บริษัทรับเหมาจ่อขึ้นค่าก่อสร้างหลังเจอพิษต้นทุนขนส่ง-แรงงานขยับ


ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

น้ำมัน-ดอกเบี้ยขึ้นปรับตัวแรง ส่งผลต้นทุนก่อสร้างพุ่ง บริษัทรับเหมาก่อสร้างสุดอั้นจ่อขอปรับขึ้นค่าก่อสร้างตามต้นทุน ด้านอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ชี้ก่อนหน้าผู้รับเหมาปรับราคาไประลอก 5-10% แล้ว คาดตลาดแข่งดุช่วงปลายปี เหตุจัดสรรเร่งระบายสต็อกหวั่นหนี้เงินกู้ท่วมบริษัท

การปรับตัวของราคาน้ำมันที่สูงอย่างเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี48เป็นต้นมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆต้อง วางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัย ต้องมานั่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้เห็นสัญญาณที่ชัดเจนถึง แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบที่ตลาดเวสต์เท็กซัล ณ วันที่ 21 เม.ย.2549 อยู่ที่ 75.34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (ช่วงต้นปีราคาน้ำมันในตลาดเวสต์เท็กซัลประมาณ 63-64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล)ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของภาครัฐบาลไทย และในรอบนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ต่างเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ สภาวะปัญหาจากการเมืองทำให้มีการชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูสถานการณ์ความชัดเจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการบ้านจัดสรรเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ที่ต้องรับแรงกดดันจาก 2 ด้าน ไม่ว่าในด้านต้นทุนค่าขนส่งและแรงงานที่เพิ่มขึ้น และต้องพยายามควบคุมต้นทุนเพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะของธุรกิจรับเหมา แต่จากการการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและดอกเบี้ยที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างพุ่ง จนทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องขอปรับขึ้นราคาค่าก่อสร้างและค่าขนส่งกับผู้ประกอบการบ้านจัดสรรเพิ่ม

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะ อุปนายก สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าขนส่ง ,อิฐ ,หิน ,ดินทราย ,ปูน และวัสุดก่อสร้างอื่นๆ มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมค่าขนส่งต่อเที่ยวอยู่ในระดับหลัก 100 บาท แต่ขณะนี้ราคาค่าขนส่งปรับขึ้นหลายร้อยบาท ในขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงานฝีมือก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลเข้มงวดเรื่องแรงงานต่างดาวน์ก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย เนื่องจาก การเข้มงวดดังกล่าวทำให้แรงงานที่มากจากประเทศเพื่อนบ้านหายไปส่วนหนึ่ง ประกอบกอบกับการก่อสร้างโครงการภาครัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดแรงงานจากภาคเอกชนไปจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่ม 5-10% จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างมีการขอปรับขึ้นค้าก่อสร้างและค่าขนส่งกับผู้ประกอบการบ้านจัดสรร 5-10% ซึ่งเมื่อคำนวณจากต้นทุนการก่อสร้างบ้านแล้ว ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง เพิ่มขึ้นประมาณ 2% ของราคาขายโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและดอกเบี้ย ส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างของผู้ประกอบการบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าในช่วงปลายปี2549-50นี้ ตลาดบ้านจัดสรรจะมีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพื่อระบายสต็อกบ้านเดิมของผู้ประกอบการ และในช่วงต่อไปฐานราคาบ้านจะมีการปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนค่าขนส่ง ค่าแรงงานฝีมือ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าปี2550 ซัปพลายบ้านจะลดจำนวนลง จากการชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ของผู้ประกอบการในระยะที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนซัปพลายที่มีอยู่ในตลาดก็ยังมีการระบายออกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการระบายออกจะลดลง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงปี48 จะมีอัตราการขออนุญาตจัดสรรเพิ่มสูงขึ้น แต่จำนวนการพัฒนาโครงการที่ออกมากับบมีจำนวนน้อย เนื่องจากการชะลอการซื้อที่เกิดขึ้น ทำให้ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่ยังไม่มีการพัฒนาออกมาสู่ตลาด ซึ่งสาเหตุที่ในปี48มีจำนวนการขออนุญาตจัดสรรเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการเลี่ยงผังเมืองใหม่ที่จะประกาศใช้ จึงมีการขออนุญาตจัดสรรไว้ก่อนล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงาน ในปัจจุบันราคาบ้านใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามต้นทุน และรูปแบบของโครงการ แต่ทางผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยบางส่วน ยังมีบ้านต้นทุนเดิมที่พอจะเสนอสินค้าให้แก่ลูกค้าในระดับต้นทุนเก่า ซึ่งจะช่วยสร้างยอดขายให้บริษัทๆมีรายได้เข้ามา ส่วนผู้บริโภคที่กำลังมองหาบ้านภายใต้รายได้ที่จำกัด และต้องการอยู่ใกล้แหล่งงานหรือใกล้ตัวเมืองนั้น ทรัพย์ประเภทบ้านมือสองที่อยู่ในตลาดหลายแสนหน่วย สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคที่จะพิจารณาตัดสินใจซื้อได้ และตามข้อมูลผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ในงานมหกรรมบ้านมือสอง 4 มุมเมืองที่ผ่านมา พบว่า ความต้องการบ้านมือสองระดับราคา1-3 ล้านบาทมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคในตลาดมีกำลังซื้อลดลง ไม่สามารถซื้อบ้านเดี่ยวมือหนึ่งได้ จึงหันมาซื้อบ้านเดี่ยวมือสองที่มีความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ใกล้เมือง นอกจากนี้ บริษัทตัวแทนนายหน้าได้พยายามที่จะชูกลยุทธ์บ้านมือสองพร้อมอยู่ โดยการปรับปรุงบ้านให้มีสภาพสวยงาม เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคให้เร็วขึ้น นอกเหนือจากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีของรัฐบาลที่จะสิ้นสุดปี 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.