผลเชิงปฏิบัติเด็ดขาด

จนกระทั่งแรงกดดันทางการเมืองได้บีบให้อดีต รมว. คลังสุรเกียรติ์ต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมตามข้อเสนอของหม่อมเต่า โดยมีพชร อิศรเสนา ณ อยุธยาเป็นประธานคณะกรรมการควบคุม ผู้มีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหาบีบีซี-ปลดเกริกเกียรติเมื่อไม่มาเคลียร์ตามนัด

หลังจากที่แผนการปลดสุรเกียรต์ เสถียรไทยขณะที่ลาพักร้อนที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมแล้ว บรรหารได้แต่งตั้งบดี จุณนานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแทนแผนสองของบรรหาร คือการปลดผู้ว่าการวิจิตรอย่างสมเหตุสมผล เพียงแต่รอคนใหม่ที่ทาบทามไว้ คาดว่าแคนดิเดทคนสำคัญนั้นจะเป็นโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตที่ปรึกษาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และกรรมการบริหารแบงก์กรุงเทพในปัจจุบัน

ล่าสุดเงินทุนที่ธนาคารชาติเสริมสภาพคล่องให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและบริษัทในเครือกว่า 25,000 ล้านบาทผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเข้าไป หลังจากธนาคารพาณิชย์ต่างไม่กล้าเสี่ยงปล่อยกู้ให้โดยไม่มีใครค้ำประกัน ยกเว้นธนาคารมหานครของเจริญ สิริวัฒนภักดีที่ให้ความร่วมมือปล่อยกู้ให้บ้าง ซึ่งสร้างความพอใจให้กับผู้ว่าการวิจิตรพอควร

ในการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซีจำนวน 500 ล้านหุ้นเมื่อวันที่ 16-22 เมษายนที่ผ่านมา เจริญ สิริวัฒนภักดีได้รุกซื้อหุ้นบีบีซีเพิ่มจาก 5% เป็น 10% ในช่วงราคาตกต่ำประมาณ 16-17 บาทเศษ เพราะเห็นว่าน่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีในอนาคต หลังจากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินส่งคนเข้าร่วมบริหารและผ่าตัดโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่ แต่วัตถุประสงค์การซื้อหุ้นเจริญต่างกับกลุ่มตันติพิพัฒน์พงษ์ ตรงที่เจริญลงทุนแบบซื้อมาขายไป ขณะที่กลุ่มหลังหวังแป็นกรรมการร่วมบริหารธนาคาร

เบื้องหลังขายหุ้นมหานครและ SCIB กองทุนกระเป๋าแฟบ-มีแต่ที่ดิน

เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกิจการสุรามหาราษฎรและธนาคารมหานคร เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่นิยมเก็บซื้อหุ้นธนาคารเล็กธนาคารน้อยไว้โดยเฉพาะกลยุทธ์ลงทุนในธนาคารที่มีกองทุน เพื่อการฟื้นฟูเข้าไปเพราะเจริญอาจถือว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงินคือดัชนีชี้ขุมทรัพย์ ซึ่งเจริญก็ได้เม็ดเงินกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการลงทุนซื้อหุ้นธนาคารที่กองทุนอุ้มทั้ง 5 ธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารมหานครที่เจริญร่วมกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟ ูและพัฒนาสถาบันการเงิน หุ้นธนาคารนครหลวงไทย หุ้นธนาคารเอเชีย หุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและหุ้นธนาคารกรุงไทย

"คุณเจริญท่านเข้าร่วมช่วยกันกับกองทุนแก้ปัญหาธนาคารมหานคร ณ จุดที่เข้ามาฟื้นฟู คุณเจริญเขามีฐานธุรกิจที่จะช่วยให้สินเชื่อมีคุณภาพ ตอนนี้ผลดำเนินงานดีมาก จ่ายปันผลในอัตราสูง" ผู้จัดการกองทุนเล่าให้ฟัง

ล่าสุดหุ้นธนาคารมหานครที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินถืออยู่ 15.25% จะขายให้สำนักงานทรัพย์สินในราคา 8.50 บาทนั้นก็ยังค้างคากันอยู่เพราะเงื่อนไขเกี่ยวกับการขายคืนก่อน 5 ปียังไม่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ก็ยืนยันว่าเป็นการลงทุนระยะยาว หากจะขายคืนก็จะขายแก่กองทุน เพื่อการฟื้นฟ ูและพัฒนาสถาบันการเงินในราคาที่ซื้อมารวมเงินที่ สนง. ทรัพย์สินจะซื้อก็ประมาณ 2,600 ล้านบาท แต่ถ้าเปิดประมูลขายในราคาตลาดดีสเคานท์ 30% ขณะนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินจะมีเงินเข้ามาเพิ่มอีก 3 พันกว่าล้านบาท

"มีเหตุผลอะไรที่กองทุนจะต้องขายให้ในราคา 8.50 บาท ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราถือต่อไปเราจะได้รับเงินปันผลจากธนาคารมหานครถึง 400 ล้านบาทอยู่แล้ว" แหล่งข่าวในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินกล่าว

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่คาดว่าประธานกองทุนอย่างผู้ว่าการวิจิตรตัดสินใจขายหุ้นธนาคารมหานครแก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในราคาต่ำน่าจะมาจากปีกาญจนภิเษกเฉลิมฉลองในหลวงครองราชย์ 50 ปี

ผู้ว่าการวิจิตรคงเล็งเห็นแล้วไม่มีจังหวะเวลาใดที่เหมาะสมมากเท่าวโรกาสครั้งนี้แล้ว สอดคล้องกับการปรับภาพพจน์ในสถานการณ์กดดันให้ตนเองต้องลาออกด้วย

สำหรับหุ้นธนาคารนครหลวงไทยที่กองทุนถืออยู่ 8.54% และผู้บริหารได้คืนซอฟท์โลนแก่ธนาคารชาติก่อนกำหนดชำระไปต้องแต่ต้นปีที่แล้ว คาดว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินจะทะยอยขายหลังธนาคารกรุงไทย เพื่อระดมเงินทุนมาช่วยกอบกู้ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ

"ตั้งแต่เราเข้าไปช่วยซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เราก็ต้องมีสภาพคล่องส่วนหนึ่ง ที่เราเตรียมไว้เป็นเงินส่วนหนึ่งที่มาจากสินทรัพย์หมุนเวียนของเรา เพราะว่าสินทรัพย์อื่น ๆ มันเป็นรูปหุ้นธนาคารที่เรามี ณ จุดนี้มีแนวโน้มที่จะต้องขายหุ้นออกไปบ้าง เพราะที่ดินขายได้ยากขณะนี้" สว่างจิตต์เล่าให้ฟัง

ตามกฎหมายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสามารถระดมเงินทุนได้โดยการออกพันธบัตรซึ่งสามารถนำมากู้ยืมในตลาดอาร์/พีได ้และเป็นที่ต้องการของตลาดเงิน ซึ่งแนวคิดนี้จรุง หนูขวัญ รองผู้ว่าการกล่าวว่าอยู่ในขั้นศึกษาความเป็นไปได้

"ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการออกพันธบัตรมันมีแต่ต้นทุน ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เราจะไม่ทำ แต่ต่อไปถ้าหากเราหมดหนทางจริง ๆ เราอาจจะมาบริหารเงินโดยออกพันธบัตรต่อไป" ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเล่าให้ฟัง

ขายเอราวัณทรัสต์ งานสุดท้ายในโครงการ 4 เมษา

จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินฯ ผู้ว่าการวิจิตรในฐานะประธานได้อนุมัติแนวทางขายหุ้นสถาบันการเงินที่กองทุนถือหุ้นอยู่
กลุ่มสถาบันการเงินที่กองทุนขายโดยวิธีเปิดประมูลซึ่งไล่ราคาหุ้นในกระดานให้สูงขึ้น ได้แก่ ธนาคารเอเชียที่กองทุนได้เปิดประมูลขายหุ้น 15% หมด โดยกลุ่มเอกธนกิจได้ชัยชนะไป ขณะที่หุ้นธนาคารกรุงไทยนั้นทางกลุ่มภัทรธนกิจประมูลได้ไป

"ตอนที่กลุ่มเอกธนกิจประมูลชนะโดยหลักการแล้วเราพยายามมิให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามา เพราะไม่อยากให้กระทบการบริหารของกลุ่มเดิมเขา โดยเราตั้งเกณฑ์แยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ แต่ปรากฏว่าเขาไปถือในนามคนนั้นคนนี้ แต่ตรงนั้นเรามีเงื่อนไข SIENT PERIOD ว่าจะขายหุ้นไม่ได้เป็นเดือน" ผู้จัดการกองทุนฯ เล่าให้ฟัง

สำหรับ บงล. ไอทีเอฟ ซึ่งกลุ่มกฤษดามหานครชนะการประมูลไปตั้งแต่ปี 2535 ส่วน บงล. ธนไทยและ บงล. เอกชาติขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมหลังจากคืนซอฟท์โลนให้ธนาคารชาติ และตัดบัญชีขาดทุนสะสมหมด ปัจจุบันกองทุนถืออยู่ 2.85% ในธนไทย ส่วน บงล. นิธิภัทรขายคืนกลุ่มเดิม 19.23%

ล่าสุด บง. ทรัพย์ทวีทรัสต์ขายให้แก่กลุ่มเหตระกูล 800 ล้านบาท สำหรับ บง. เอราวัณทรัสต์ กองทุนแบกรับภาระที่ดินไว้แล้วขายใบอนุญาตให้กลุ่มดาราเหนือของประภาส อดิสยเทพกุล ผู้มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนายพลผู้มีอิทธิพล ประภาสเป็นเจ้าของอาณาจักรการค้ากลุ่มทีไอพี และบริษัทดาราเหนือ

"การที่เราเข้าไปประมูลได้ เพราะเห็นว่าเป็นทรัสต์ขนาดกลางพอดี และช่วง 2-3 ปีนี้เราขยายตัวสูง ถ้าเรามีไฟแนนซ์ของตัวเองสักแห่งแล้วให้มืออาชีพทำ ก็ถือว่าเป็นฐานธุรกิจ ส่วนที่ทีไอพีให้ดาราเหนือเข้าไปแทน เพราะราคาประมูลที่ทีไอพีเสนอนั้นสูงเกินไป ในเมื่อทีไอพีมีหุ้นในดาราเหนือแล้ว ทำไมทีไอพีถึงจะต้องเป็นเจ้าของทรัสต์แต่เพียงผู้เดียว เราจึงให้บริษัทมหาชนอย่างดาราเหนือเข้าไป เพราะเพิ่มทุนได้และทำวอร์แรนซ์หาเงินได้ ถ้าไม่พอดาราเหนือยังมีที่ดินอีกมาก ตอนนี้เราไม่รีบเพราะเอราวัณทรัสต์ถือเป็นการลงทุนระยะยาว 10 ปี" ประภาสเล่าให้ฟัง

ปัจจุบันสถาบันการเงินเจ้าปัญหาดังกล่าวก็ดำเนินธุรกิจแบบช่วยตัวเองได้แต่มีบางกรณีไอทีเอฟร้องขอให้กองทุน เพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องเงินทุนตอนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เอฟซีไอ ส่วนกรณีกลุ่มเอกธนกิจประมูลหุ้นธนาคารเอเชียไปได้ แต่เข้าไปไม่นาน ผู้ถือหุ้นเก่าหวาดระแวงและเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มใหม่ ตรงนี้จึงเป็นข้อที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินพยายามมิให้เกิดโดยตั้งเงื่อนไขผู้ประมูล และมีเงื่อนเวลาที่ห้ามซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนด


ฟ้องกองทุนฯ 29 ล้านคดีเอฟซีไอ

"ตอนที่ขาย เราประกาศหลักเกณฑ์ว่า ผู้ถือหุ้นเดิมต้องมาใช้สิทธิ์ตามช่วงเวลานั้น ๆ แต่เรามีข้อยกเว้นว่าจะไม่ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของกิจการเดิมหรือกลุ่มรัตตะไพทูรย์ เพราะผู้ถือหุ้นที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับผู้บริหารเดิม เราตัดสิทธิ์ตั้งแต่แรกแล้ว" สว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนแห่งแบงก์ชาติเล่าให้ฟังถึงมาตรการฟื้นฟูบริษัทเงินทุนเอฟซีไอของคุณหญิงพัชรี และวีระนนท์ ว่องไพฑูรย์

เผอิญหุ้นของเกริกชัย ซอโสตถิกุลซึ่งขณะนี้เป็นโจทย์ฟ้องกองทุนฟื้นฟูเรียกเงินค่าเสียหาย 29 ล้านบาทจากการถูกกองทุนฯ ตัดสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ 9 แสนหุ้นเพราะชื่อของเกริกชัยอยู่ในบัญชีดำกลุ่มบริษัทของคุณหญิงพัชรี คือบริษัทรัตตะไพทูรย์ ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จึงตัดสิทธิ์ไปแต่เหตุผลของเกริกชัยอ้างว่าได้ถือหุ้นเอฟฟีไอ 6.5 ล้านหุ้นโดยถูกต้องแล้วนำเอาหุ้นเอฟซีไอไปวางค้ำประกันเงินกู้จาก บงล. ไทยรุ่งเรืองทรัสต์และศรีมิตร แต่ตอนที่เกริกชัยไปวางค้ำนั้น ไม่ได้โอนชื่อเป็นของตนเอง หุ้นจึงติดอยู่ที่บริษัทรัตตะไพฑูรย์ซึ่งพัวพันกับคดีปั่นหุ้นอย่างแรง

"ตอนที่เราขายคืนให้สิทธิ์กับผู้ถือหุ้นรายย่อย เราตัดพวกนี้ไปแล้ว ไม่ได้เอามารวมด้วย เหลือเท่าไรก็เอามากระจายให้ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ ดังนั้นหุ้นของคุณเกริกชัยจึงถูกตัดไปตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เขาไม่ดูแลสิทธิ์ของตนเอง ทำไมไม่โอนเข้าชื่อตัวเองให้เรียบร้อย เขาจะมาอ้างว่าเขาไม่ทราบว่าจะเกิดเรื่องนี้ไม่ได้" ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเล่าให้ฟัง

ดังนั้นสิทธิ์ที่เกริกชัยฟ้องจึงเกิดขึ้นหลังจากทุกอย่างจบลงไปแล้ว เกมนี้เกริกชัยจึงต้องไล่เบี้ยไปฟ้องไทยรุ่งเรืองทรัสต์ด้วยกับพวกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า ทำไมไม่โอนเข้าชื่อที่เขาเป็นเจ้าของหุ้น เป็นลักษณะโอนลอยไว้ พอมาโยงถึงการขอใช้สิทธิซื้อหุ้นจากกองทุนจึงไม่ได้ เพราะว่าชื่อของเกริกชัยถูกตัดสิทธิ์ตั้งแต่แรกแล้ว

ความจริง ก่อนหน้าที่เกริกชัยนั้นมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เสียหายฟ้องกองทุนฟื้นฟูแล้วชนะ โดยกลุ่มคน 6-7 คนอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้นซึ่งเจ้าหน้าที่กองทุนฟี้นฟูมองว่าพวกนี้ทำความเสียหายให้กับการลงทุน แต่เหมือนปาฎิหารย์ ปรากฏว่าทางกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ทบทวนพิจารณาดูแล้วว่า ไม่ได้เข้าเกณฑ์ตัดสิทธิ์จึงยอมให้สิทธิ์ซื้อจากกองทุนฟื้นฟูไปได้

"คุณเกริกชัยคงเห็นว่ากลุ่มนี้ฟ้องแล้วได้สิทธิ์ เขาจึงฟ้องบ้าง แต่เขาไม่ได้ไปดูว่า เขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัตตะไพฑูรย์ซึ่งเป็นผู้บริหารเดิมของเอฟซีไอ ตรงนี้จะมาอ้างสิทธิ์ก็ไม่ได้" ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูกล่าว

ขณะที่คดีดำเนินไป การติดตามทวงหนี้สินมูลค่า 4 พันล้านบาทจากผู้บริหารเดิมของเอฟซีไอก็ยังเป็นภารกิจหลักของกองทุนฟื้นฟู เพราะปรากฏว่างวดเงินนำส่งจำนวน 600 ล้านบาทนั้นขาดการชำระไปตั้งแต่สองปีที่แล้ว

"คุณหญิงพัชรีและสามีคุณวีรศักดิ์ (ป่วยหนักเป็นอัมพาต) ขณะนี้ก็ขอผ่อนผันชำระหนี้มูลค่า 4 พันกว่าล้านบาท ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5 พันกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลทรัพย์สินเช่นที่ดินที่เชียงรายซึ่งต้องตีรั้วกันการบุกรุก ตอนนี้เราคงไม่ถึงขั้นต้องฟ้องล้มละลาย ทางคุณหญิงพัชรีก็มีติดต่อมาบ้าง" สว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนของแบงก์ชาติเล่าให้ฟัง

ใช่หรือไม่งานกองทุนฯ แค่ "เสมียน"?

ฐานะของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นนิติบุคคลในธนาคารชาติ ที่มีคณะกรรมการจัดการกองทุน ประกอบด้วยผู้ว่าการวิจิตร สุพินิจเป็นประธาน และหม่อมเต่า ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุลเป็นรองประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 6 ท่านเป็นกรรมการด้วย โดยสว่างจิตต์เป็นเลขานุการ

สำหรับหน่วยงานเล็ก ๆ แต่ทรงพลังเงียบ ๆ ในแต่ละครั้งที่มีข่าวการเข้าไปแก้ไขวิกฤตการณ์สถาบันการเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนของนายธนาคารพาณิชย์ทั่วไปน่าจะมีศักดิ์ศรีและอิสรภาพมากกว่านี้แทนที่จะเป็นแค่เพียง "งานเสมียน" ที่แล้วแต่เจ้านายจะต้องการอย่างไร และผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินก็กินตำแหน่งเทียบเท่ารองผู้อำนวยการฝ่ายเท่านั้น เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ที่อยู่ชั้นล่างของธนาคารชาติ ทำหน้าที่เป็นฟูกไว้รองรับทรัสต์ล้มธนาคารล้ม รับกระเป๋าซ้ายจากการเรียกเก็บสถาบันการเงินร้อยละ 0.1% ของยอดเงินฝาก แล้วจ่ายกระเป๋าขวาแก่สถาบันที่มีปัญหาเสียหายหนัก

แหล่งที่มาของเงินกองทุนก็เรียกเก็บสะสมจากธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่ง ธนาคารต่างชาติ 14 แห่ง บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 91 แห่ง บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 14 แห่ง

เงินทองที่ไหลเข้า-ออกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินในสิบปีเพิ่งจะมีการแง้มตัวเลขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สาธารณชนทราบว่า มีเงินที่เก็บได้จากสถาบันการเงิน 13,561 ล้านบาท เงินสมทบธนาคารชาติ 3,000 ล้านบาทและเงินสำรองเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน 11,221 ล้านบาท และกำไรสะสม 1,132 ล้านบาทรวมแล้วเมื่อสิ้นปี 2537 กองทุนมีเงินสะสมทั้งหมด 28,914 ล้านบาทซึ่งเทียบสัดส่วนเงินกองทุนดังกล่าวกับเงินฝากและเงินกู้ยืมทั้งระบบจะเท่ากับ 0.778%

"เมื่อใดที่เรามีหลักประกันขนาดเงินกองทุนใกล้เคียงเป้าหมาย 1% ของเงินฝากเมื่อนั้นทางคณะกรรมการจัดการกองทุนก็คงพิจารณาข้อเรียกร้องของสถาบันการเงินที่ขอลดเงินนำส่ง หรือจ่ายตามอัตราเสี่ยงมากน้อยของแต่ละแห่ง แต่ ณ จุดนี้ยังมีความจำเป็นอยู่ เรามีภาระที่ต้องช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหา" ผู้จัดการกองทุนกล่าว

ที่ผ่านมาในรอบสิบปี กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินต้องเข้าไปพยุงฐานะธนาคารที่อาการร่อแร่ถึง 6 ธนาคารจากจำนวนธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 15 ธนาคาร นับตั้งแต่ธนาคารเอเชียทรัสต์ ธนาคารมหานคร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารเอเชียและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

ส่วนใหญ่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินใช้วิธีการเพิ่มทุนและให้กู้ยืมโดยมีหลักประกันแก่ธนาคารสยามและธนาคารนครหลวงไทย ส่วนธนาคารมหานครที่ขาดสภาพคล่องก็ช่วยโดยฝากเงิน

นอกจากนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินยังอุ้มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน และเครดิตฟองซิเอร์รวม 18 บริษัท (ดูตารางสถาบันการเงินที่กองทุนอุ้ม) ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในโครงการ 4 เมษา 2527 แต่ที่หนักหนาสาหัสถึงขั้นเพิกถอนมีอีก 4 บริษัท ที่กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินต้องรับภาระจ่ายเงินคืนผู้ฝาก 240 รายเป็นเงิน 129.4 ล้านบาท

ไม่เคยปรากฎตัวเลขผลดำเนินงานกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอย่างเปิดเผย จนเกิดข้อเรียกร้องจากสมาคมธนาคารไทยโดย ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ต้นความคิดเรื่องสถาบันประกันเงินฝากตั้งแต่ทำงานอยู่ธนาคารชาติก็ออกมาเรียกร้องให้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินควรจะถึงยุคโปร่งใสได้แล้ว พร้อมกับเสนอตัวแทนสมาคมธนาคารไทยร่วมเป็นกรรมการด้วย และกำหนดอัตราเงินนำส่งตามอัตราเสี่ยงของแต่ละธนาคารแทนที่จะเหมารวมเก็บแห่งละ 0.1%ที่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ และที่สำคัญเงินกำไรหดหายเพราะเงินนำส่งที่คิดจาก 0.1% ของเงินฝากธนาคารใหญ่อย่างเช่นธนาคารกรุงเทพก็ตกประมาณปีละ 700 ล้านบาทซึ่งแบ่งจ่ายสองงวดต่อปี

ความจริงตามกฎหมายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินสามารถจัดเก็บได้ถึง 0.5% แต่แค่นี้สถาบันการเงินก็โวยกันทุกครั้งที่ถูกบังคับ

"เขาโวยกันมาตลอดว่า เมื่อไหร่เราจะเลิกเก็บหรือจะลดให้เขา ตอนนี้เราเก็บอยู่ 0.1% เราบอกว่าลดไม่ได้เพราะมีภาระต้องช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหา" ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเล่าให้ฟัง

ตราบใดที่ธนาคารชาติยังยึดหลัก "ธนาคารล้มไม่ได้" ตราบนั้นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินก็ยังอยู่แต่ในอนาคตธนาคารล้ม-ทรัสต์ปิดอาจจะเกิดขึ้นทำความเสียหายแก่ระบบสถาบันการเงินที่มีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้นตามการเปิดเสรีทางการเงิน น่าจะมีการทบทวนใหม่เกี่ยวกับการบริหารบทบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินให้ทันกับยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ปี 2000 นี้

สถาบันประกันเงินฝาก จุดเปลี่ยนช่วยคนฝากเป็นหลัก

โฉมหน้าใหม่ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอาจเปลี่ยนไป เพื่อปรับให้ทันการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินล้มในปี 2000 เนื่องจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและธุรกรรมซับซ้อนมีความเสี่ยงสูงขึ้นขณะที่ผู้ฝากเงินต้องเสี่ยงมากขึ้น

เมืองไทยไม่เคยมีสถาบันประกันเงินฝากอย่างเป็นทางการมีแต่เพียงเสนอ "ร่าง พ.ร.บ. สถาบันประกันเงินฝาก " เข้าวาระการประชุมของรัฐสภาเมื่อปี 2524 ที่เป็นผลมาจากบริษัท ราชาเงินทุนล้ม แต่ฝันไม่เป็นจริง ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องตกไปเพราะงานสถาบันซ้ำซ้อนกับแบงก์ชาติ สถาบันการเงินไม่อยากเสียเงินและความหวาดระแวงของแบงก์และบริษัทเงินทุนที่กลัวว่าคู่แข่งที่อ่อนแอจะขยายตัวได้ เพราะความมั่นใจของผู้ฝากเงิน

ทศวรรษหน้าของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แบงก์ชาติต้องเลือกช่วยผู้ฝากเงินก่อนเพื่อหยุดยั้งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากการที่ผู้ฝากไม่ไว้ใจ ขณะเดียวกันสนับสนุนให้มีการออมทรัพย์มากขึ้น และต่อไปนี้แบงก์ชาติก็สามารถให้มีสถาบันการเงินใหม่ได้แล้วปล่อยให้สถาบันการเงินบางแห่งล้มถ้าแน่ใจว่าคนจำนวนมากจะได้รับเงินคืน เมื่อมีสถาบันประกันเงินฝากที่จะช่วยเหลือผุ้ฝากเงินเป็นหลัก แทนที่จะอัดฉีดเงินเป็นหมื่น ๆ ล้านพยุงฐานะสถาบันการเงินอย่างที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูถือเป็นภารกิจแรก

แต่ ณ เวลานี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูจะจำกัดบทบาทตัวเองเพียงแค่ "เสมียน" ที่รับ-จ่ายเงิน-และเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อีกไม่ได้แล้ว จำเป็นจะต้องฟื้นฟูพัฒนาตัวเองให้ก้าวสู่ความเป็นสถาบันประกันเงินฝากที่มีอำนาจหน้าที่ และอิสระในการบริหารกองทุนให้สามารถรองรับความเสี่ยงได้มากกว่าที่เคยเป็นมาในทศวรรษที่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.