|

เน็ตเวิร์ก ทรานฟอร์เมชั่น เทรนด์ปรับตัว โอเปอเรเตอร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อัลคาเทลเชื่อ"เน็ตเวิร์ก ทรานฟอร์เมชั่น" กำลังกลายเป็นเทรนด์ระดับโลก
ระบุ ราคา มัลติมีเดียและทุกอุปกรณ์ใช้บริการเดิม โจกย์สำคัญที่โอเปอเรเตอร์ต้องตอบ
"เทเลตอม นิวซีแลนด์" "เทลสตาร์ ผู้นำเน็ตเวิร์ก ทรานฟอร์เมชั่นย่านเอเชียแปซิฟิก
เชื่อ "ทรู" ศักยภาพสูงรับเทรนด์โลก พร้อมทั้งเครือข่ายมีสายและไร้สาย
แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายโทรคมนาคมกำลังเป็นหัวข้อสำคัญในตลาดโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ซึ่งมีการกล่าวขานกันมากขึ้นทุกวัน ล่าสุดอัลคาเทล หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นผู้จัดการระบบสื่อสารให้แก่โอเปอเรเตอร์ อินเทอร์เน็ตรวมถึงบริการมัลติมีเดียได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็น "เน็ตเวิร์ก ทรานฟอร์เมชั่น" ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่นี้ว่า "ตลาดโทรคมนาคมในเอเชียแปซิฟิกได้มาถึงจุดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว"
"เทรนด์ดังกล่าวมีความชัดเจนมากแล้วในระดับโลก" คริสเตียน เรนาโด ประธานอัลคาเทล เอเซียแปซิฟิก บริษัท อัลคาเทล จำกัดตอกย้ำถึงเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น
โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ของโอเปอเรเตอร์ (โอเปอเรเตอร์) ที่เป็นผู้นำตลาดมักจะต้องทำการขยายและอัพเกรดเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีการเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติกันมาเริ่มจะไม่สัมฤทธิ์ผลในระยะยาวอีกต่อไป
"การพัฒนาเครือข่ายที่ดีและประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับหลักการในการทำบริการให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ต้องเลือกหาพันธมิตรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อให้เครือข่ายเหล่านั้นสามารถให้บริการที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลางหรือการให้บริการบรอดแบนด์เฉพาะบุคคลแก่ฐานผู้ใช้บริการได้"
คริสเตียน เรนาโดยังได้บอกถึงความต้องการต้นๆ ของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในประเทศแถบเอเซียแปซิฟิกในวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการอันเป็นเหตุผลที่ทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องทำการหลอมรวมและแปรเปลี่ยนเทคโนโลยีเครือข่ายที่มีอยู่ให้สามรถตอบสนองความต้องการดังกล่าวว่า จะประกอบไปด้วย หนึ่ง ความต้องการที่จะใช้บริการในรูปแบบมัลติมีเดีย โดยเฉพาะเรื่องของวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการรายบุคคลหรือจะเป็นลูกค้าทางด้านธุรกิจต่างก็มีความต้องการในเรื่องนี้มากกว่าบริการพื้นๆ ทางด้านเสียงและข้อมูลอีกต่อไป ซึ่งความต้องการเรื่องนี้นับว่ามหาศาลมาก
อัลคาเทลคาดว่า จะมีจำนวนผู้ใช้บริการไอพีทีวีเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2.6 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 70-100 ล้านคนในปี 2553 ซึ่งในแถบเอเชียแปซิฟิกเอง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไอพีทีวีจาก 9 แสนรายในปัจจุบันเป็น 16.5 ล้านคนในปี 2553 เช่นกัน
"สอง เป็นเรื่องของความคาดหวังที่การใช้บริการเดิมๆ จากอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ๆ และจะต้องมีความง่ายในการใช้งานอีกด้วย"
คริสเตียน เรเนโดกล่าวว่า "ราคา" เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริการที่มีอัตราค่าใช้ที่สูง ซึ่งมีผลให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปหาโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านราคาที่ถูกกว่าได้ตลอดเวลา และยิ่งมีการแข่งขันจากผู้ให้บริการที่มิได้มีเครือข่ายเป็นของตนเองที่สามารถให้บริการสื่อสารต่างๆ ยิ่งเป็นทางเลือกของผู้ใช้บริการในการมองหาอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า และยังนำมาถึงความต้องการของผู้ใช้บริการสำหรับบริการใหม่ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มรายได้จากการใช้บริการให้สูงขึ้น
"หากลูกค้ารายหนึ่งไม่พอใจกับการให้บริการของผู้ให้บริการรายหนึ่งแล้วก็สามารถเปลี่ยนการใช้บริการได้ทันที ส่งผลให้ผู้ให้บริการต้องมองหาวิธีลดต้นทุนให้ลดลง"
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ต่างต้องทำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนเพื่อจัดหาบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นประเด็นที่สำคัญของโอเปอเรเตอร์รายเดิมๆ ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"บิสซิเนสโมเดลของโอเปอเรเตอร์เดิมๆ ที่เป็นเพียงแค่เครือข่ายเพื่อการเข้าใช้บริการเท่านั้น อีกทั้งการออกแบบเครือข่ายก็ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ บริการไอพีทีวี ซึ่งบริการใหม่ๆ ที่โอเปอเรเตอร์จะต้องปรับเปลี่ยนก็คือ การให้บริการมัลติมีเดียที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่บริการเชื่อมต่อใช้บริการอีกต่อไป"
เจฟ เฮดัน ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาตลาด อัลคาเทล เอเซียแปซิฟิก บริษัท อัลคาเทล จำกัดกล่าว่า การลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมมีความยุ่งยากมากขึ้น อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีเองมีความซับซ้อนและต้องสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ดังนั้นรูปแบบของบริการต้องได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานของบริการ 3 เรื่อง หนึ่ง เรื่องของบริการทริปเปิ้ลเพลย์ สอง การหลอมรวมเครือข่ายสำหรับผู้ใช้งานหรือที่เรียกว่า Fix-Mobile convergence และสาม การบริหารจัดการเครือข่ายสื่อสารภายใต้เทคโนโลยีไอพี
"การหลอมรวมบริการต่างๆ ที่มีอยู่ต้องมีอัตราค่าบริการที่น่าใช้ด้วย ในกรณีของผู้ให้บริการรายใหม่ที่กำลังสร้างเครือข่ายของตนเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเครือข่ายของตนให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายเพื่ออนาคตด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้ว อาจต้องกลายเป็นผู้ตามและจะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีบนเครือข่ายอีกครั้ง" คริสเตียน เรเนโดกล่าว
คริสเตียน เรเนโดยังบอกอีกว่า ในแต่ละกรณีของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรที่เป็นโอเปอเรเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกจะต้องมีเทคโนโลยีไอพีเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเสมอ ทั้งนี้การยอมรับและเริ่มต้นใช้บริการมากมากของไอพีที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการด้านเครือข่ายและสร้างความคุ้มค่าการลงทุน นับเป็นจุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายยุคใหม่และเป็นไพ่ใบสำคัญของผู้ให้บริการที่จะมอบบริการใหม่ๆ และเพิ่มรายได้
"ความสำเร็จของอัลคาเทลต่อเรื่องเน็ตเวิร์ก ทรานฟอร์เมชั่นในระดับโลก ก็คือ การเปลี่ยนแปลงเครือข่ายให้กับโอเปอเรเตอร์รายต่างๆ ด้วยโซลูชั่นเอนด์ทูเอนด์ให้ รวมถึงความสามารถในการออกแบบเน็ตเวิร์กและบริการต่างๆ เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี
ประธานอัลคาเทล เอเซียแปซิฟิกได้ยกตัวอย่างว่า ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ทางอัลเคเทลได้รับเลือกจากบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัดให้เป็นผู้ปรับปรุงหลักในเครือข่ายของเอทีแอนด์เพื่อให้บริการทริ้ปเปิ้ลเพลย์แก่ผู้ใช้บริการกว่า 18 ล้านครัวเรือนภายในปี 2550
แนวคิดการหลอมรวมเทคโนโลยีเครือข่ายและการสื่อสารได้เกิดขึ้นและมีการใช้งานจริงแถบประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งสำหรับในฟากแอเซียแปซิฟิกนั้นมีการตื่นตัวและได้มีการนำแนวคิดการหลอมรวมเครือข่ายเข้าด้วยกันมาใช้กันบ้างแล้ว
"โอเปอเรเตอร์ในหลายๆ ตลาดของเอเชียแปซิฟิก ทั้งในประเทศพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ต่างแสดงความสนใจในทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงเครือข่าย ซึ่งทางอัลคาเทลเองอยู่ในช่วงระหว่างการเจรจากับผู้บริหารระดับสูงอยู่"
คริสเตียน เรเนโดเล่าต่อว่า โอเปอเรเตอร์ล้วนแต่เผชิญกับปัญหาที่ต้องสร้างความแตกต่าง และทุกรายเองก็มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน หากไม่ต้องสนใจในจุดเริ่มต้นที่ต่างกันแล้ว เห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงเครือข่ายเป็นแนวโน้มระดับโลกที่กำลังเปลี่ยนความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างอัลคาเทลกับผู้ให้บริการต่างๆ หลายครั้งที่สัมพันธภาพของอัลคาเทลกับลูกค้าทั่วโลกได้พัฒนาขึ้นเป็นมากกว่าผู้ขายอุปกรณ์ธรรมดาเท่านั้น
"มากกว่าเป็นการติดต่อเพื่อประมูลโครงการเป็นครั้ง แต่อัลคาเทลจะทำงานร่วมกันกับโอเปอเรเตอร์บนวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่ชัดเจนในระยะยาวด้วยกัน แน่นอนจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ครบวงจรควบคู่กันไปด้วย ซึ่งทำให้รูปแบบพันธมิตรนี้เป็นประโยชน์ต่อกันอย่างแท้จริง"
เวลานี้ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่มีการปรับปรุงเครือข่ายของตนไปบ้างแล้วนั้น อย่างเทเลคอม นิวซีแลนด์ เอสบีซี โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในจากประเทศนิวซีแลนด์ได้มีการลงทุนเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้บนเครือข่ายมาเป็นเทคโนโลยีไอพี วี6 มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 โดยใช้งบลงทุนกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประเมินว่า จะมีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมากขึ้นประมาณ 5 ล้านคนภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจากฐานผู้ใช้บริการโทรคมนาคมทั้งหมด 18 ล้านคน
"อัลคาเทลได้ร่วมทำงานกับเทเลคอม นิวซิแลนด์เพื่อช่วยยกระดับเครือข่ายเพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการเสริมต่างๆ เช่น บริการเน็กซ์-เจนเนอเรชั่น วอยซ์ บริการวันออฟฟิศ และบริการวีพีเอ็นต่างๆ ที่อยู่บนเทคโนโลยีไอพีสำหรับตลาดลูกค้าองค์กร"
เทลสตาร์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่มีการหลอมรวมการใช้งานของเทคโนโลยี โดยเชื่อว่า ส่งผลดีทั้งในแง่ของผู้ให้บริการ คือ สามารถคิดและนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น บริการไอพีทีวี ส่วนในแง่ของผู้บริโภคนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดบริการใหม่จากแนวคิดการหลอมรวมหรือคอนเวอเจนซ์"
ความเป็นไปได้ในไทย
สำหรับความเป็นไปได้ของแนวโน้มการหลอมรวมกันระหว่างเครือข่ายแบบมีสายกับเครือข่ายแบบไร้สายในประเทศไทยเกิดขึ้นจริงนั้น คริสเตียน เรเนโดมองว่า คงต้องมีความต้องการใช้บริการรูปแบบต่างๆ ที่สูงในระดับหนึ่งก่อน ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แรกๆ ที่จะเกิดแนวโน้มดังกล่าวก่อน เพราะตลาดมีความต้องการสูง ซึ่งเขาเชื่อว่า มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสูง
กลุ่มผู้ใช้บริการที่จะผลักดันกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มดังกล่าวนั้น เรเนโดมองว่า มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงานที่ทำงานตามบริษัทต่างๆ ที่มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการติดต่อสื่อสารที่ต้องการใช้บริการสื่อสารที่หลากหลาย เมื่อทำงานอยู่ที่งานมีความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เมื่อออกนอกที่ทำงานก็ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ครั้นกลับมาเข้าสู่บริษัทก็ปรับเปลี่ยนมาใช้บริการในรูปของไว-ไฟแทน
"กลุ่มคนที่เรียกว่า โมบิลิตี้จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องเดินทางบ่อยๆ จะเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้บริการโทรคมนาคมที่หลากหลายรูปแบบเช่นกัน"
เมื่อถามถึงโอเปอเรเตอร์รายใดในประเทศไทยที่มีศักยภาพที่ปรับตัวรับกับเทรนด์โลกที่กำลังเกิดขึ้น คริสเตียน เรเนโดบอกว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทคนไทยที่มีความพร้อมทั้งเรื่องเครือข่ายแบบมีสายและไร้สายภายในบริษัทเดียวกัน
"ทรูมีความพร้อมเนื่องจากมีบริการเครือข่ายทั้งมีสายและไร้สาย ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะมีการหลอมรวมทั้ง 2 ส่วนเพื่อนำเสนอเป็นบริการเดียว แถมยังมีความได้เปรียบกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นในเวลานี้ ทางอัลคาเทลได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และรูปแบบของการทำตลาดกับทางทรูแล้ว โดยยังอยู่ระหว่างการเจรจาจึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการหลอมรวมเครือข่ายนั้น เรเนโอมองว่า เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีจุดเริ่มต้นจากการให้บริการแบบมีสายก่อน ซึ่งทรูและบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ ซึ่งเมื่อใดที่ทั้งสองบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถรสร้างความแตกต่าง และยังเป็นการผลักดันให้ผู้ให้บริการรายอื่นมีการเปลี่ยนแปลงและนำเสนอบริการใหม่เช่นเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|