ชี้7สูตรเด็ดธุรกิจเกิดได้-ไปดี


ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วานนี้( 20 เม.ย.49)ในงานการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่ง-ชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดงานสัมนาเรื่อง “การสร้างธุรกิจยุคนี้ให้เกิดได้-ไปดี” โดยมีนายฤทธิ์ ธีระโกเมน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ จำกัด ผู้บริหารเอ็มเคสุกี้ วิทยากรมากล่าวในหัวข้อดังกล่าว ในฐานะเป็นธุรกิจของคนไทย 100% ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอาหาร สามารถสร้างแบรนด์ “เอ็มเค สุกี้”ในช่วง20 ปีที่ผ่านมา

กระทั่งปัจจุบันเอ็มเคเป็นตราสินค้าที่ติดตลาดโดยมีรายได้ 6,000 ล้านบาท มากที่สุดเมื่อเทียบกับเชนร้านอาหารไทยด้วยกัน จากการมีสาขาเอ็มเคทั้งหมด 208 แห่งในไทย และประเทศญี่ปุ่น 17 แห่ง และกำลังต่อยอดขายธุรกิจอาหารญี่ปุ่น “ยาโยกิ” กับธุรกิจอาหารไทย “เลอ สยาม” (อ่านข่าว เอ็มเค ประกอบในหน้า 28)

นายฤทธิ์ ธีระโกเมน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ จำกัด ผู้บริหารเอ็มเคสุกี้ ได้กล่าวถึงเรื่องการดำเนินธุรกิจยุคนี้ให้เกิดได้-ไปดีนั้น ประกอบด้วย 7 ประการ ประการแรก ต้องเรียนรู้ความเป็นมาของโลก เพราะในยุคนี้เป็นยุคแห่งองค์ความรู้(Know Ledge –Age) คือ ต้องนำความรู้ที่ได้รับมาดำเนินธุรกิจ เพราะในยุคนี้แตกต่างจากในยุคของเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่คิดจะทำอย่างเดียว ไม่ได้ต้องนำความรู้ต่างๆเข้ามาผสมผสาน ยกตัวอย่าง เอ็มเค นำเรื่องความรู้ที่ได้รับความใช้ โดยใช้ “โภชนาการ” เข้ามาสื่อสารเพราะมองว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจอาหาร

ประการที่สอง นักธุรกิจจะต้องเปรียบเสมือนนักพยากรณ์ หรือสามารถมองแนวโน้มในอนาคต โดยนำสิ่งต่างๆรอบตัวมาวิเคราะห์ ได้แก่ ด้านประชากรศาสตร์ เช่น ในอนาคตประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิลจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้านไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันผู้บริโภคท่องเที่ยวแนวไหน ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มหล่อหลอมรวมกันและเป็นเทรนด์ในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้านเทคโนโลยี มีการตัดเชือกด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ด้านการแข่งขันซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณทั้งในและนอกประเทศ และด้านสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นายฤทธิ์ กล่าวต่อถึงประการที่สามว่า ผู้ประกอบการต้องเข้าใจแนวโน้มและความต้องการของลูกค้าสมัยใหม่ เพราะเป็นยุคที่เปลี่ยนอำนาจจากผู้ขายเป็นยุคของผู้ซื้อ ในขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่นี้ส่วนใหญ่จะมีเวลาน้อย มีปากมีเสียงมากขึ้น ต้องการของมีคุณภาพ บริการดี และที่สำคัญ คุ้มค่าคุณภาพดี ความคาดหวังลูกค้าสูงขึ้นตลอดเวลา การตัดสินใจซื้อมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ต้องการความหลากหลาย และประการสำคัญ ฉลาดไม่เชื่อข้อมูลง่ายๆ และมีไลฟ์สไตล์ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น

“มีสินค้าหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะพบความต้องการของลูกค้า ยกตัวอย่างว่า ดิสเคานต์สโตร์เกิดได้เพราะ คนต้องการสินค้าราคาถูก อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีเวลา คอนวีเนียนสโตร์เกิดขึ้น เพราะต้องการความสะดวกสบายไม่มีเวลาไปซื้อของที่ไกลบ้าน สปาเกิดขึ้นเพราะคนต้องการมีสุขภาพที่ดี ขณะที่ตัวเอ็ม เค เองขณะนี้เริ่มมีพีดีเอมาใช้ในการสั่งอาหาร เนื่องจากพบว่าลูกค้าต้องการความรวดเร็วในการเสิร์ฟอาหาร อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์เอ็มเคให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น”

นอกจากจะต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าแล้ว การสร้างธุรกิจยุคนี้ให้เกิด-ไปดี ในประการที่สี่ ยังต้องมองถึงการแข่งขันว่าจะชนะต้องทำยังไง ไม่ใช่ต้องทำให้ดีกว่าก็พอ ทำให้ถูกกว่าก็พอ ต้องทำให้ทั้งสองให้ถูกพูดถึง และต้องทำให้ไม่เหมือนใคร ทำให้ลูกค้าเห็นถึงความแตกต่าง พิจารณาจาก สถานที่ เงิน ยี่ห้อ ลิขสิทธิ์ กรรมวิธี และประการสำคัญ คอนเซปต์ต้องมีความแตกต่างหรือคิดนอกกรอบ อีกทั้งยังต้องพิจารณาจากเวลาเป็นตัวประกอบด้วย

ส่วนประการที่ห้า จะต้องมาพิจารณาถึงความสามารถของบริษัทเอง และหาสิ่งที่สามารถมาเสริมได้ เช่น ประเทศไทย มีศิลปะวัฒนธรรมที่ดี แต่ไม่สามารถปรับเข้ากับความต้องการของโลกได้ มีที่เพาะปลูกทางการเกษตร แต่ขาดเทคโนโลยี มีแรงงานแต่ขาดเทรนนิ่ง ประชากรยังหาจุดเด่นของตัวเองไม่เจอ มีการศึกษาที่ดีแต่ขาดโอกาส ส่วนประการที่หก ต้องออกแบบระบบสินค้าและบริการที่ดี โดยวัตถุดิบดีการออกแบบโดนใจลูกค้า ระบบการผลิต ขนส่ง การตลาด และบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ และมีระบบข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วทันเวลา

ประการสุดท้าย ที่จะขาดไม่ได้สำหรับสร้างธุรกิจยุคนี้ให้เกิดได้และไปได้ดี คือ เรียนรู้ที่จะจัดการได้ดี ประกอบด้วย อุดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง รู้จักใช้ขบวนการแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ ความโปร่งใส การมีธรรมภิบาล การบริหารเวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.