|
"ดอกเบี้ยนิ่งหรือขยับ"ก็ป่วนเศรษฐกิจคลัง-ธปท.กุมขมับคลำหาทางออกไม่เจอ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"คลัง-แบงก์ชาติ" คิดไม่ตก "นโยบายการเงิน"เจอทางตัน เริ่มสับสนจับทางไม่ถูกว่า "ดอกเบี้ยนโยบาย" ควรปรับขึ้นหรือหยุดนิ่ง แม้คลังจะส่งสัญญาณเบรกแบงก์ชาติหยุดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้การส่งออกไหลลื่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่สัญญาณดังกล่าวกลับสวนกระแสโลก โดยเฉพาะทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งหากแบงก์ชาติหยุดดอกเบี้ยนโยบาย เงินทุนจำนวนมหาศาลไหลก็อาจไหลบ่าออกไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ผลก็คือแรงสั่นสะเทือนจะส่งมาถึงฝั่งการลงทุน ที่จะมีผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม...
แม้กระทรวงการคลัง จะออกมาให้สัญญาณแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรขยับขึ้นไปมากกว่า 5% แต่กระแสดอกเบี้ยทั่วโลกกลับไม่เป็นเช่นนั้น เฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ อาจไม่หยุดปรับดอกเบี้ย เหตุเพราะกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น กำลังจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น จนกลายมาเป็นแรงหนุนให้ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกันไป
สมชัย สัจจพงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้เหตุผลของการส่งสัญญาณการปรับตัวของดอกเบี้ยนโยบาย ควรใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วนั้น เพราะมองว่าหากขยับอีกต่อไปจะอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง เพราะยามนี้การส่งออกคือกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากกลไลดังกล่าวสะดุดข้าง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ โดยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรจะปรับดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 5% ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสม จากปัจจุบันที่อยู่ 4.75%
แม้คลังจะให้สัญญาณเช่นนั้นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามได้...
พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง บอกว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ทาง ธปท. ต้องทำการบ้านหนัก เพราะต่อไปการพิจารณานโยบายดอกเบี้ยคงดูจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเศรษฐกิจโลกโดยรวม และประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งไมใช่มีแค่มหาอำนาจสหรัฐเจ้าเดียวเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น และจีนที่มีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
เหตุใด....? กลุ่มประเทศดังกล่าวจึงมีผลต่อการปรับตัวของดอกเบี้ย พงษ์ภาณุ อธิบายว่า เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการขยายตัวที่ส่งผลสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และในปีที่ผ่านมากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการการขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะ การขยายตัวของญี่ปุ่นนั้นถือได้ว่ามีนัยยะที่สำคัญมาก
ในปีที่ผ่านมา การขยายตัวของจีดีพีโลก อเมริกากินส่วนแบ่งไปถึง 28% ขณะที่กลุ่มอียูก็มีส่วนแบ่ง 28% และญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งถึง 10% พอ ๆ กับการเติบโตของกลุ่มเอเชียที่ขยายตัว 10% ดังนั้นเห็นได้ว่า แค่ กลุ่มประเทศดังกล่าวขยายตัวก็กินส่วนแบ่งจีดีพี ไปกว่าครึ่งแล้วจึงเป็นผลให้กลุ่มดังกล่าวมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
พงษ์ภาณุ เล่าว่า ที่สำคัญก็คือการขยายตัวดังกล่าวโดยเฉพาะของ ญี่ปุ่นที่สามารถพลิกสถานการณ์จากประเทศที่เหมือนเจ้าหญิงนิทราที่หลับไม่รู้ตื่น ให้กลับมาขยายตัวได้ถึง 4% ในไตรมา4 ปีที่ผ่านมา การเติบโตดังกล่าวจึงมีนัยยะสำคัญ เพราะประเด็นนี้ทำให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาประกาศว่าญี่ปุ่นถึงจุดเปลี่ยนนโยบายจากการใช้นโยนบายสภาพคล่องส่วนเกิน คือการจัดสภาพคล่องเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากนี้ไปจะเริ่มใช้นโยบายดูดสภาพคล่องส่วนเกินออกมา แม้ทุกวันนี้ดอกเบี้ยผลตอบแทนของญี่ปุ่นจะยังอยู่ที่ 0% ก็ตาม หากแต่ถ้าดูดสภาพคล่องได้หมดแล้ว ดอกเบี้ยก็จะขยับขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขยับขึ้นประมาณ กรกฎาคมหรือสิงหาคม
ประเด็นดังกล่าว พงษ์ภาณุ ถึงกลับเอ่ยออกมาว่า " ถ้าผมเป็นแบงก์ชาติ คงต้องปวดหัวแน่กับการเลือกใช้นโยบายการเงินว่าจะปรับไปในทิศทางใดถึงจะดีที่สุด ควรจะขึ้นดอกเบี้ยหรือ คงนิ่งไว้ เพราะถ้านิ่งไว้ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยโลกขยับแน่นอนว่าเงินทุนที่เคยไหลเข้ามาประเทศไทยจำนวนมหาศาลที่ผ่านมาก็จะไหลไปสู่ประเทศที่มีการขยับอัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าขยับดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นก็กระทบต่อการส่งออกซึ่งเป็นวงจรสำคัญของเศรษฐกิจไทย"
สหภาพยุโรป(อียู) ก็เป็นอีกกุล่มที่มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ย พงษ์ภาณุ เล่าว่า กลุ่มอียูตอนนี้เริ่มเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธนาคารกลางอียูได้กำหนดเพดานเงินเฟ้อไว้ที่ 2% แต่ขณะนี้เงินเฟ้อเริ่มขยับเกินเพดานที่กำหนดแล้ว ดังนั้นแนวโน้มของอียูที่จะขยับอัตราดอกเบี้ยย่อมมีสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
"กลุ่มอียูค่อนข้างมีปัญหากับแรงงาน การที่เงินเฟ้อขยับโดยที่ค่าแรงไม่เพิ่มขึ้นนั้นอาจก่อให้เกิดการประท้วงและหยุดงานได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในกลุ่มอียูเสมอ ดังนั้นทางเดียวที่จะสกัดเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น เพื่อลดการประท้วงของแรงงาน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางอียูจะขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดึงให้ประชาชนใช้จ่ายลดลง"
เมื่อตัวแปลหลักที่ขยับเศรษฐกิจโลกกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ผลจากส่วนนี้ก็ทำให้สหรัฐถึงกับเกิดอาการ ร้อน ๆ หนาว ๆ ได้เช่นกัน เพราะถ้าธนาคารกลางสหรัฐหยุดปรับดอกเบี้ยนโยบายในทันใด เงินทุนก็จะไหลออกไปสู่ประเทศที่มีการปรับดอกเบี้ยด้วยการให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่ต้องอ่อนลง และนำไปสู่ผลกระทบภาพกว้างที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ทั้ง ๆ ที่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วยังขยายตัวได้ถึง 3.2%
และเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าใดนักหากว่ากำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มหาอำนาจอย่างสหรัฐจะต้องมีอันชะลอตัว เพราะผลกระทบส่วนนี้ย่อมกระเทือนไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าสหรัฐคงใม่ยอมที่ให้เศรษฐกิจของประเทศต้องชะลอหรือย่ำแย่ลง ดังนั้นการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจึงมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไป ตามกระแสโลก
ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐนั้นค่อนข้างมีเศรษฐกิจที่เปราะบาง การขาดดุลทางการคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้สหรัฐต้องพึ่งแหล่งทุนจากประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างจีน เป็นต้น ซึ่ง พงษ์ภาณุ ถึงกับบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดยิ่งนักเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมาพึ่งเงินจากประเทศที่กำลังพัฒนา และโดยรวมแล้วสหรัฐต้องพึ่งกระแสเงินสดจากประเทศทั่วโลกถึง 70% ในการหนุนให้สหรัฐไม่ล้มด้วยการเข้าไปซื้อพันธบัตร
"มิหนำซ้ำที่ผ่านมาดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐแทบไม่ขยับขึ้นเลย ถึงกับสร้างความประหลาดใจให้กับ อลัน กรีนสแปร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ว่าเหตุใดจึงไม่ขยับทั้ง ๆ ที่เฟดก็ขยับดอกเบี้ยนโยบายมาตลอด คำตอบของปัญหาดังกล่าวก็เพราะว่ามีเม็ดเงินออมอย่างจีนเข้ามาซื้อพันธบัตรนั่นเอง ทำให้พันธบัตรระยะยาวดอกเบี้ยไม่ขยับสักที"
พงษ์ภาณุ บอกว่า อย่างไรก็ตามต้นปีนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวอย่าง 10ปี 20 ปี หรือ 30 ปีของสหรัฐปรับขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งนั่นหมายถึงผลกระทบที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับ เพราะเงินทุนคงไม่ไหลเข้ามาในประเทศกลุ่มนี้อีกแต่จะไปลงยังสหรัฐแทน
แม้ประเทศมหาอำนาจมีเศรษฐกิจที่เปราะบางแต่ก็ยังมีผลและกำลังมหาศาลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกหิจของโลก ปัจจัยใดที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศดังกล่าวต้องชะลอการเติบโตลงย่อมีผลกระทบไปสู่ประเทศอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในกำมือของสหรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีกลุ่ม อียู ญี่ปุ่น และพยักษ์มังกรไฟแรง อย่างจีน ที่เริ่มบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเวทีโลก ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนี้ต้องพึ่งพาหลายกลุ่มประเทศ
อันเป็นผลให้การปรับนโยบายของประเทศหนึ่งจะส่งผลไปอีกประเทศหนึ่งเพื่อรับกับนโยบายที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับที่ ญี่ปุ่นและกลุ่มอียูมีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน มหาอำนาจอาจกังวลและไม่หยุดหรือตรึงดอกเบี้ยตามที่หวังได้
และสำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน สภาวะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกเป็นสิ่งที่ต้องจับตามิอาจละได้ เพื่อนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม แต่ยามนี้ต้องบอกว่ายากจริง ๆ ต่อการตัดสินใจของ ธปท.ในเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพราะกระแสโลกที่วิ่งสวนทางกับความคิดของคนในประเทศ ทำให้แบงก์ชาติต้องปวดหัวอย่างหนักกับนโยบายการเงินที่ต้องประกาศในอนาคต...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|