|
กลยุทธ์ลงทุนในจีนแล้วรวย!ต้องแม่นกฎหมาย-รู้ระดับคู่ค้า
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“สงวน ลิ่วมโนมนต์” ทนายมือหนึ่งกฎหมายการค้าการลงทุนไทย-จีน แนะทำการค้าในจีนต้องศึกษากฎหมายให้ลึกซึ้ง ทั้งกฎหมายระดับประเทศ จนถึงกฎหมายท้องถิ่นที่แตกต่างกันทุกมณฑล โดยเฉพาะกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำการค้าของต่างชาติ-จีนโพ้นทะเล และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลจีนจะนำทรัพยากรแลกกับทุนและเทคโนโลยีทันสมัย ขณะเดียวกันต้องรู้เบื้องหลังผู้ร่วมทุนชี้ไม่รอบคอบ มีสิทธิเจ๊ง!
หลังจากจีนเปิดประเทศ และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมกับจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างมุ่งเข้าทำธุรกิจในจีน ไม่เว้นแม้แต่คนไทย แต่เส้นทางการค้า และการลงทุนใช่ว่าจะฝ่าไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายของจีนที่มีหลายระดับ การไม่ศึกษาให้ลึกซึ้งทำให้ที่ผ่านมามีคนไทยไม่น้อยต้องอกหัก!
รู้ลึกกฎหมายจีน
“ผมเสียดาย จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนมากเข้าไปทำการค้าขาย แต่มีหลายคนที่ไม่ทำการศึกษากฎหมายเชิงลึก ทำให้ธุรกิจต้องล้มเหลวไป”
สงวน ลิ่วมโนมนต์ ประธานสำนักกฎหมายลิ่วมโนมนต์ทนายความ-การบัญชี กล่าวว่า จีนแม้จะปกครองแบบสังคมนิยมมานาน แต่ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2001 (พ.ศ.2544) จีนได้ทำการปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นทางการหลายครั้ง และเตรียมตัวด้านกฎหมายเพื่อเข้า WTO เป็นเวลา 9 ปี คือตั้งแต่ปี 1992 (พ.ศ.2535) โดยกฎหมายของจีนจะเน้นนำเอาข้อดีของระบอบสังคมนิยม และระบอบทุนนิยมมาปรับให้เป็นเสรีทางการค้า ซึ่งถือว่าได้เอาส่วนที่ดีที่สุดของระบอบทุนนิยมมาใช้ในระบอบสังคมนิยม ทำให้ปัจจุบันจีนมีกฎหมายที่ทันสมัย รวมทั้งมีการวางแผนล่วงหน้า โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ก็วางแผนไว้จนถึงปี 2020 (พ.ศ.2563) หรืออีก 14 ปี ข้างหน้าแล้ว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันจีนแบ่งกฎหมายได้หลายระดับด้วยกัน คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ กฎระเบียบและการบริหาร กฎระเบียบประกาศโดยกระทรวง หรือคณะกรรมการ และกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีกฎหมายพิเศษการลงทุนเฉพาะท้องถิ่นด้วย
“กฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ถ้าไม่ศึกษาให้ละเอียด แม้จะเป็นบริษัทที่มีความเก่งกาจแค่ไหน มีประสบการณ์มากเท่าไร แต่ก็อาจล้มเหลวได้ง่าย”
กฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลท้องถิ่นนี้ มีตั้งแต่กฎระดับมณฑล ที่มีทั้งหมด 28 มณฑล ในแต่ละมณฑลก็ยังมีเมืองต่าง ๆ ที่มีกฎหมายลึกลงไปอีก รวมถึงต้องรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย เช่น ในเมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง เมืองคุนหมิง มณฑลยุนนาน ฯลฯ
“แต่ละเมืองมีกฎหมายต่างกัน เช่นคุนหมิง มีกฎหมายที่เน้นเชื้อเชิญคนต่างประเทศมาลงทุน โดยจะมีการยกเว้นภาษีให้ เป็นต้น”
จุดนี้ สงวน อยากให้รัฐบาลไทยเข้ามาช่วยเหลือนักลงทุนไทยที่ต้องการทำธุรกิจในจีน โดยตั้งทูตพิเศษทางด้านจีน โดยให้คนที่มีประสบการณ์ทางการค้าในจีน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงมาช่วย ดีกว่าจะใช้เพียงข้าราชการ เพราะข้าราชการอาจจะติดต่อทางธุรกิจ หรือหาช่องทางการค้าไม่ทันคนที่ได้รับการยอมรับ
แนะศึกษารูปแบบองค์กร-วิสาหกิจ
อย่างไรก็ดีขอแนะนำว่าหากใครจะเข้าไปทำธุรกิจในจีนควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ด้วย คือ
1.ต้องศึกษาให้รู้ว่าองค์กรธุรกิจของจีนเป็นอย่างไร ซึ่งธุรกิจของจีนจะประกอบไปด้วยลักษณะ การเป็นเจ้าของคนเดียว,คณะบุคคลเป็นหุ้นส่วน,หุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล,บริษัทจำกัด ซึ่งในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน สามารถที่จะให้คนคนเดียวจดทะเบียนบริษัทจำกัดได้แล้ว โดยอนุญาตให้จดทะเบียน 1 แสนหยวน (ประมาณ 5 แสนบาท) ขณะที่เมืองไทยจะอนุญาตให้จดทะเบียนบริษัทต้องมีหุ้นส่วน 7 คน
2.รูปแบบวิสาหกิจของจีน ก็มีหลายรูปแบบ ประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจที่กิจการเป็นของรัฐ วิสาหกิจเอกชน วิสาหกิจทุนส่วนตัว และวิสาหกิจทุนต่างประเทศ ที่อนุญาตให้คนต่างประเทศเข้ามาลงทุนทั้งหมด แต่ต้องแลกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
วิสาหกิจทุนต่างประเทศมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 3 กฎหมายด้วยกันคือ กฎหมายวิสาหกิจทุนต่างประเทศ กฎหมายร่วมทุน (เอกชน-คนต่างประเทศ) และกฎหมายร่วมมือ (รัฐ-ทุนต่างประเทศ)
กฎหมายร่วมมือนี้จะเป็นในลักษณะรัฐบาลจีนจะให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร กับนักลงทุนต่างประเทศ โดยนักลงทุนต่างประเทศจะต้องเข้ามาในลักษณะให้ทุน และเทคโนโลยี ซึ่งคนไทยต้องศึกษาเรื่องนี้เพื่อมาปรับกฎหมายในประเทศไทยด้วย
“ผมสอนหนังสือให้นักศึกษาจีน โดยเน้น 2 ทฤษฎีคือ FBI หรือ Fast Better Innovation และ CIA หรือ Collected Integration Actionable โดยธุรกิจสมัยใหม่จะอยู่รอดได้ต้องมี power technology บริษัทไหนทรัพย์สินทางปัญญา และองค์ความรู้ เหนือกว่าบริษัทอื่น บริษัทนั้น ๆจะอยู่รอด ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าจะเข้าไปแค่ค้าขาย ยังต้องนำสิ่งดี ๆ มาต่อยอดนวัตกรรมกลับมาด้วย”
เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี จีนยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยสัญญา กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแรงงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีอากรแสตมป์ ใบอนุญาตต่าง ๆ กฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาก
สิ่งที่กฎหมายจีนเข้มงวดมาก ๆ จะประกอบด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับผลเสียต่ออธิปไตย และผลประโยชน์สาธารณะของสังคมจีน เช่น ลัทธิฝ่าหลุนกง ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ก็คือสัญญาที่ไม่ตรงกับภาวะเศรษฐกิจประชาชาติ และกฎหมายที่อาจทำลายมลภาวะสิ่งแวดล้อม
โดยในกฎหมายทุนต่างประเทศจะระบุชัดว่า ห้ามธุรกิจที่อาจทำลายมลภาวะสิ่งแวดล้อม คือยังไม่ต้องทำธุรกิจ แต่ดูแล้วอาจทำลายสิ่งแวดล้อม ธุรกิจนั้นเป็นโมฆะ ต่างกับกฎหมายร่วมทุน ที่ระบุว่า ธุรกิจใดก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ธุรกิจนั้นเป็นโมฆะ
“ไม่ใช่ว่าคู่ค้าจะทำอะไรก็ได้ เขามีกฎหมายที่ควบคุมอย่างดี เพราะเขากลัวต่างชาติมาทำลายสิ่งแวดล้อมของเขา แพ้ชนะกำไร ขาดทุนเป็นเรื่องของการค้าขาย แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องรักษาไว้ เมืองไทยต้องดูตัวอย่างนี้ด้วย เพราะเมืองไทยโดยเฉพาะบีโอไอไม่มีกฎหมายแบบนี้”
อย่างไรก็ดี หากจะเข้าไปลงทุนในจีนจริง ๆ ขอแนะนำว่าควรจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการเงิน และกฎหมายการจัดการ ในสำนักงานเดียวไปช่วยเหลือ เพื่อดำเนินธุรกิจในจีนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจะสามารถศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและกฎหมายท้องถิ่นได้ละเอียดกว่า
นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะมีการวางแผนธุรกิจให้ดี เพราะแม้จะมีระบบบริหารจัดการดี แต่อาจล้มเหลวได้ในจีน
******************
“สงวน ลิ่วมโนมนต์” ทนายคู่ใจนายกฯชาติชาย
สงวน ลิ่วมโนมนต์ คนในแวดวงการค้าไทย-จีนรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะหลังจากเขาจบนิติศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แผนการเรียนจะเน้นกฎหมายธุรกิจมากกว่าด้านอื่น ๆ และจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสหรัฐอเมริกาเปรียบเทียบที่สถาบัน (INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE HAGUE PEASC PALACE NETHERLAND) เมืองดัลลัส เท็กซัส ก่อนได้ปริญญากฎหมายระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ศาลโลก ทำให้สงวนถนัดจึงเป็นเรื่องการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจดทะเบียนบริษัทห้างร้านต่าง ๆ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า
ความที่เรียนรู้ภาษาจีนตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาเริ่มบทบาททนายความด้วยการเป็นทนายความให้พ่อค้าจีนในเมืองไทย ทำตั้งแต่ว่าความในศาล เป็นตัวแทนในการดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของเมืองไทย จนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
รวมทั้งมีบทบาทในสมาคมไทย-จีนต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ที่เขามีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น ให้เป็นตัวกลางในการค้าขายระหว่างไทยกับจีนมานาน เขาจึงช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ต้องการไปทำการค้าขายในจีน เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายทั้งหมดด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซีพีที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน เขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคนหนึ่ง รวมทั้งเขายังได้ชื่อว่าเป็นทนายความคู่ใจของนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยสมัยที่มีชีวิตอยู่พลเอกชาติชาย ได้ให้เกียรติเป็นนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนมากว่า 15 ปี ขณะที่สงวน เป็นเลขาธิการฯ ให้สมาคมมาตลอด
นอกจากนี้ สงวน ยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ที่ผ่านมาเขาจึงได้รับเชิญในการร่างกฎหมายจีนหลายฉบับ ที่สำคัญคือ เป็นที่ปรึกษาศูนย์ WTO ของเมืองเสิ่นเจิ้น ที่ปรึกษาสมาคมอุดมศึกษาทางด้านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา 200 กว่าแห่ง เป็นอนุญาโตตุลาการของมณฑล Shijiazhuang เป็นนักวิจัยพิเศษของศูนย์วิจัยกฎหมายการเงิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเป็นที่ปรึกษาให้หลายบริษัทที่ลงทุนในจีน
รวมทั้งได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์ประจำ และศาสตราจารย์พิเศษสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีนหลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ เป็นศาสตราจารย์ประจำที่ East China University of politics and Law,มหาวิทยาลัยชิงเต่า,เป็นศาสตราจารย์เยี่ยมเยียน (Visiting Professor) ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้น
นอกจากนี้ เขายังได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้เป็นที่ปรึกษาหาอินโนเวชั่นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเมืองจีนมาเชื่อมให้กับไทยด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|