"พระนครยนตรการ อนาคตในเงื้อมมือ "จีเอ็ม"

โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

น่าประหลาดใจมาก เมื่อผู้คนส่วนใหญ่มองว่า พระนครยนตรการของ 'บันเทิง จึงสงวนพรสุข' หมดโอกาสแล้ว ในทันทีที่จีเอ็มประกาศการลงทุนในไทย ทั้ง ๆ ที่ จีเอ็ม และพระนครยนตรการทำการค้าร่วมกันมากว่า 1 ทศวรรษ จีเอ็มยืนยันว่าบทบาทของคู่ค้าชาวไทยยังคงเดิม แต่จากผลงานที่ผ่านมา น้อยคนนักที่จะเชื่อว่าบรรเทิงจะยังคงสถานภาพเดิมไว้ได้ ไม่เพียงแต่การทำตลาดโอเปิลเท่านั้น ทั้งฮุนได และโรงงานประกอบรถยนต์ที่บรรเทิงมีอยู่ ล้วนอับจนในห้วงเวลานี้ ถ้าทุกวันนี้ การบริหารอยู่ในมือของเถ้าแก่อย่างเสี่ยเท้งเพียงลำพัง องค์กรแห่งนี้อาจหมดโอกาสไปจริง ๆ แต่เมื่อ 'ธวัชชัย' ทายาทคนสำคัญเริ่มโดดเด่นขึ้น โอกาสของที่นี่จึงพอมีอยู่บ้าง

"เราเปรียบเสมือนแม่ แม่ก็ต้องทนต่อลูก จะอดทนนานแค่ไหน อยู่ที่ว่าตราบใดที่ยังคุยกันได้รู้เรื่อง ก็คงต้องคุยกันต่อไป"

แอนดรู แอนเดอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฝ่ายกิจการเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวต่อ "ผู้จัดการ" เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีเอ็มกับพระนครยนตรการ

"อนาคตของพระนครยนตรการ" เป็นหัวข้อที่น่าสนใจขึ้นมาทันที เมื่อจีเอ็มตัดใจและประกาศอย่างเป็นทางการถึงการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งโอเปิลในประเทศไทยมูลค่าเฉียดสองหมื่นล้านบาท

มิเพียงแต่ อนาคตของพระนครยนตรการ ในฐานะดีลเลอร์หลักของจีเอ็มที่กลายมาเป็นความท้าทายหนึ่งที่มีสัญญาณบ่งบอกชัดเจนจากจีเอ็มว่าถึงเวลาต้องปรับปรุงตัวเองแล้วเท่านั้น

อีกสองธุรกิจหลักของเครือข่ายพระนครยนตรการ อย่างยูไนเต็ด โอโตเซลส์ (ประเทศไทย) ที่ทำการจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดจากเกาหลีใต้ ก็กำลังเข้าถึงจุดอับเมื่อจุดขายในอดีตที่ฮือฮา กลายเป็นจุดด้อยไปเสียแล้ว เมื่อยักษ์จากญี่ปุ่นเข้ามาเล่นสงครามราคาเต็มรูปแบบ

แถมโครงการใหญ่ที่วาดผันไว้กับฮุนไดแห่งเกาหลีใต้นั้น ก็ยังเชื่องช้าเต็มทีตามสไตล์ของเกาหลีที่กว่าจะตกลงได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ดูอย่างการติดต่อขอเป็นดีลเลอร์จำหน่ายฮุนไดในไทยนั้น บรรเทิงต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะได้มาทั้ง ๆ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นมาแล้ว

และทุกวันนี้ การประกอบฮุนไดในไทย ก็ดูจะเงียบเหงาเต็มทน วันหนึ่งประกอบไม่ถึง 10 คัน แผนการนำโมเดลใหม่อย่างแอคเซ้นท์เข้ามาประกอบก็ยังไม่คืบหน้า และถ้าไปดูสายการประกอบฮุนไดที่โรงงานบาซัน เยนเนอเรล เอเซมบลีทุกวันนี้ จะไม่เห็นเงาของวิศวกรชาวเกาหลีใต้แม้แต่คนเดียว จะอ้างว่าเพราะวิศวกรชาวไทยเรียนรู้งานจนหมดสิ้นแล้วแต่ก็นับว่าผิดวิสัย

ปัญหาในการหาทางออกของโรงงาน บางชันฯ เอง ที่กำลังถดถอยลงทุกวันเมื่อฮอนด้า ซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและลูกค้ารายใหญ่ กำลังทยอยรถยนต์นั่งฮอนด้าไปประกอบที่โรงงานของตนเองในสวนอุตสาหกรรมโรจนะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแน่นอนว่าฮอนด้าได้ตัดสินใจที่จะถอนหุ้นในทันทีที่มีโอกาส หรือการเจรจาเรื่องการขายหุ้นคืนเป็นที่ตกลงกันได้

ประการสำคัญโรงงานแห่งนี้เคยได้รับการเมียงมองทั้งจากจีเอ็มและฮุนได ก่อนหน้านี้ที่จะเข้ามาขยายบทบาท แต่เมื่อจีเอ็มประกาศโครงการยักษ์ขึ้นมา โรงงานแห่งนี้ก็เท่ากับหมดโอกาสแล้ว และฮุนไดเองก็เริ่มมีแนวโน้มว่าถ้าจะเข้ามาก็คงไม่ต่างจากจีเอ็มมากนัก คือโรงงานบางชันฯ คงไม่ใช่เป้าหมายที่วางไว้ทางออกของโรงงาน บางชันฯ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

ปัญหาใหญ่ที่รอการตัดสินใจและแก้ไขเหล่านี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าถึงวันนี้แล้ว บันเทิง จึงสงวนพรสุข ผู้มีอำนาจสูงสุดของขุมข่ายแห่งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดไปมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินธุรกิจ หรือว่า ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข ด้วยวิสัยทัศน์ของนักบริหารรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาสถานการณ์ได้ทันท่วงทีหรือไม่

"ถึงวันนี้ เสี่ยเท้งต้องกล้าที่จะรุกไปข้างหน้าแล้ว จะมัวหวังค้าขายไปวัน ๆ เหมือนเมื่อก่อนคงไม่ได้แล้ว" ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย กล่าวถึง บันเทิง ในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่มักจะไม่เสี่ยงหรือกล้าลงทุนเพื่อการขยายงานที่มุ่งหวังไปยังอนาคตมากนัก

"บางทีรู้ว่าจะวิ่งชนกำแพงก็ต้องถอยหลังมาก่อน" ผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับบรรเทิงมานานนับสิบปี กล่าวถึงเถ้าแก่ของตน

ราว 11 ปีมาแล้วที่พระนครยนตรการของบรรเทิง จึงสงวนพรสุข ได้เข้ามาเป็นคู่ค้ารถยนต์ในเครือของจีเอ็ม โดยรับหน้าที่ดูแลตลาดในประเทศไทย

ตลอด 11 ปีที่พระนครยนตรการจำหน่ายรถยนต์นั่งโอเปิลและโฮลเด้น ไม่ว่าจะทั้งจำหน่ายโดยการนำเข้าและทำการประกอบในประเทศไทย ยอดจำหน่ายนั้นดูเหมือนว่าแต่ละปีไร้ซึ่งอนาคตเต็มทีแม้จะกล่าวว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่มีส่วนทำให้ตลาดของโอเปิลและโฮลเด้นเติบโตได้ยาก แต่ก็ต้องระบุไว้ว่าเป็นผลมาจากการบริหารงานในสไตล์ของบรรเทิง เหมือนกัน

ช่วงรอยต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2534 ดูเหมือนว่ากลุ่มพระนครยนตรการจะมีโอกาสและอนาคตมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะมีปัจจัยรอบด้านค่อนข้างพร้อมกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ เครือข่ายการตลาดรถยนต์ที่มีอยู่ในมือแถมยังได้ฮุนไดเข้ามาเปิดตลาดเป็นครั้งแรก และเป็นตัวเลือกใหม่ของตลาดก่อนรายอื่น ๆ ที่จังหวะการก้าวขยับช้ากว่าบรรเทิงอยู่มาก

แต่ความได้เปรียบที่มีอยู่บรรเทิง กลับปล่อยให้มันหลุดลอยไป

เพราะถึงแม้การเปิดตลาดครั้งใหม่ของโอเปิลในระยะ 2-3 ปี มานี้จะฮือฮาอยู่มากเพราะขายได้หลายพันคันต่อปี แต่ทิศทางที่เห็นก็เริ่มจะเข้ารอบเดิมเช่นอดีตอีกแล้ว

ตรงนี้เอง ที่ทำให้เกิดกระแสข่าวว่าทางจีเอ็มจะมองหาคู่ค้ารายใหม่เข้ามาช่วยเสริมการทำตลาดในประเทศไทย ทันทีที่โครงการลงทุนครั้งใหญ่นี้เริ่มผลิตรถยนต์ออกจำหน่ายในตลาด

ผู้ที่คลุกคลีทำงานกับบรรเทิงมานานนับสิบปี รับรู้กันเป็นอย่างดีว่า วิถีการทำงานของบรรเทิงนั้น ยังคงยึดติดกับรูปแบบความเป็นเถ้าแก่ชาวจีน รวบอำนาจมักมีหลงจู๊เป็นมือขวาคู่ใจ เป็นมาอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น วิสัยทัศน์ตรงนี้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ และนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มทุนแห่งนี้ แม้ดูว่าจะขยายตัวแต่ยากที่จะก้าวขึ้นมาทำงานใหญ่กว่าที่เป็นอยู่

"คุณบรรเทิงเขาค่อนข้างเก่งในเรื่องบุกเบิก และไวมากในการเจาะตลาดหรือเริ่มต้นในสิ่งที่คนอื่นยังจับไม่ถูก แต่พอถึงบทที่จะต้องแข่งขันและรุกไปข้างหน้าเพื่อขยายอาณาจักรกลับหยุดอยู่กับที่ พอแล้วกับสิ่งที่มีอยู่ ตรงนี้ยากเหมือนกันที่จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ได้" ผู้บริหารซึ่งเคยร่วมงานกับบันเทิงกล่าว

หรือแม้แต่คู่แข่งในธุรกิจนี้ ก็มักมองกลุ่มพระนครยนตรการว่าเป็นเพียงคู่แข่งขันที่ไม่ต้องระมัดระวังมากนัก เพราะเป็นเพียงผู้จุดกระแสเท่านั้น แต่แล้วก็ค่อย ๆ หยุดนิ่งอยู่กับที่ และยิ่งถ้ามีคนลงมาแข่งขันมาก กลุ่มนี้จะเงียบทันทีเลยแทบจะไม่ต่อสู้ในเชิงรุกกลับมา ส่วนใหญ่จะตั้งรับอยู่กับที่เหมือนกับต้องการจะรักษาตำแหน่งที่เป็นอยู่ไว้เท่านั้น ซึ่งถ้าจะมองในเชิงธุรกิจแล้วก็เท่ากับปิดโอกาสของตนเองที่เติบโตต่อไป แต่ยุทธวิธีเช่นนี้บางครั้งก็ทำให้อยู่รอดได้และไม่ต้องไปเสี่ยงกับใครเขามากนัก

ฟองจันทร์ วรรณพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บริษัท พระนครยนตรการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คุณบันเทิงไม่ใช่คนที่ลงทุนแล้วถอย เพียงแต่ว่าขณะนี้สถานการณ์ตลาดไม่ค่อยดีนัก ยอดขายตกกันหมดไม่มีใครขายได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา และการจำกัดสินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดออกมา ทำให้ตลาดโดยรวมตกต่ำลง

"ไม่ถึงขั้นแย่ ถ้าทุกคนเขาดีหมดแล้วเราแย่ก็ต้องบอกว่าเราแย่ แต่ตอนนี้ทุกคนเขาแย่กันหมด เพราะเศรษฐกิจแย่ต่อเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วม เศรษฐกิจซบเซา ทำอย่างไรก็ได้เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ให้ได้เท่าเดิม เป็นเรื่องที่เรามองว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับสถานการณ์เช่นนี้" ฟองจันทร์ กล่าวถึงสภาพตลาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปี 2539 พระนครยนตรการจึงตั้งเป้าหมายการจำหน่ายไว้เพียง 5,000 คันเท่านั้นเป็นยอดจำหน่ายที่ไม่มีอัตราเติบโตจากปี 2538 และเมื่อมองย้อนกลับไปปี 2537 ยอดจำหน่าย 5,000 คันนี้ คือตัวเลขที่บ่งบอกว่า ตลาดรถยนต์โอเปิลในประเทศไทย กำลังถดถอยลงทุกวัน

ยิ่งแนวนโยบายที่ออกมาว่าต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้เท่าเดิม ในสภาพตลาดที่ซบเซานั้น ชัดเจนว่า พระนครยนตรการ วางกลยุทธ์แบบตั้งรับและไม่หวังจะเติบโตไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว สถานการณ์เช่นนี้น่าที่จะบุกมากกว่าตั้งรับ ดังเช่นที่ฮอนด้า และโตโยต้ากำลังปฏิบัติการกันอยู่เพราะถ้าได้ผล มันจะคุ้มค่ามากทีเดียว

แต่ถ้ามองถึงปัญหาด้วยตัวของพระนครยนตรการเองแล้ว นโยบายหยุดการเติบโต ก็นับว่าจำเป็นเหมือนกันในการที่ก้าวไปอย่างถูกต้องในอนาคตและที่สำคัญนโยบายนี้ ธวัชชัย จึงสงวนพรสุขทายาทคนสำคัญของตระกูล ที่จะสืบทอดการทำตลาดโอเปิดในไทย แทนบรรเทิงเป็นคนคิดขึ้น ทั้งยังเห็นว่าโครงสร้างขององค์กรแห่งนี้จะต้องถึงคราวปรับเปลี่ยนและกลับมาทบทวนเพื่ออนาคตเสียแล้ว

เหตุผลนั้น ธวัชชัย ได้อ้างว่าต้องการหยุดการเติบโตทางด้านยอดขายลง โดยบริษัทต้องการที่จะหันมาทุ่มเทการลงทุนในด้านการสร้างความแข็งแกร่งของตัวแทนจำหน่ายให้มีศักยภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตลาดโอเปิลจะตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ถ้ามีคู่แข่งเข้ามาในตลาดเดียวกันเนื่องจากตัวแทนจำหน่ายที่เกิดขึ้นมานั้นส่วนใหญ่ยังเป็นรายใหม่ที่ไม่ชำนาญการพอ เมื่อจุดขายของสินค้าไม่แกร่งเหนือคู่แข่งมากนัก ตัวแทนจำหน่ายจึงไม่สามารถเปิดตลาดได้

ผลตรงนั้นจึงทำให้ตัวแทนจำหน่ายของพระนครยนตรการบอกเลิกไปเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่เข้ามาร่วมทำตลาดกันเพียง 1-2 ปีเท่านั้น ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมาก ในการวางฐานตลาดที่มั่นคงในอนาคต

"มีตัวแทนบอกเลิกไปมากกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเพราะไม่ประสบความสำเร็จในการค้า ตรงนี้เราก็พยายามที่จะรักษาดีลเลอร์ให้อยู่กับเรานาน ๆ "ผู้บริหารของพระนครยนตรการกล่าว

ธวัชชัย กลับมามองนโยบายการรุกเร็วในครั้งเปิดตลาดใหม่ ๆ ว่าตอนนั้นคงจำเป็นที่จะต้องกระจายและเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ให้มากที่สุด เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายแต่ก็ต้องมีการวางเป้าหมายเช่นกันว่าจำนวนที่เหมาะสมจะอยู่ที่ตรงไหน จากนั้นการรักษาคู่ค้าให้คงอยู่ยาวนานที่สุด คือสิ่งที่จะทำในอันดับต่อมา

ทุกวันนี้ พระนครยนตรการมีดีลเลอร์อยู่ทั่วประเทศประมาณ 50 ราย ซึ่งธวัชชัยมองว่าเพียงพอแล้วในการวางฐานการทำตลาด

นโยบายหลักปีนี้ด้านช่องทางจำหน่ายนั้น จะไม่มีการเปิดเพิ่มแน่นอนแต่จะทำการขยายศักยภาพของตัวแทนให้สูงขึ้นเพื่อรองรับสินค้าตัวใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงยึดพัฒนา 3 ด้านหลักด้วยกันคือ การขาย บริการ และอะไหล่ นอกจากได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานอย่างเช่นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั่วประเทศในงานขายและบริการในปีนี้ หรือ เน้นการอบรมงานบริการและศูนย์บริการ จัดอันดับเพื่อดูศักยภาพตัวแทนแต่ละราย ในการที่จะพัฒนาต่อไป

แม้ว่าพระนครยนตรการจะพยายามปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าครั้งใหม่ แต่ผู้ที่อยู่ในวงการมักมองว่า เครือข่ายแห่งนี้กำลังเดินทางเข้ารูปเดิม

"ในการทำตลาดจะต้องตั้งเป้าว่าถึงจุดนี้จึงจะถือว่าคุณประสบความสำเร็จแต่ถ้าวางเป้าต่ำไปแล้วมองว่าประสบความสำเร็จก็คงไม่ถูกนักพระนครยนตรการจริง ๆ แล้วน่าที่จะโตกว่านี้ แต่กลับไม่โตซึ่งปัญหามันมีหลายประเด็น และตัวผู้บริหารสูงสุดก็น่าจะต้องรับความล้มเหลวนี้ไปว่าพลาดเพราะตนเอง" ผู้อยู่ในวงการยานยนต์ของไทยให้ความเห็นถึงนโยบายหยุดการเติบโตของพระนครยนตรการ

กระนั้นก็ตาม ผู้คร่ำหวอดท่านนี้วิเคราะห์ว่า แม้ที่ผ่านมาพระนครยนตรการจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ กับการทำตลาดโอเปิลในไทย ซึ่งอาจเป็นผลงานที่ไม่ดีนักแต่ขั้นต้นมั่นใจได้ว่า จีเอ็มจะยังไม่ถึงขั้นแตกหักกับพระนครยนตรการ เพราะอย่างน้อยสายสัมพันธ์ที่ทำธุรกิจกันมายาวนานถึง 10 ปี ก็น่าจะช่วยได้บ้าง

ทางออกในเรื่องนี้ก็คือ จีเอ็มคงต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงในส่วนการทำตลาดหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารด้วย เพื่อจะได้สำเร็จไปพร้อม ๆ กับงานใหญ่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว

"จีเอ็มจำเป็นต้องทิ้งพระนครยนตรการเพื่อหาดีลเลอร์ใหม่หรือไม่ คงบอกได้ว่ายังไม่จำเป็นในขณะนี้ แต่จะต้องพัฒนาพระนครยนตรการให้ได้ ทางออกของพระนครยนตรการ ก็คือต้องกล้าที่จะลงทุนเพื่อตามให้ทันและเปิดรับโนว์ฮาวและประสบการณ์จากจีเอ็มให้ได้"

จะว่าไปแล้วความเคลื่อนไหวนั้นมีมาก่อนหน้า ที่จีเอ็มจะประกาศถึงการลงทุนในไทยด้วยซ้ำไป

ต้นปี 2538 ทางจีเอ็มได้ส่ง คอลลิน จอร์สัน เข้ามาช่วยพระนครยนตรการในด้านงานบริการ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาและปรับระบบงานบริการทั้งหมดของพระนครยนตรการให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยเริ่มจากสำนักงานใหญ่ ก่อนกระจายไปยังสาขาทั้ง 6 ในกรุงเทพฯ จากนั้นจึงจะกระจายไปยังดีลเลอร์ต่าง ๆ

เป้าหมายสำคัญของการปรับปรุงครั้งนี้เพื่อที่จะนำเอาระบบบริการที่จีเอ็มปฏิบัติอยู่ทั่วโลกมาใช้ในประเทศไทยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัญหาด้านงานบริการนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของพระนครยนตรการเลยทีเดียว

"เป็นนโยบายของจีเอ็ม ที่ต้องการให้ศูนย์บริการรถโอเปิลในประเทศไทย มีมาตรฐานมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก" ธวัชชัย กล่าว

ในเนื้อหาแล้ว หลัก ๆ ก็คือ การปรับระบบงาน เช่นการรับจ่ายรถของศูนย์บริการ วิธีการซ่อมบำรุง ตรวจเช็กรถแต่ละคัน รวมถึงรูปแบบของศูนย์บริการทั้งภายนอกและภายใน

"ทุกวันนี้ บริษัท พระนครยนตรการ ถือเป็นดิสทริบิวเตอร์ที่จีเอ็มพอใจและให้ความไว้วางใจมากที่สุด ผู้บริหารของจีเอ็มเคยบอกกับเราว่า เราเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยมีมา" ธวัชชัยกล่าวสั้น ๆ

ความมั่นใจของธวัชชัย คงกลบกระแสลงได้บ้างในกรณีที่ว่าจีเอ็มจะนำระบบเมกะดีลเลอร์มาใช้ในไทย เหมือนที่ใช้ในหลายประเทศทั่วโลกที่จีเอ็มเข้าไปทำการค้าอยู่ หรือการที่พยายามหาตัวแทนจำหน่ายรายใหม่เพิ่มเข้ามาไม่เฉพาะให้พระนครยนตรการเพียงรายเดียวเท่านั้น

ประเด็นนี้ก็น่าจับตามองว่า หลังจากนี้พระนครยนตรการจะสนองตอบจีเอ็มได้มากแค่ไหน ถ้าหลังจากร่วมพัฒนาองค์กรและระบบต่าง ๆ กันแล้ว แต่พบว่ายากที่จะพัฒนาไปด้วยกัน แน่นอนว่าสถานภาพของพระนครยนตรการจะอยู่ลำบากขึ้น

"เรายังมีอนาคต เครือข่ายพระนครยนตรการยังมีอนาคตต่อไป เราพร้อมจะพัฒนาขึ้นไป และที่ผ่านมาเราก็พัฒนามาโดยตลอด" ผู้บริหารของพระนครยนตรการยังมั่นใจว่าจะก้าวตามโนว์ฮาวและสิ่งที่จีเอ็มมอบให้ เพื่อการพัฒนาต่อไป

สำหรับจีเอ็มแล้ว ในวันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทยเมื่อ 11 มิถุนายน 2539 นั้น ถ้าจะว่าทางจีเอ็มแทบไม่เห็นความสำคัญของพระนครยนตรการเลยแม้แต่น้อย ซึ่งผิดวิสัยคู่ค้าที่ควรจะเป็นในกรณีพระนครยนตรการเป็นเจ้าของบ้านก็อาจจะได้ เพราะไม่เห็นเงาของ "จึงสงวนพรสุข" แม้แต่คนเดียว หรือการแนะนำทีมบริหารก็เน้นเฉพาะด้านการผลิตและโครงการใหม่เท่านั้น จะพูดถึงพระนครยนตรการก็ต่อเมื่อผู้สื่อข่าวซักเท่านั้น

ผู้บริหารของจีเอ็มกล่าวว่า ที่ไม่เน้นกล่าวถึงพระนครยนตรการเนื่องจากเป็นการแถลงข่าวโครงการลงทุนโรงงานผลิต ซึ่งพระนครยนตรการไม่มีส่วนร่วมในการลงทุนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโยงมาถึงตรงนั้น

โรนัลด์ ดี. ฟริซเซลส์ ประธาน ปบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเข้ามาดูแลด้านการผลิตรถยนต์โอเปิลในประเทศไทยกล่าวถึงการทำตลาดรถยนต์โอเปิล โดยพระนครยนตรการ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าการทำตลาดโอเปิลนั้นยากอยู่แล้ว และช่วงหลังเงินมาร์กได้แข็งตัวขึ้นจึงทำตลาด ได้ยากขึ้นไปอีก แต่ตรงนี้จะเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น สามารถแก้ไขได้

กล่าวถึงบทบาทหรือฐานะของพระนครยนตรการในระหว่างนี้ ประธานของจีเอ็ม ประเทศไทย ยืนยันว่า บทบาทและฐานะของพระนครยนตรการ เป็นมาอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้นต่อไป โดยจีเอ็มประเทศไทย จะทำหน้าที่ดูแลด้านการผลิตส่วนพระนครยนตรการเป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทย จีเอ็มอาจจะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำบ้างแต่ไม่ใช่เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างในขณะนี้

"ตอนนี้โครงสร้างทุกอย่างยังเหมือนเดิมในด้านการตลาด แต่อนาคตเมื่อโครงการลงทุนของจีเอ็มเริ่มส่งสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว คงต้องดูอีกครั้ง เพราะอนาคตยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรเพราะต้องดูตลาดเป็นระยะ ๆ" คำกล่าวของฟริซเซลล์

แม้ดูจากคำพูดนั้น จะยังวางใจได้ว่าพระนครยนตรการยังคงมีเวลาพอในการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวให้ทัน และเป็นดีลเลอร์อย่างที่จีเอ็มตั้งความหวังไว้

โครงการผลิตรถยนต์นั่งโอเปิลที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 18,750 ล้านบาทเท่านั้น วางแผนว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในเดือนสิงหาคมนี้ และสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดในต้นปี 2542 กำลังการผลิตนั้นขั้นต้นวางไว้ที่ 100,000 คัน ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ในปีที่สามของการผลิต และโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยองแห่งนี้ จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 150,000 คันต่อปีโดยโครงการนี้วางแผนว่าจะทำการผลิตเพื่อส่งออก 80% เป็นอย่างน้อยของกำลังการผลิต

แอนเดอร์ส ย้ำว่าจริง ๆ แล้วโครงการที่เกิดขึ้นครั้งนี้เพราะจีเอ็มต้องการที่จะขยายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น และไทยก็มีศักยภาพมากที่สุด และความสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่การผลิตเพื่อการส่งออกเป็นลำดับแรก

"คือถ้าโรงงานเริ่มผลิตสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว แต่ตลาดในประเทศไทยไม่มีรองรับ เราก็มีตลาดส่งออกรองรับอยู่แล้วหรือถ้าตลาดส่งออกมีความจำเป็นมากกว่าเราก็คงต้องเปิดทางให้กับตลาดส่งออกก่อน" แอนเดอร์สกล่าว

เดิมนั้นตลาดในเอเชียของจีเอ็มโดยเฉพาะตลาดรถยนต์โอเปิล จะถูกส่งมาจากฐานการผลิตในยุโรป ซึ่งอนาคตจีเอ็มมองว่าตลาดยุโรปเองจะขยายตัวอีกมาก ดังนั้นฐานการผลิตเหล่านั้นจึงจำเป็นจะต้องผลิต เพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรปเป็นหลักส่วนตลาดเอเชีย ก็จำเป็นต้องหาฐานการผลิตใหม่ ซึ่งที่สุดจีเอ็มตัดสินใจเลือกไทย

นอกจากการเตรียมตัวหาฐานการผลิตรองรับตลาดล่วงหน้าแล้ว การที่จีเอ็มเข้ามาลงทุนในไทยนั้น เป็นเพราะอนาคตการวางฐานการผลิตใกล้กับตลาดหลัก ๆ นั้น จะเป็นสิ่งจำเป็น และจะกลับมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกครั้ง นอกจากนี้การผลิตรถเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเช่นกัน โครงการของจีเอ็มในไทยครั้งนี้ก็คือการมองไปยังอนาคตทั้งสิ้น

วิสัยทัศน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกดูจะเป็นเรื่องยากลำบากไม่น้อยที่พระนครยนตรการจะตามให้ทันโดยเร็ว โดยเฉพาะขุมข่ายแห่งนี้บริหารงานด้วยวิสัยทัศน์แบบเถ้าแก่ของบรรเทิงมาโดยตลอดกว่า 2 ทศวรรษ

ผู้บริหารของพระนครยนตรการกล่าวว่า ถ้าองค์กรแห่งนี้บริหารโดยบรรเทิงแต่ผู้เดียว คงอาจกล่าวได้ว่าโอกาสที่พระนครยนตรการจะกลับมาผงาดในวงการยานยนต์ของไทยคงยากเต็มที แต่นี่ทายาทคนสำคัญกำลังมีบทบาทเด่นขึ้นมา พร้อมทั้งประสบการณ์ที่มากขึ้นเป็นลำดับจึงน่าที่องค์กรแห่งนี้จะยังพอหลงเหลือโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้าได้บ้าง

ไม่นานมานี้ ธวัชชัย ได้กล่าวถึงการรื้อโครงสร้างเครือข่ายพระนครยนตรการไว้อย่างน่าคิดว่า

"แนวทางของกลุ่มพระนครยนตรการต่อไปนี้ จำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบโฮลดิ้ง คัมปะนี เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร ต้องกระจายอำนาจ"

แผนงานการจัดสร้างผังองค์กรใหม่นั้น แม้จะยังไม่อาจระบุว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่ก็นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ

แนวคิดนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงเท่ากับว่าพระนครยนตรการจะเข้าสู่ยุคใหม่ทันทีทิ้งคราบการบริหารแบบรวบอำนาจ ซึ่งสร้างปัญหามาตลอดนับจากอดีต จนถึงขนาดผู้บริหารฝีมือเยี่ยมหลายคนต้องทิ้งเครือข่ายแห่งนี้ไป

ธวัชชัยก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าแนวคิดนี้ยังไม่อาจสรุปว่าจะเป็นผลดีต่อองค์กรโดยรวม แต่มั่นใจว่านี่คือทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพระนครยนตรการในอนาคต

เช่นนี้แล้ว พระนครยนตรการ คงยังไม่หมดโอกาสเสียทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.