|

อิตัลไทยทุ่ม4พันล.ฮุบโปแตซอุดร
ผู้จัดการรายวัน(24 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“อิตัลไทย” ทุนการเมืองฟากรัฐบาล ฮุบโครงการเมกะโปรเจกต์ ล่าสุดเข้าซื้อ"โปแตซอุดร" แบบยกล็อตของบริษัท เอพีพีซี 90% มูลค่า 4,000 ล้านบาท ด้าน “เอ็นจีโอ” อัด “สุริยะ” ทำอัปยศซ้ำหนองงูเห่าดันอิตัลไทยกินรวบสัมปทานโปแตซทั่วภูมิภาค - กวาดโมกะโปเจกต์น้ำทั้งอีสาน สับเหละทำแบบนี้กระทบภาพลักษณ์การลงทุนจากต่างชาติ
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่เปิดเผยว่า บริษัท อิตาเลียน ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD ได้เข้าไปซื้อกิจการในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปรแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) โดยจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนถึง 90% ขณะที่กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 10%ตามเดิม ซึ่งการเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทครั้งนี้ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น นักลงทุนประเทศแคนาดา เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 75% กระทรวงการคลัง 10% และบริษัทย่อยที่เป็นบริษัทคนไทยถืออยู่ 15% มีนายจอห์น โบวาร์ด เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนกิจการ
สำหรับสาเหตุหลัก ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวแคนาดา ขายหุ้นยกล็อดให้แก่บริษัทอิตัลไทย เนื่องจากกังวลและไม่มั่นใจนโยบายของรัฐที่ไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานี รวมถึงกลไกสำคัญของรัฐสำคัญ เช่น จังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐไม่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือ ปัญหามวลชนที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน
" นักลงทุนชาวแคนาดาได้ทุ่มเงินลงทุนไปจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนว่าจะได้รับประทานบัตร และนโยบายรัฐบาลไม่มีความชัดเจนที่จะลงมาเป็นคนกลางในการแก้ปัญหามวลชนในพื้นที่ ทำให้นักลงทุนรู้สึกหวั่นเกรงท้อใจ ซึ่งในอนาคตต่อไปกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มเอ็นจีโอก็ต้องไปต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเองก็แล้วกัน จะได้ไม่มาว่าขายชาติ แต่กลายเป็นคนไทยกับสู้กันเอง เป็นเกมใหม่ที่พวกชาวบ้านและเอ็นจีโอต้องไปเล่นกัน”
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวให้เห็นถึงปัญหาในระยะยาวว่า การเทกโอเวอร์ของบริษัทอิลตัลไทยในครั้งนี้ จะกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนจากต่างประเทศอย่างแน่นอน เพราะต่อไปจะมีนักลงทุนที่ไหนจะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้รับความเชื่อมั่น โครงการนี้ตั้งแต่เริ่มโดยรัฐบาลพยายามจูงใจและส่งเสริมสนับสนุนมาโดยตลอดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่พอโครงการจะเริ่มเดินหน้า มาติดปัญหาการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ทางภาครัฐกลับไม่ลงมาเป็นคนกลางในการแก้ปัญหา พยายามโยนให้บริษัทเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเดียว กลับถูกมองว่าบริษัทเข้าไปมีผลประโยชน์ มุบมิบกับนักการเมือง และข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถูกโยงให้กลายเป็นประเด็นการเมืองไป
“ ต่อไปใครจะกล้ามาลงทุนล่ะ เป็นอย่างนี้ก็คงไปร้องคัดค้านกันทั้งประเทศ ถ้าต่างชาติมาลงทุนในไทยทั้งที่รัฐบาลเป็นคนเชิญชวนมาเอง แปลกทำไมไม่ไปร้องเรื่องบริษัท ปตท. บ้างที่ต่างชาติเข้ามาขุดก๊าซในอ่าวไทย ดังนั้น นโยบายรัฐต้องชัดเจนต้องลงมาทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเคลือไม่ยอมตัดสินอะไรสักอย่าง ตั้งแต่ ระดับนายกฯ รัฐมนตรี ข้าราชการ หรือระดับจังหวัด” แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอินทรา รีเจนท์ สภาการเหมืองแร่แห่งประเทศได้ ยกเลิกการประชุมสัมมนา “โปแตซ กับการพัฒนาของประเทศไทย” โดยอ้างถึงความปลอดภัย เนื่องจากมีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่มาปักหลักชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัทเอพีพีซี หน้าโรงแรมที่เป็นสถานที่จัดประชุม กว่า 100 คน ต่างสวมเสื้อสีเขียว พร้อมชูธง ป้าย พร้อมแจกเอกสารข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้านต่อประชาชนบริเวณถนนราชปรารภ พร้อมชูป้ายระบุข้อความคัดค้านต่อต้านโครงการว่า “ คนอุดรไม่เอาเหมืองแร่” “หยุดทำเหมืองแร่ที่อุดรฯ” และ “การพัฒนาต้องมาจากประชาชน” จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกฯ และรมต.อุตสาหกรรม และ นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้ยุติเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตซที่อุดรธานี
**อัดอิตัลไทยกินรวบ"สัมปทานอัปยศ"
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงาน กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงการเทกโอเวอร์ของอิตัลไทย เป็นเรื่องที่น่าวิตก จากกรณีสินบนซีทีเอ็กซ์ สนามบินหนองงูเห่า จะเห็นได้ว่าอิตัลไทยไม่ได้เป็นบรรษัทภิบาลที่ดีเลย คือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ดีและโปร่งใส และนายสุริยะสมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคมในช่วงเวลานั้น มอบงานประมูลการก่อสร้างในสนามบินหนองงูเห่าให้กับอิตัลไทยเกือบทั้งหมด กวาดงานไปแต่เพียงบริษัทเดียวมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 88,000 ล้านบาท มาในช่วงปัจจุบันที่รักษาการ รมว.อุตสาหกรรม ก็มีการหมกเม็ดประชุมสภาการเหมืองแร่เมื่อวานนี้ เนื้อหาสาระก็คือจะประกาศให้สภาการเหมืองแร่รับรู้ว่าเหมืองแร่โปแตชอุดรฯได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นจากบริษัทแม่แคนาดามาเป็นบริษัทอิตัลไทย และให้สภาการเหมืองแร่ช่วยกันสนับสนุนและผลักดัน
"การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแบบครอบครองกิจการครั้งนี้ของอิตัลไทย ท่าจะให้ดีน่าจะยกเลิกสัญญาฯที่คนอุดรและคนไทยถูกกดขี่และเสียเปรียบนั้นเสียด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็เพียงเปลี่ยนแปลงผู้กดขี่เป็นคนใหม่เท่านั้น" นายเลิศศักดิ์ กล่าว
**ขยายฐานโปแตซทั่วภูมิภาค-ฮุบเมกะโปรเจกต์น้ำ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่าบริษัทอิตัลไทยไม่ได้ต้องการเพียงเหมืองโปแตชอุดรธานีเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการยิ่งกว่าก็คือการวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่างหาก นั่นคือ ยังมีแร่โปแตชอีกหลายแหล่งในภาคอีสานรวมทั้งแร่ชนิดอื่นๆด้วย รวมถึงการขยายฐานการทำเหมืองแร่ในลาวและประเทศอื่นๆในน้ำโขงด้วย และอิตัลไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เพื่อให้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการได้รับสัมปทานรับเหมาก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การผันน้ำงึมและน้ำโขงเชื่อมต่อระบบท่อในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ผันน้ำระบบท่อ หรือ Water Grid อย่างที่เหมืองโปแตชอุดรก็วางแผนไว้ชัดเจนว่าจะต่อท่อน้ำที่ผันน้ำมาจากลาวเอามาใช้ในโครงการนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้โปแตชและเกลือเป็นวัตถุดิบด้วย
“ ดังนั้น บริบทของคนอุดรฯจะเปลี่ยนไป นั่นคือ เมื่อก่อนตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบจากโปแตชเท่านั้น แต่ตอนนี้คงต้องตั้งคำถามความหวั่นวิตกกังวลต่างๆเกี่ยวกับผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเหมืองแร่โปแตชเพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือผลกระทบด้านต่างๆจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะรุนแรงและกว้างขวางมากกว่าหลายเท่าตัว" นายเลิศศักดิ์ กล่าว
รายงานแจ้งว่าอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล เพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าแร่โปแตซจากต่างประเทศประมาณปีละ 4 – 5 แสนตัน ราคาตันละ 200 ดอล์ล่าสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าปีละเป็นหมื่นๆล้านบาทโดยเฉพาะโครงการเหมืองแร่โปรแตซที่อุดรฯ ถือว่าเป็นเหมืองแร่โปแตซชั้นดีที่สุดอันดับโลก ทั้งคุณภาพและปริมาณ ที่มีอยู่กว่าแสนตัน
อนึ่ง บริษัทอิตาเลียนไทย ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการรับเหมาก่อสร้างของไทย ซึ่งได้รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรแบบเบ็ดเสร็จกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)มูลค่า 42,000 ล้านบาท เพื่อผลิตบ้านเอื้ออาทรจำนวน 1 แสนหน่วย ล่าสุดเตรียมเซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะกับกรมธนารักษ์ หากคณะรัฐมนตรี(รักษาการ) ตัดสินใจ ซึ่งอิตัลไทยจะรับผิดชอบก่อสร้างในส่วนของโครงการที่ 2 ในสัญญาก่อสร้างที่ 3 การก่อสร้าง อาคาร บี พร้อมลานรอบอาคาร มูลค่าราคากลาง 7,355 ล้านบาท เป็นต้น
**ปัดไม่ใช่นอมินีทุนการเมือง
ด้านนายประพันธ์ อัศวอารี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปรแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) กล่าวตอบโต้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่กล่าวหาว่าตนเป็นนอมินีทุนรัฐบาลทักษิณ เปรียบว่าตัวเองเป็นเหยียน ปิน 2 นั้นไม่เป็นความจริง เพราะตนไม่ได้เป็นตัวแทนของนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้บริหารแล้วจะแสวงหาผลประโยชน์ เพราะบริษัทเอพีพีซีเป็นบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติคือประเทศแคนาดาถือหุ้นอยู่ 75% จึงไม่ทราบว่าออกมาพูดอย่างนี้ได้อย่างไร และที่สำคัญไม่ต้องการให้โยงเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง แต่เป็นเรื่องการทำธุรกิจไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือนักการเมืองเลย เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้น 10% บริษัทไทย 15% และนักลงทุนแคนาดา 75% เป็นนักลงทุนต่างชาติ จึงไม่ใช่นักการเมืองส่งมาเป็นตัวแทนนอมินีอะไรทั้งนั้น
“หลังจากนี้บริษัทคงไม่ทำอะไรมาก จะเดินหน้าโครงการไปเรื่อยๆ เพราะเราลงทุนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท แต่เหมืองยังไม่เสร็จ แม้คนระดับรัฐมนตรี ข้าราชการทุกคนรู้ข้อมูลดี แต่ระดับนโยบายไม่ชัดเจน ไม่ลงมาเป็นคนกลางทำความเข้าใจกับประชาชน” ซีอีโอ บริษัทเอพีพีซี กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ทางบริษัทเอพีพีซี ไม่ได้ไม่สนใจปัญหาทางสิ่งแวดล้อม หรือผลศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ยังมีเงื่อนไข ขั้นตอนอีกหลายอย่างและต้องใช้เวลา ยืนยันไม่ได้มีกระบวนการรัดขั้นตอน มีข้อมูลสามารถชี้แจงประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ทุกประเด็น เช่น ดินทรุด หรือประเด็นอื่นๆ ที่ชาวบ้านกังวล แต่ชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ยอมรับฟัง แม้เปิดเวทีสาธารณะให้ก็ไม่ยอมเข้าร่วมรับฟัง หรือที่มีข่าวลือว่าวันนี้จะมีการซูเอี๋ยกันระหว่างบริษัท กับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต.อุตสาหกรรม ที่ยังเป็นแค่รัฐมนตรีรักษาการ จึงทำอย่างนั้นไม่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อมูลข้อเท็จจริงทุกอย่าง ของเรื่องการขอประทานบัตร บริษัทควรจะได้รับประทานบัตรเมื่อ 2 ปีก่อนแล้วด้วยซ้ำ แต่ยังไม่ได้ เพราะกลไกต่างๆของภาครัฐไม่ให้ความร่วมมือจากระดับจังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม และข้าราชการของรัฐ ที่ต้องให้ความสะดวกในการดำเนินการ
“เขมร ลาว พัฒนาไปถึงไหน มีการทำเหมืองแร่กันไปไกลถึงไหนแล้ว แต่ถามว่าวันนี้ทำไมกลุ่มเอ็นจีโอ ยังคัดค้านกันอยู่ทำแบบนี้เพื่ออะไร ยิ่งค้านยืดยื้อยาวนานก็จะได้ผลประโยชน์อะไร ถามว่ารับเงินต่างชาติมาหรือเปล่า ส่วนชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านเมื่อก่อนก็เป็นนายหน้าค่าที่ดินกับบริษัทมาก่อน แต่พอขายที่ดินไม่ได้ก็เลยออกมาคัดค้าน พูดชี้แจงอย่างไรก็ไม่ฟัง แถมรัฐบาลก็ไม่ลงมาทำความเข้าใจชาวบ้านแล้วชวนต่างชาติมาลงทุนทำไม” นายประพันธ์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|