คอเป็นเอ็น"คลังหลวงรั่ว"ไม่วิกฤตรัฐรับมือไหวโกยภาษีกระเป๋าตุงตามเป้า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"คลัง" กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ปัญหาเงินคงคลังรั่ว เปิดปากถึงแม้ไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ ก็ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ เพราะยังมีรายได้ในกระเป๋าจากการจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย จึงไม่น่าห่วง เปรยสัญญาณวิกฤติ "คลังหลวง" ดูได้ กระเป๋าฉีก รายได้จากเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรัฐจะมีการปรับอัตราภาษีให้สูง เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่าย แต่ตอนนี้สัญญาณยังเงียบ....

เงินคงคลังที่เคยมีอยู่ถึง 200,000 ล้านบาทในปี 2548 ลดฮวบลงมาที่ 40,000 ล้านบาท ในเดือน มีนาคม 2549 สร้างความประหลาดใจไม่น้อยต่อสาธารณะชน จนทุกวันนี้มองหน้ารัฐก็มีแต่คำถามว่าเงินดังกล่าวหายไปไหน ใช้จ่ายอะไรมากมายขนาดนั้นถึงได้เหลือกระแสเงินสดไม่พอที่จะหมุนชำระหนี้หรือแม้แต่การให้งบประมาณกับหน่วยงานภาครัฐที่เสนอโครงการเข้ามา

และที่แรงไปกว่านั้นกระแสข่าวว่ารัฐเบี้ยวเงินเพราะมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้รับเหมาก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่ค้างค่าจ้างหลายหมื่นล้านบาทกับผู้รับเหมาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเพราะเงินคงคลังมีไม่พอเป็นการเข้าใจผิด เพราะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใช้เงินกู้จากต่างประเทศจึงไม่เกี่ยวข้องกับฐานะเงินคงคลังแต่อย่างใด

ข้อกล่าวหาดังกล่าวยิ่งเป็นการดิสเครดิตภาครัฐให้ลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาชี้แจงแล้วว่าเงินคงคลังมีพอและไม่ได้ถังแตกอย่างที่โดนกล่าวหา แต่ตอนนี้เป็นการยากที่จะลบภาพของของภาครัฐในฐานะผู้เสียหายให้ออกจากสายตาได้

เพราะยามนี้ความมั่นใจของนักลงทุน หรือนักธุรกิจเองก็เริ่มสั่นคลอนไม่แน่ใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่าจะรุนแรงและเข้าขั้นวิกฤติเพียงใด และความสามารถในการแก้ปัญหาของภาครัฐนั้นมีมากน้อยเพียงใด

กระนั้นก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังคงไม่เข้าขั้นวิกฤติ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤติน้ำมันทั่วโลก ผลของเงินคงคลังที่มีไม่เพียงพอได้สร้างวิกฤติให้ประเทศ โดยสัญญาณที่เริ่มส่อเค้าออกมาว่าใกล้ขั้นวิกฤตินั้นจะต้องมีหลาย ๆ เรื่องผนวกกัน อย่างการที่ข้าราชการไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ในกระเป๋า

แต่ในวันนี้ยังคงเห็นได้ว่าภาษีที่เก็บได้นั้นยังคงเป็นไปตามเป้าหมายอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของสรรพากรที่เก็บได้เกินเป้าทุกปี แม้ว่าศุลกากรจะเก็บรายได้น้อยลงแต่ก็เป็นไปตามกติกาของโลก (จากข้อตกการค้า FTA)

เช่นเดียวกับสรรพาสามิตที่ชี้แจงว่าภาษีที่เก็บได้น้อยลงเป็นผลมาจากการรณรงค์ละเลิกบุหรี่ และสุราทั้งหลาย แต่การจัดเก็บของสรรพาสามิตจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ภาษีโดยอาจนำภาษีตัวใหม่มาใช้ อย่างภาษีสิ่งแวดลอมเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ

"ถ้าจะต้องเข้าขั้นวิกฤตินั้น สัญญาณแรกที่บ่งบอกได้เลยว่าภาษีที่จัดเก็บเริ่มทำได้ไม่เข้าไป แต่ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าภาพโดยรวมของการจัดเก็บภาษีอยู่ในระดับเกินเป้าตลอด"

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง บอกอีกว่า จริง ๆ แล้วเงินคงคลังที่มีอยู่มากเกินไปก็ใช่ว่าดี เพราะนั้นหมายถึงการนำภาษีของประชาชนมาเก็บไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้นำไปใช้พัฒนาประเทศชาติแต่อย่างใด ทำให้ต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกไป แต่ทีนี้เงินคงคลังเองก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของเวลาที่เงินไหลเข้าออก ซึ่งหมายถึงรายรับที่จะเข้ามาไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของการจ่าย อย่างช่วงเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณสูง ขณะที่รายรับจากภาษีเงินได้นิติบุคคลนำส่งเข้าคลังในต้นเดือนมิถุนายน จึงเป็นเหตุให้เงินออกและเงินที่เข้ามาไม่สอดคล้องกันและส่งผลต่อธุรกรรมรายจ่ายภาครัฐ

จะว่าไปก็เป็นการยอมรับว่าเงินคงคลังมีปัญหาจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการการนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่ามันเกิดขึ้นประจำโดยเฉพาะช่วงต้นปีงบประมาณ อีกทั้งมีงบเหลื่อมปีที่หลายหน่วยงานราชการเร่งเบิกจ่ายทำ เงินคงคลังเกิดอาการสะดุดได้บ้าง แต่ปัญหาทั้งหมดเคลียร์ได้ทุกครั้งเมื่อถึงฤดูการจัดเก็บภาษี

สมชัย บอกอีกว่า รายจ่ายที่มีจำนวนไม่แน่นอนเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเงินคงคลัง เพราะรายรับที่แน่นอนก็มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตรงนี้จะเข้ามาทุกเดือนเป็นจำนวนที่คลังรับรู้ว่ามีเม็ดเงินเท่าไร ส่วนรายจ่ายเป็นอะไรที่ไม่แน่นอนว่าจะเข้ามาเมื่อไร และเข้ามาเท่าใด

ยกตัวอย่างเช่นหน่วยงานราชการจะทำโครงการขึ้นมาจะต้องทำการประเมินราคา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะประเมินเสร็จเมื่อไร ซึ่งถ้ามาจบเอาช่วงปลายปีก็จะทำให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบเข้ามาซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงต้นของปีงบประมาณ และรายได้ในส่วนของเงินได้นิติบุคคลก็ยังไม่เข้ามา อาการช็อกจึงเกิดขึ้น

สมชัย ย้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งว่าเรื่องเงินคงคลังจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และรัฐจะมีรายจ่ายเพียงพอให้กับหน่วยงานที่เบิกจ่ายเข้ามา แต่ต่อไปนี้การเบิกจ่ายต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่เบิกงบแล้วไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร ฝากในบัญชีธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยอย่างนี้ก็คงไม่ได้ ต้องเป็นการเบิกจ่ายที่นำไปพัฒนาและลงทุนจริง

ไม่ว่าอย่างไร ต่อให้ฟ้าถล่มดินทลายก็คงไม่ได้รับคำพูดว่าเงินคงคลังกำลังมีปัญหา แม้จะไม่เข้าขั้นวิกฤติก็ตาม ก็แน่นอนหากขืนได้พูดออกไปว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข มีหวังความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศได้หดหายไปมากกว่านี้อีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.