|
ATCแจงมูลค่าผลิตภัณฑ์พุ่งหลังซ่อมบำรุงตัวเลขสูงถึงปีละกว่า390ดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ATc เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กว่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หลังหยุดซ่อมบำรุง 30 วัน ขณะที่การผลิตสารไซโคลเฮกเซนจะเริ่มเดินเครื่องผลิตพฤษภาคมนี้ ส่วนการสร้างโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 จะสามารถผลิตในเชิงพานิชย์ได้เดือนสิงหาคม 51 ส่งผลให้กำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์พาราไซลีนและเบนซีนเพิ่มเป็น 1,111,000 และ 831,000 เมตริกตันต่อปีตามลำดับ
นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC)กล่าวว่าตามที่ บริษัทฯ ได้หยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงและปรับปรุงอุปกรณ์ (Turnaround) ตามแผนงาน ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นระยะเวลา 30 วัน นั้น ขณะนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2549 เป็นต้นมาและผลิตได้เต็มกำลังการผลิตเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2549 ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต คิดเป็นมูลค่ารวม ทั้งสิ้น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
นอกเหนือจากการซ่อมบำรุงปกติแล้ว บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตหน่วยกลั่นแยกวัตถุดิบคอนเดนเสท (Feed Fractionation Revamp Project) แล้วเสร็จ โดยสามารถกลั่นวัตถุดิบคอนเดนเสทได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 50,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เช่น ก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ผลิตภัณฑ์แนฟทาชนิดเบาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานโอเลฟินส์ภายในประเทศ และคอนเดนเสทเรซิดิว ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นในประเทศ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณร้อยละ 40 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังสามารถผลิตแนฟทาชนิดหนักซึ่งนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ในปริมาณรวม 360,000 เมตริกตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับโครงการผลิตสารไซโคลเฮกเซน (Cyclohexane Project) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ จากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เบนซีน ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างเตรียมการเดินเครื่อง (Commissioning) โดยจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ ด้วยกำลังการผลิต 150,000 เมตริกตันต่อปี ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป คิดเป็นมูลค่าเพิ่มประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 400 ล้านบาทต่อปี
หลังจากการหยุดซ่อมบำรุงในครั้งนี้แล้ว บริษัทฯ จะเดินเครื่องจักรการผลิตเต็มที่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พาราไซลีนในประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลน ดังนั้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เป็นต้นไป โรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 ของบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ ดังนี้ คือ ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน 500,000 เมตริกตันต่อปี ผลิตภัณฑ์เบนซีน 320,000 เมตริกตันต่อปี ไซโคลเฮกเซน 150,000 เมตริกตันต่อปี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ รวมกันประมาณ 2,150,000 เมตริกตันต่อปี ปัจจุบันสถานการณ์ราคาผลิตภัณฑ์พาราไซลีน ทรงตัวอยู่ที่ระดับราคาประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน และราคาผลิตภัณฑ์เบนซีนอยู่ที่ระดับราคาประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยจากไตรมาสที่ 1 ประมาณ 50 และ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน ตามลำดับ
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 นั้น ปัจจุบันการปรับพื้นที่แล้วเสร็จและกำลังเริ่มงานก่อสร้างฐานราก ทั้งนี้โรงงานกำหนดจะแล้วเสร็จ สามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนสิงหาคม 2551 และจะทำให้กำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์พาราไซลีนและเบนซีนรวมทั้ง 2 โรงงาน เป็น 1,111,000 และ 831,000 เมตริกตันต่อปี ตามลำดับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|