|
แบงก์ชาติปราบเงินเฟ้อแค่สะเก็ดระเบิดเศรษฐกิจขยายตัวบาดเจ็บฟกช้ำเล็กน้อย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบไล่หลังติดกันไม่นานของแบงก์ชาติ นอกจากจะกลายเป็นความกังวลต่อภาคธุรกิจว่าจะมีผลเบรกการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่าการปราบเงินเฟ้อด้วยวิธีปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีจุดสิ้นสุดตรงไหน ล่าสุดผลการศึกษาฝั่งบางขุนพรหมเชื่อสนิทใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังมีหน้าตาดูดี ไม่มีผลกระทบให้น่ากังวล แม้ความเชื่อมั่นหรือการบริโภคจะหดตัว แต่ภาคส่งออกยังทำหน้าที่ "พระเอก"ประคับประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ ผู้บริหาร"แบงก์บัวหลวง"เห็นพ้องการควบคุมเงินเฟ้อคงเกิดอีกไม่กี่ครั้ง และแทบไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศ แต่เป็นผลมาจากต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น...
อัมพร แสงมณี ผู้บริหารส่วน ส่วนวิเคราะห์และกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บอกว่า ภาพรวมการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ไม่ได้กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศมากนัก เพราะนโยบายแต่ละครั้งที่ประกาศออกมาล้วนอยู่ภายใต้กรอบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงทางธปท.ได้มองทิศทางของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อในอนาคตแล้วว่าจะอยู่ที่ระดับใด การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้งจึงเป็นไปอย่างระวังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
อัมพร อธิบายว่า ที่มองว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ทั้ง ๆ ที่นโยบายดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยการลงทุน เพราะต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าบริโภคมีราคาที่สูงความทสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เช่นเดียวกับความสามารถทางการชำระหนี้ แต่จากการที่ศึกษากลับพบว่าปัจจัยดังกล่าวไม่ได้มีผลมากนักแม้ว่าในส่วนของภาคการบริโภคจะมีการชะลอตัวลงก็ตาม
เนื่องจาก อัตราการชะลอที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีผลมาจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร่งตัวขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่น ๆ ได้แก่ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้เพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง
"อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยโยบายทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มก็ได้รับผลดี ซึ่งคือกลุ่มที่ฝากเงิน จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหลังนโยบายดังกล่าวประกาศมา 1 ปี และเริ่มเร่งตัวมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 49 เป็นผลให้สัดส่วนการออมของภาคครัวเรือนเริ่มเพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนสัดส่วนการออมมักมาจากภาคเอกชน"
กระนั้นก็ตาม ดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นการฝากเงินแบบพิเศษ ซึ่งจะทำให้หลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยฝากประจำแล้ว ธนาคารจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นรูปแบบที่ออกมาเพื่อดึงดูใจลูกค้าและรักษาฐานเงินฝาก ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนไม่สูง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอายุครบกำหนด เช่น 7 เดือน 8 เดือน 9 เดือน หรือ 10 เดือนเป็นต้น ซึ่งการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารสามารถให้ดอกเบี้ยที่สูงได้
ทำให้ปัจจุบัน ดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำจึงไม่ขยับไปไหน ยังเป็นผลให้ช่วงว่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ยังคงอยู่ห่างกันมากนักแต่ในอนาคตสัดส่วนดังกล่าวจะแคบลงมา
อัมพร บอกอีกว่า ภาคธุรกิจเองก็มีการพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินน้อยลง เพราะมีช่องทางอื่นในการหาทุนเพื่อขยายธุรกิจ โดยเฉพาะกำไรสะสมของบริษัทดังนั้นที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าอัตราการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเริ่มอยู่ในระดับทรงตัว และสอดคล้องกับทางธนาคารเช่นกันที่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มประกาศใช้ เพราะธนาคารเองก็กลัวว่าความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภคซึ่งอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ แต่ อัมพร ก็บอกว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อการชำระหนี้มากนัก เหตุผลก็คืออัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และทางธนาคารเองก็ไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยพรวดพราดหลังจากที่ธปท.ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ความสามารถในการชำระของผู้บริโภคยังไม่ลดลง
และนี่คือผลที่เกิดขึ้นจากกรส่งผ่านนโยบายทางการเงินที่ ธปท.นำมาใช้ ซึ่งไม่ใช่เพื่อเบรกในเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่วิ่งทะยานไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ก็คำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย
อัมพร ได้สรุปภาพเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่ที่เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวในอัตราที่ชะลดลง แต่เนื่องจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้สูญเสียแรงผลักดันของเจริญเติบโต อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินยังเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้นมาก
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ให้ความเห็นต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ครั้ง เพราะเชื่อว่าใกล้จุดขีดสุดแล้ว ยิ่งถ้าเทียบกับเฟดซึ่งมีการปรับอัตราดอกเบี้ยมานาน ทางเฟดเองก็อาจเริ่มที่จะเห็นแนวทางในการยุตินโยบายทางการเงินนำเศรษฐกิจเสียที อีกทั้งการนำนโยบายการเงินมาใช้ต่อไปก็คงไม่บังเกิดผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันเท่าใดนัก
"เชื่อว่านโยบายด้านการเงินเพียงอาจไม่ส่งผลต่อเสถีรภาพเศรษฐกิจได้ตามหลักทฤษฎีอีก เพราะถ้าจะให้พิจารณาจริง ๆ นโยบายการเงินนั้นสามารถคุมได้เมื่ออุปสงค์สูงทำให้ราคาสินค้าสูงการนำนโยบายการเงินมาใช้จึงช่วยได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว แต่เป็นเพราะโครงสร้างและต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นต่างหากที่เป็นตัวผลักให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ไม่ได้มาจากอุปสงค์"
การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.คงจะมีขึ้นอีกไม่กี่ครั้ง เพราะหลังจากนั้นแล้วนโยบายการเงินคงส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไม่มากนัก เพราะอย่างที่กล่าวไว้ราคาและเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ไม่ได้มาจากอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภค หากแต่เกิดจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นต่างหากที่ทำให้ไม่สามารถใช้นโยบายทางการเงินช่วยได้อีก ดังนั้นคงต้องหานโยบายและแนวทางอื่นในการช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|