สงครามจรยุทธ์"ล็อคอาณาจักรเงินฝาก"ปรับดอกเบี้ยกี่ครั้งแบงก์ก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วงการแบงก์ประกาศ "สงครามกองโจร" ซุ่มโจมตีคู่แข่งด้วยเงินฝากแบบพิเศษ ที่มีดอกเบี้ยเงินฝากไล่ขึ้นสูงจนเกินกว่าเจ้าของเงินออมจะอดใจไหว เลือกจังหวะที่รายได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่ลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงเงินลงทุนในหลักทรัพย์พุ่งปรู๊ด เพื่อล็อคอาณาจักรเงินฝากไม่ให้กระเด็นกระดอนข้ามค่าย ใช้ฐานลูกค้าที่มีในกำมือ ขยายพอร์ตธุรกิจในเครือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุป ช่วงดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดพีค คือเวลาตักตวงผลกำไรในช่วงดอกเบี้ยวิ่งไม่หยุด จากนั้นไตรมาส 2 ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม คือหันมาหารายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อ และเงินกู้ โดยสรุป ไม่ว่าดอกเบี้ยจะไต่ขึ้นหรือพุ่งไปถึงสุดสูงสุด แบงก์ก็ไม่มีอะไรจะเสีย แถมได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง....

หลายคนอาจประหลาดใจระคนสงสัย จนถึงกับแอบตั้งคำถามอยู่ในใจว่า ในเมื่อสภาพคล่องที่วนเวียนอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีอยู่เหลือล้น ในขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยออกไปก็ค่อนข้างอืดเต็มที แต่ทำไมบรรดาแบงก์ต่างๆจึงประกาศสงครามช่วงชิงเงินฝากกันจนผิดสังเกตุ

ว่ากันว่า หลายแบงก์มีเงินใหม่จากแบงก์อื่นไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน กระทั่งล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ สภาพคล่องพุ่งขึ้นไปยืนเหนือระดับ1.64 ล้านล้านบาท จากเงินฝากที่ทะลักเข้ามาประมาณ 1.88 แสนล้านบาท สูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อที่ 3.6 หมื่นล้านบาท

โปรแกรมบัญชีเงินฝากพิเศษ ที่แบงก์ต่างๆนำมาเป็นแม่เหล็กล่อใจเจ้าของเงินออมในช่วงนี้มีตั้งแต่ อายุครบกำหนด 7 เดือน 8 เดือน 9 เดือนหรือ 10 เดือน แถมให้ผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝากปกติทั่วไป และยังสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

ผู้คนทั่วไปอาจจะแปลกใจผสมพึงพอใจที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ขณะที่วงการนายแบงก์กลับเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ตรงกันข้ามรูปแบบการทำสงครามดึงเงินฝากแบบพิเศษ ด้วยการสู้ราคาตอบโต้กันไปมา ก็คือ การดิ้นรนเพื่อรักษาอาณาจักรเงินฝาก ขณะเดียวกันช่วงที่น้ำขึ้นก็ต้องรีบตักและโกยให้เร็วที่สุด

หลายแบงก์เริ่มเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาฐานที่มั่นเดิม ไม่ให้ลูกค้าเดิมแปรพักตร์ย้ายไปค่ายอื่น....

ที่เห็นชัดสุดน่าจะเป็นค่าย "เคฮีโร่" ตระกูลเคแบงก์ที่เปิดตัวธุรกิจในเครือสร้างความน่าสนใจให้กับเจ้าของเงินฝาก ไม่ว่าจะเป็น บริษัทหลักทรัพย์(บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เช่าซื้อ ลีสซิ่ง แฟคตอริ่ง ก่อนจะเปิดตัวแคมเปญเงินฝากแบบพิเศษในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน

แบงก์กรุงศรีอยุธยา ที่เริ่มรุกไล่ข้ามมาถึงเฟส 2 ภายหลังการรีแบรนดิ้งได้ไม่นานก็ เปิดรายการร่วมกับพันธมิตรมากหน้าหลายตา โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ดึงลูกค้าให้หันมาใช้บริการจากช่องทางต่างๆของธนาคารเพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้มากที่สุด

ขณะที่แบงก์อื่นๆ ก็ทยอยรุกไล่หลังตามมาติดๆ ทหารไทย เริ่มสร้างความจดจำภายใต้แบรนด์หลังการควบรวมเพิ่งเสร็จสิ้นไม่นาน พร้อมเปิดตัวธุรกิจในเครืออยู่เป็นระยะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อธิบายมูลเหตุที่แบงกต่างๆ หันมาประกาศสงครามช่วงชิงบัญชีเงินฝาก ด้วยโปรดักส์ใหม่ เงินฝากบัญชีพิเศษอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งนอกจากการรักษาฐานเงินฝากเดิม ส่วนสำคัญยังเป็นการดึงเอาจังหวะเวลาได้เปรียบ

นั่นก็คือช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นแต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด แบงก์ต่างๆก็ยังมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่รวมถึงเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นในประเทศ ในต่างประเทศ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ค่อนข้างสูง

โดยงบการเงินปี 2548 แบงก์ใหญ่ 4 แห่ง คือ กรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ที่มีส่วนครองตลาดรวมกัน 63% มีอัตราผลตอบแทนจากพอร์ตเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ 3.4% แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยที่ 0.9% ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนเงินฝากก็ยังมีมากพอจะทำให้แบงก์ต่างๆฟาดฟันกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนั้นดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็จะไหลเข้ามาพักอยู่ในอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารมากพอที่จะนำมาชดเชยผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษถึงประมาณ 4.1-8.2 พันล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยังอธิบายถึงรายรับดอกเบี้ยจากสินทรัพย์สภาพคล่องที่สูงขึ้นของแต่ละธนาคาร อาจถูกหักล้างโดยต้นทุนการโยกย้ายบัญชีเงินฝากของลูกค้าหน้าเก่าของแบงก์นั้นๆเอง เช่นย้ายจากบัญชีออมทรัพย์ที่กินดอกเบี้ยเพียง 0.75% มาที่บัญชีเงินฝากพิเศษดอกเบี้ยระหว่าง 4.25-5.125 % ทำให้ธนาคารก็ต้องแบกภาระสูงขึ้น

เมื่อรูปแบบการไหลเข้าของเงินจะออกมาในลักษณะนี้ แบงก์ต่างๆจึงต้องกำหนดระยะเวลาช่วงโปรโมชั่นไม่ให้ยืดยาวมากนัก เพื่อไม่ให้แบงก์แบกภาระจนเกินพอดี

ดังนั้น ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศและต่างประเทศยังไต่ระดับสูงขึ้น รายได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารก็มีมากพอ จะทำให้แบงก์ต่างๆประกาศสงครามห้ำหั่นราคากันได้พักใหญ่ๆ หรืออาจจะต่อสู้ฟาดฟันกันไปจนถึงช่วงกลางปีนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่ดอกเบี้ยขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุดหรือ จุดพีค แรงจูงใจจากรายได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องก็จะปิดฉากลง ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ก็จะเห็นรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

เพราะรายได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องจะคงที่ ขณะที่ต้นทุนเงินฝากมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำปีก่อนหน้านี้และในช่วงครึ่งแรกของปี ดังนั้นการสู้ราคาเงินฝากก็ยังไม่จูงใจอีกต่อไป

แบงก์ทุกแห่งก็จะปรับกลยุทธ์จากการรักษาฐานลูกค้า และเร่งสร้างกำไร ด้วยการพึ่งพารายได้ผลตอบแทนสินทรัพย์สภาพคล่อง ในช่วงดอกเบี้ยขยับขึ้นมาเป็น การคาดหวังจากการปล่อยสินเชื่อ และปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทดแทน เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรให้ต่อเนื่อง

เท่านี้ก็คงพอจะเข้าใจได้แล้วว่า ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขยายขึ้นสักกี่ครั้งหรือ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แบงก์ต่างๆก็ยังสามารถกอบโกยผลกำไรได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ขณะที่ฝั่งเจ้าของเงินออมและลูกหนี้แบงก์ หลังไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป ก็คงต้องทำใจ เพราะนอกจากฝั่งออมเงินจะไม่น่าสนใจเหมือนเก่า ฝั่งหนี้สินก็จะมีแต่ขยับขึ้น ฝั่งนี้จึงมีแต่เสียกับเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง.....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.