|
พฤติกรรมคนกรุงฯเปลี่ยนไม่มั่นใจอนาคตลดบันเทิง26%
ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลวิจัย”ThaiView 4” ชี้การเมืองพ่นพิษความเชื่อมั่นเศรษฐกิจคนกรุงลดฮวบ กระทบทัศนคติ-ไลฟ์สไตล์คนกรุงเปลี่ยนไป รับภาวะค่าครองชีพ-สาธารณูปโภคพุ่ง โหมงานหนักหวั่นหน้าที่การงานไม่มั่นคง งดกิจกรรมค่าใช้จ่ายสูงเมินชอปปิ้ง-ท่องเที่ยว-ดูหนัง ลุกฮือสนใจการเมืองหลังตระหนักเป็นผลพวงลูกโซ่เชื่อมโยงเศรษฐกิจแย่ ระบุต้องการนายกฯคนใหม่ซื่อสัตย์ โปร่งใส เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
วานนี้ (24 เม.ย.49) สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เสนอผลการวิจัย” ThaiView”ครั้ง 4 หรือผลวิจัยในช่วงไตรมาสแรกของปี 49 เพื่อทำการสำรวจแนวโน้มความพึงพอใจของคนกรุงเทพฯ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แนวโน้มการจัดสรรรายได้ และค่าใช้จ่ายหมวดต่างๆ และผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปัจจุบัน โดยสัมภาษณ์คนกรุงเทพฯจำนวน 500 คน จาก 18 เขต ดำเนินการสัมภาษณ์วันที่ 7-9 เมษายน 49
นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การวิจัย ThaiView” 4 ทางสมาคมฯได้ทำการสัมภาษณ์ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเว้นวรรคทางการเมืองในวันที่ 4 เมษายน 2549 ดังนั้นสถานการณ์การเมืองจึงคลี่คลายไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่ผลวิจัยกลับพบว่า คนกรุงเทพฯ มีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของตัวเองลดลงในช่วง 12 เดือนจากนี้ โดยมีผู้ที่ไม่มั่นใจเลยเพิ่มขึ้นจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 48 จาก 62% เป็น 67% แบ่งเป็นไม่มั่นใจเลยเพิ่มจาก11% เป็น 15% และไม่ค่อยมั่นใจเท่าเดิมเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คือ 51% ส่วนค่อนข้างมั่นใจลดลงจาก 32% เป็น 29%
**การเมืองพ่นพิษไลฟ์สไตล์คนกรุงเปลี่ยน**
คนกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติและพฤติกรรม โดยพบว่า พฤติกรรมการจับจ่ายสำหรับสินค้าและบริการในช่วงนี้ รอไปก่อน หรือ ยังไม่ตัดสินใจ ตัวเลขพุ่งสูงสุดจากไตรมาสสุดท้ายปี 48 จาก 57% เพิ่มเป็น 62% ในไตรมาสแรกของปี 49 สาเหตุมาจากความกังวลใจทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัวและการว่างงานโดยตัวเลขพุ่งขึ้นจาก 36% เป็น 43% ความไม่มั่นใจทางการเมือง 29% ปัญหาความแตกแยกในสังคม 27% ความรุนแรงจากการประท้วง 18% ปัญหาความเครียดจาก 12% เพิ่มเป็น 14%
**โหมงานหนัก-งดกิจกรรมค่าใช้จ่ายสูง**
ดร.ศศิวิมล สมิตติพัฒน์ กรรมการสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตและกิจกรรมเปลี่ยนไป เปรียบเทียบปัจจุบันกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการทำกิจกรรมน้อยลง 40% และทางตรงกันข้ามกลับเพิ่มเวลาให้แก่งาน โดยพบว่าคนกรุงเทพฯทำงานหนักขึ้น 46% เนื่องจากเกรงหน้าที่การงานไม่มั่นคงจากภาวะเศรษฐกิจ หัวหน้าสั่งให้ทำงานมากขึ้นเพื่อสร้างยอดขาย ส่งผลให้เวลาการนอนหลับลดลง 33% เข้าร้านเสริมสวยลดลง 49% เข้าสปาหรือนวดแผนโบราณลดลง 29%
พฤติกรรมการทำกิจกรรมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หรือออกนอกบ้านที่ทำในชีวิตประจำวันลดลง โดยชอปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าลดลง 29% ซึ่งพบว่าค่าเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวลดลง 25% ดูดีวีดีและวีซีดีลดลง 34% ออกไปดื่มสังสรรค์รับประทานอาหารลดลง 40% เดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลง 32% ดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ลดลง 46% ร้องเพลงคาราโอเกะลดลง 50% แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นถึง 21% คือการฟังเพลง ส่วนดูรายการโทรทัศน์ช่องธรรมดา 16% เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนักและอยู่ภายในบ้าน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการพักผ่อนและการสันทนาการลดลง 26%
“พฤติกรรมการใช้จ่ายภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเปรียบเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมา 71% ของคนกรุงเทพเห็นว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 54% ค่าเดินทางเพิ่มขึ้น 58% และสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 68% ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่และบุตรเพิ่มขึ้น 42% ทำให้ผู้ที่ออมเงินอย่างน้อย 20% ของจำนวนรายได้ลดลง 15% และไม่มีเงินออมเลยสูงขึ้จาก 4% เป็น11%”ดร.ศศิวิมล กล่าวว่า
**คนกรุงสนใจการเมืองเพิ่มขึ้น**
ดร.ศศวิมล กล่าวว่า ผลของการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก พบว่าคนกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญการเมืองมากขึ้นถึง 66% เนื่องจากเกรงว่าการแตกแยกของสังคมอันเนื่องจากมาการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนของกลุ่มคัดค้านรัฐบาล สถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยพบว่าคนกรุงเทพฯเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง 88% ติดตามข่าวสาร 78% แสดงความคิดเห็นพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนรอบข้าง 55%
สำหรับคุณลักษณะนักการเมืองที่อยากได้ มีความซื่อสัตย์สูงสุดถึง 70% แตกต่างจากการสำรวจเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ต้องการนักการเมือง มีความสามารถทางเศรษฐกิจมาบริหารประเทศ ส่วนความโปร่งใส 34% เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว 31% ใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง 27% ตามลำดับ
ส่วนสิ่งที่ปรารถนาให้ภาครัฐบาลจัดเตรียม 4 ประการ ได้แก่ ประการแรก สวัสดิการ/การครองชีพ 59% แบ่งเป็น สร้างงานรองรับคนที่จบใหม่/คนว่างงาน 13% ลดราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภค 11% ปรับปรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น/มั่นคงมากขึ้น 8% ควบคุมราคาสินค้า/น้ำมันให้เหมาะสม 6% ประการสอง คุณภาพชีวิต/สาธารณูปโภค 18% แบ่งเป็น แก้ปัญหาจราจร 5% เพิ่มรถไฟฟ้าใต้ดิน/ลอยฟ้า 3% เป็นต้น ประการสาม การศึกษา 15% และประการสี่ การรักษาพยาบาล 7% ขณะที่สิ่งที่ต้องการในชีวิตคือมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มจาก 63% เป็น 65% มีความสบายในบั้นปลายชีวิตจาก 49% เป็น 58% มีกำลังใจที่ดีจาก 26% เพิ่มเป็น 39%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|