ความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ของช่อง 7 สีในวันนี้ มาจากผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หรือ 'คุณแดง' หรือ 'คุณนายแดง' คือเบื้องหลังความสำเร็จนั้น
เธอสร้างช่วงเวลาไพร์มไทม์ของช่อง 7 สีให้กลายเป็นเวลาทอง ท่ามกลางการแข่งขัน
เธอยืนต้านพายุจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ได้อย่างไร มาวันนี้เธอกำลังถูกท้าทายครั้งใหม่
โดยมีช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่เธอปั้นมากับมือเป็นเดิมพัน ช่อง 7 สีและ 'คุณนายแดง'
เป็นเป้าของสงครามครั้งนี้!
สู่ถนนสายบันเทิง
หลังการเสียชีวิตของพันโทชายชาญ เทียนประภาส พี่ชายคนที่สอง เมื่อวันที่
4 เมษายน 2523 ประมาณ 1 ปี "สุรางค์ เปรมปรีดิ์" ก็ถูกขอร้องจากชาติเชื้อ
กรรณสูต พี่ชายคนโต ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ
จำกัด แทนชายชาญ ให้เข้ามาช่วยทำงานที่ช่อง 7 สี ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นธุรกิจของคนในตระกูลเทียนประภาสและกรรณสูต
การชักชวนของชาติเชื้อครั้งนั้นทำให้ชีวิตเรียบ ๆ ของสุรางค์ ที่มีความสุขอยู่กับการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเรวดี
พร้อม ๆ กับการดูแลนิตยสารสตรีสารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สืบทอดแทนคุณแม่คือ
เรวดี เทียนประภาส ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะโดยพื้นฐานการศึกษาแล้ว ชีวิตของสุรางค์ (หรือที่คนรู้จักสนิทสนมจะเรียกเธอว่าคุณแดง)
ถูกวางเป้าหมายไว้ให้เป็นครูมากกว่าอย่างอื่น เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ก่อนที่จะไปเรียนต่อระดับปริญญาโท
ด้านการจัดโปรแกรมการศึกษาที่ยูซีแอลเอ โดยเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับท่านมุ้ย
(หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) แต่เรียนกันคนละรอบ สุรางค์เรียนรอบกลางวัน ส่วนท่านมุ้ย
ซึ่งชอบชีวิตราตรี เรียนรอบกลางคืน
"คุณสุรางค์เรียนหนังสือเก่งมากแล้วก็ไม่หวงความรู้ จะช่วยติววิชาต่างๆ
ให้เพื่อนตอนใกล้สอบเป็นประจำ" คนใกล้ชิดสุรางค์เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังอย่างชื่นชม
ดังนั้นถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุในช่อง 7 แล้ว ชีวิตของสุรางค์จึงน่าจะอบอวลอยู่ในแวดวงการศึกษา
เช่นเดียวกับ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ คู่ชีวิต อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ต้องเข้ามาสู่เส้นทางบันเทิงช่วงหนึ่งเหมือนกัน ต่างกันเพียงว่า ดร. ไพโรจน์อยู่เงียบ
ๆ เบื้องหลังช่วงสั้น ๆ แต่สุรางค์นั้นกระโดดเข้ามาเต็มตัว
ปัจจุบัน ดร. ไพโรจน์ลาออกจากการเป็นข้าราชการเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา
หลังจากอยู่ในตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์นานถึง 4 สมัย หรือ 16 ปี
แม้ว่าก่อนการเสียชีวิตของชายชาญ สุรางค์จะเป็น "กรรณสูต" คนเดียวที่ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในเชิงบริหารในช่อง
7 สี มาก่อน แต่เธอก็มีความสัมพันธ์กับที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมีชื่อเป็นผู้ก่อตั้งช่อง
7 ด้วยคนหนึ่ง รวมทั้งเข้าเป็นกรรมการแทน "เฑียรร์ กรรณสูต" น้องชายของพ่อ
ที่มีปัญหาขัดแย้งกับเรวดีจนต้องลาออกไปเมื่อเดือนกันยายน 2511 ขณะนั้นเธอมีหุ้นอยู่ในช่อง
7 จำนวน 80 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 800,000 บาท ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
ขณะนั้นหุ้นของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด แบ่งเป็น 1,000 หุ้น
มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท
งานแรกที่สุรางค์ได้รับมอบหมายจากชาติเชื้อให้รับผิดชอบ คือ การขายเวลาให้กับช่อง
7 แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องเข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายรายการ ซึ่งแต่เดิม
"ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวช" ภรรยาชายชาญเป็นคนดูแลรับผิดชอบ
ชัชฎาภรณ์ เข้ามาช่วยงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจากการเสียชีวิตของเรวดี
ตามคำชักชวนของชัยชาญ ซึ่งขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการของช่อง 7 แทนแม่ ที่สุดความใกล้ชิดกับชายชาญทำให้ทั้งสองอยู่ร่วมกันจนมีบุตรชายหนึ่งคน
ว่ากันว่าในช่วงที่สามีเรืองอำนาจในช่อง 7 นั้น ชัชฎาภรณ์มีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านรายการของช่อง
7 จนได้รับการขนานนามว่า เจ้าแม่ทีวีทีเดียว
หลังจากสิ้นบุญชายชาญใหม่ ๆ ชัชฎาภรณ์ได้รับการคาดหมายจากหลายฝ่ายว่าจะได้เป็นรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีแทนสามีที่จากไป
แต่ผู้ถือหุ้นได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการรักษาการกรรมการผู้จัดการขึ้นมาร่วมกันบริหารสถานีคณะหนึ่ง
ประกอบด้วย ดร. ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ นายพิสุทธิ์ ตู้จินดา นายสมภพ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสหสมภพ)
ศรีสมวงศ์ ร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์ ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ และวีระพันธ์ ทีปสุวรรณ
โดยมอบหมายให้ ดร.ไพโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน
ดร. ไพโรจน์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 22 เมษายน
2523
"เพราะชาติเชื้อปฏิเสธที่จะกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการสถานีแทนชายชาญ
โดยอ้างว่ายังติดพันอยู่กับการทำเหมืองร่วมกับสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ ที่กาญจนบุรี
เลยต้องให้ ดร. ไพโรจน์เข้ามาดูแล จนเมื่อชาติเชื้อยอมกลับมาทำงานที่ช่อง
7 อีกครั้งในปี 2524 ก็ได้ดึงคุณสุรางค์เข้ามาช่วยทำงานด้วย ส่วนคุณแป๊ด
(ชัชฎาภรณ์) ก็ลาออกไป" คนที่ทำงานกับช่อง 7 ช่วงนั้นเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
สาเหตุการลาออกจากช่อง 7 สีของชัชฎาภรณ์ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่หลายคนสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการกลับมาช่อง
7 อีกครั้งของชาติเชื้อ หลังจากที่ลาออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2516 โดยอ้างว่ามีภารกิจส่วนตัวที่จะต้องไปดำเนินการโดยรีบด่วนและต้องใช้เวลานาน
และที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้ตั้งร้อยเอกชายชาญ กรรณสูต (ยศและนามสกุลขณะนั้น)
เป็นกรรมการผู้จัดการแทน
คนใกล้ชิดในช่อง 7 สี เล่าให้ผู้จัดการฟังว่า เหตุผลจริง ๆ ที่ชาติเชื้อลาออกจากช่อง
7 สี เพราะมีปัญหาขัดแย้งกับชายชาญ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเรื่องพี่น้องไม่ถูกกัน
เมื่อชาติเชื้อกลับมาบริหารช่อง 7 อีกครั้ง ชัชฎาภรณ์เลยไม่อยากอยู่ทำงานด้วยก็เป็นได้
ปัจจุบันชัชฎาภรณ์หายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิง แต่ยังมีหุ้นอยู่ในช่อง
7 อยู่ 9,800 หุ้นและยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ
จำกัด อยู่ด้วย ขณะที่ชนม์ชนก เทียนประภาส ลูกชายของเธอที่เกิดจากชายชาญ
ถือหุ้นอยู่ 30,000 หุ้น หรือ รวมกัน 6.52%
ดัชนีชี้มหาชน
"ความสำเร็จของช่อง 7 สีในวันนี้ เกิดจากปัจจัยสำคัญสองประการ ประการแรก
เป็นการมองการณ์ไกลของผู้บริหารยุคคุณชายชาญ ที่ลงทุนขยายเครือข่ายของสถานีออกไปให้ประชาชนในภูมิภาคต่าง
ๆ ทั่วประเทศ สามารถรับสัญญาณได้ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายฐานผู้ชม
แม้ว่าคุณชายชาญจะจากไปก่อนแผนนี้จะเสร็จ แต่โชคดีที่ผู้บริหารยุคหลังได้ทำต่อ
ประการที่สอง คือ การผลิตรายการที่ตรงใจกับผู้ชมระดับชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศ
อันนี้ถือว่าต้องยกเครดิตให้กับคุณแดง" แหล่งข่าวที่อยู่กับช่อง 7 สีมานานวิเคราะห์ให้ฟัง
พูดง่าย ๆ ช่อง 7 สีโชคดีมากที่ได้ผู้บริหารเหมาะสมกับช่วงเวลา
ในยุคของชายชาญนั้น ช่อง 7 สีเริ่มขยายเครือข่ายครั้งแรก ด้วยการสร้างสถานีถ่ายทอดที่สระบุรีเมื่อเดือนธันวาคม
2514 และที่ลำนารายณ์ ลพบุรี ในเดือนมีนาคม 2515 ทำให้ช่อง 7 สีสามารถขยายขอบเขตการส่งภาพไปไกลจากเดิม
อีก 8 จังหวัด คือ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา
ชัยภูมิและอุทัยธานี รวมทั้งมีการสร้างห้องส่งใหม่ เพื่อขยายเวลาการออกอากาศ
และ ผลิตรายการสดมากขึ้น
นอกจากนี้ชายชาญยังได้ร่างโครงการ "การขยายกิจการโทรทัศน์จากส่วนกลางสู่ชนบท"
เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสาร
รวมทั้งสาระบันเทิงเพื่อให้ประชาชนท้องถิ่นไกล ๆ มีโอกาสได้รับข่าวสารและความบันเทิงไปพร้อมกับประชาชนส่วนกลาง
ประกอบกับได้ศึกษาค่าเช่าช่วงสัญญาณดาวเทียมปาลาปา ค่าอุปกรณ์ภาคพื้นดินในการรับ-ส่งสัญญาณและความเป็นไปได้ทางเทคนิคอื่น
ๆ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการได้ ในช่วงต้นปี 2522
อานิสงส์จากความคิดริเริ่มของชายชาญส่งผลให้ช่อง 7 สีในวันนี้มีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น
30 สถานี และมีศูนย์ข่าวภูมิภาค 4 แห่ง ที่เชียงใหม่ ระยอง สงขลาและขอนแก่น
ครอบคลุมพื้นที่การออกอากาศกว่า 90% ทั่วประเทศ
เมื่อผสมกับแนวคิดการผลิตรายการเพื่อมุ่งเจาะเข้าไปหากลุ่มคนดูระดับชาวบ้านเป็นหลักในยุคที่มีสุรางค์เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการด้วยแล้ว
ช่อง 7 สีก็ยิ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างล้นหลามทีเดียว ปริมาณผู้ชมจำนวนมากมายนี่เอง
ทำให้เงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์มูลค่ามหาศาลในแต่ละปีตกอยู่ในมือของช่อง 7
สีมากที่สุดมาโดยตลอด
ล่าสุดปี 2538 มูลค่าการโฆษณาทางโทรทัศน์ประมาณ 20,000 ล้านบาท ช่อง 7
สีได้ส่วนแบ่งไปถึง 36.2% ตามมาด้วยช่อง 3 จำนวน 26.1% ช่อง 5 อีก 20.7%
อีก 17% ที่เหลือเป็นของช่อง 9
"พี่แดงเป็นดัชนีชี้มหาชน ท่านรู้ว่ารายการอย่างไหนจึงจะได้รับความนิยมจากคนดู
อย่างตอนที่นางฟ้าสีรุ้งกำลังจะจบ แกรมมี่มีความคิดว่าอยากทำเรื่องคนประเภทต่าง
ๆ โดยจะให้ชื่อเรื่องว่า "คน ค้น คน" แต่พอไปเสนอพี่แดง ท่านก็ให้ไอเดียว่าทำไมไม่ทำละครที่มีตัวละครหลัก
ๆ แล้วหาเหตุการณ์ต่าง ๆ มาใส่เข้าไปในแต่ละตอน เราก็เอาไปคิด ในที่สุดก็กลายมาเป็นสามหนุ่ม
สามมุม ซึ่งได้รับความนิยมมากมาจนทุกวันนี้" บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารคนสำคัญของแกรมมี่เล่าถึง
"สุรางค์" ให้ฟังอย่างชื่นชม
ผู้ทรงอิทธิพล
จะว่าไปแล้วในบรรดาผู้จัดการฝ่ายรายการด้วยกันนั้น ขณะนี้คงไม่มีใครสู้สุรางค์ได้
เพราะนอกเหนือจากความสามารถเฉพาะตัวที่รู้ว่าคนดูชอบหรือไม่ชอบดูอะไรแล้ว
สุรางค์ยังมีข้อได้เปรียบผู้จัดการฝ่ายรายการคนอื่น ๆ มาก (โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายรายการของช่อง
5 และช่อง 9)
ประการแรก ถึงแม้ว่าขณะนี้ช่อง 7 สี จะไม่ใช่ธุรกิจที่ตระกูลกรรณสูตและเทียนประภาสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป
แต่เป็นของคนในตระกูลรัตนรักษ์ ที่ยินยอมและเต็มใจมอบอำนาจการบริหารงานให้แก่
2 พี่น้องแห่งตระกูลกรรณสูต อย่างชาติเชื้อและสุรางค์ โดยไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากนัก
รวมทั้งการเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองในช่อง 7 ของสุรางค์ในสัดส่วน 20.36%
(สุรางค์ถือ 106,800 หุ้น ดร.ไพโรจน์ถือ 14,800 หุ้น) ยังทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารทุกคนไว้เนื้อเชื่อใจว่าเธอจะต้องทำทุกอย่างที่เป็นผลดีกับช่อง
7 สี ดังนั้นอะไรที่เธอคิดว่าดี เหมาะสมจึงถือประหนึ่งมติเอกฉันท์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ
แม้แต่ชาติเชื้อเองก็เป็นที่รู้กันว่าเขาเกรงใจน้องสาวคนนี้มาก ๆ ถ้ามีใครไปถามอะไรเขาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายรายการ
ชาติเชื้อจะบอกเสมอว่าต้องถาม "คุณแดง" ก่อน ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท
ดังนั้นในฐานะผู้จัดการฝ่ายรายการ สุรางค์จึงมีสิทธิ์เต็มที่ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับรายการต่าง
ๆ ที่นำเสนอทางช่อง 7 ไม่ว่าจะเป็นละครพื้นบ้าน การ์ตูน คอนเสิร์ต เกมโชว์
วาไรตี้ รายการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครหลังข่าวที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของสถานี
เพราะเป็นเวลาที่มีผู้ชมดูทีวีมากที่สุด
ละครสไตล์สุรางค์
ละครหลังข่าวนับเป็นรายการที่สุรางค์ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดารายการบันเทิงทั้งหลายทั้งปวงที่นำเสนอทางช่อง
7 สี (ยกเว้นข่าวและกีฬาที่จะพูดถึงต่อไป) เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองของสถานี
ปัจจุบันช่อง 7 สี เสนอละครหลังข่าวตั้งแต่เวลา 20.30-22.30 น. รวม 2 ชั่วโมง
ตามกฎของ กบว. อนุญาตให้สถานีโฆษณาสินค้าได้ 10 นาที เมื่อบวกลบคูณหารออกมาแล้วจะพบว่า
ในปี 2539 ช่อง 7 สีจะมีรายได้จากการโฆษณาในช่วงละครหลังข่าว 1,825 ล้านบาท
(ปัจจุบันอัตราค่าโฆษณาในช่วงนี้นาทีละ 2.5 แสนบาท วันหนึ่งโฆษณาได้ 20 นาที
เท่ากับ 5 ล้านบาท แต่อาจจะหย่อนจากนี้ไปบ้าง เพราะตามปกติสถานีจะลดราคาให้ผู้ซื้อเวลาประมาณ
15%)
เงินดังกล่าวถือว่าเป็นรายได้ของช่อง 7 สีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสถานีเป็นเจ้าของเวลาจึงมีสิทธิ์ในการขายโฆษณาเอง
ส่วนละครนั้นเป็นการว่าจ้างให้ดาราวิดีโอ และกันตนาผลิตให้ โดยสุรางค์เป็นคนเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์นวนิยายจำนวนมากมาไว้ในมือก่อนที่จะแจกจ่ายให้กับดาราวิดีโอ
และกันตนามาเลือกไปทำตามความเหมาะสม รวมไปถึงการตรวจบท การตรวจเทปก่อนออกอากาศ
ว่ากันว่าสุรางค์จะชื่นชมนิยายของ ว. วินิจฉัยกุลและโบตั๋นมากเป็นพิเศษ
เพราะจะเป็นแนวชีวิตหนัก ๆ ที่กินใจคน จนมีบ่อยครั้งที่บทบาทส่งให้นักแสดงในเรื่องได้รับรางวัล
อย่าง "ปัญญา นิรันดร์กุล" ที่เคยได้รับรางวัลจากเรื่องตะวันชิงพลบของ
ว. วินิจฉัยกุล มาแล้ว
"สมัยที่สตรีสารยังดำเนินการอยู่ถือเป็นอันรู้กันว่า นิยายที่ลงตีพิมพ์ที่นี่จะต้องให้คุณแดงเลือกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครก่อน
เว้นเสียแต่ว่าเธอไม่เอาจึงจะไปขายให้เจ้าอื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่คุณแดงก็ซื้อไว้
เพราะเชื่อว่านิยายที่ผ่านการกลั่นกรองจากคุณนิลวรรณ ปิ่นทองแล้วจะต้องเป็นเรื่องที่ดีอย่างแน่นอน"
คนที่เคยอยู่กับสตรีสารเล่าให้ฟัง
แต่ก็มีบางเรื่องเหมือนกันที่ผู้รับจ้างผลิตเป็นคนเลือก ซึ่งถ้าเสนอไปและสุรางค์เห็นดีด้วย
เธอก็เป็นผู้จะดำเนินการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์
นอกจากจะเลือกเรื่องนวนิยายเองแล้ว สุรางค์ยังมีที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนสนิทประเภทครูบาอาจารย์ช่วยกันติดตามเลือกนิยายใหม่
ๆ ให้อีกแรงหนึ่งด้วย นิยายดัง ๆ ส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือเธอเพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการผลิตออกมาให้ชม
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสุรางค์จะเลือกทำละครจากเนื้อเรื่องก่อนเสมอไป
ตรงกันข้ามกลับมีบ่อยครั้งทีเดียวที่เธอจะเลือกดาราก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะช่อง
7 สี มีดารามากมายในสังกัดที่จะต้องคอยดูแลแจกจ่ายบทบาทให้ทั่วถึง เช่นเมื่อถึงคิวของ
ศรราม เทพพิทักษ์ สุรางค์และผู้จัดก็จะมาช่วยกันพิจารณาว่า นิยายเรื่องไหนเหมาะกับศรราม
ก็เลือกละครเรื่องนั้น
"แต่อย่างดั่งดวงหฤทัยซึ่งมีนัท มีเรียกับศรรามเป็นดารานำ อันนี้เนื้อเรื่องเป็นตัวกำหนดนักแสดง"
สยาม สังวริบุตร ผู้ควบคุมการผลิตละครของดาราวิดีโอเล่าให้ฟัง
ไม่ว่าจะมีที่มาจากเรื่องหรือตัวแสดง แต่กฎเหล็กข้อแรกที่สุรางค์ถือเป็นหัวใจของการทำละครก็คือ
ต้องเป็นเรื่องที่ดูสนุก เพราะเป็นรายการภาคบันเทิง ส่วนเรื่องสาระนั้นถือว่าเป็นเรื่องรอง
จึงไม่น่าแปลกที่ละครช่อง 7 มักจะได้รับฉายาจากกลุ่มปัญญาชนและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ว่า
"น้ำเน่า"
"ช่อง 7 พยายามเลือกเรื่องที่มีสาระมานำเสนอทุกเรื่อง แม้ว่าบางเรื่องจะไม่มี
เราก็พยายามสอดแทรกข้อคิดบางแง่เข้าไป แต่จะไม่ใช่เป็นลักษณะสอนคนดู เพราะเรามั่นใจว่าคนดูไม่โง่หรอก
เขาดูละครเพราะอยากตักตวงความสุข ไม่ใช่ดูเพราะอยากจะได้แง่คิด" สยามแก้ตัว
ตัวสุรางค์เองก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะเมื่อถูกนักข่าวรุมถามว่า เมื่อไรช่อง
7 จะปรับปรุงละครให้หายเน่าเสียที เธอตอบทันควันว่า จะปรับปรุงแน่ แต่จะให้เน่ามากกว่าเดิมอีก
"คุณแดงคงคิดว่าก็ในเมื่อละครยิ่งเน่าเท่าไร คนดูก็ยิ่งตอมทีวีมากกว่ายุงตอมน้ำเน่าเท่านั้น
ทั้งเอเยนซี่และเจ้าของสินค้าก็แห่กันมาซื้อโฆษณาแน่นขนัด การทำละครน้ำเน่าจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร"
ผู้สังเกตการณ์วงการทีวีรายหนึ่งให้ความเห็น
แต่ก็ใช่ว่าละครทุกเรื่องที่ช่อง 7 สี ผลิตจะประสบความสำเร็จเสมอไป มีหลายเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ชม
อย่างเช่นเรื่อง "อยู่เพื่อรัก" ซึ่งถือว่าล้มเหลวมาก ๆ มือระดับสุรางค์ก็พลาดเป็นเหมือนกัน
(อ่าน "ดาราวิดีโอ ลูกรักของสุรางค์")
อยากใกล้ชิดอย่าใส่น้ำหอม
นอกจากจะควบคุมดูแลการทำละครหลังข่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว สุรางค์ยังเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้เช่าเวลา
รวมทั้งการวางผังรายการตลอดทั้งวันด้วยตัวเองว่าเวลานี้ควรเป็นรายการอะไรจึงจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายและได้รับความนิยม
บทบาทนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อความนิยมของสถานีไม่น้อยทีเดียว เพราะจริง
ๆ แล้ว เวลาส่วนใหญ่ของช่อง 7 สี จะเป็นลักษณะให้ผู้ผลิตเช่าเวลาไปทำ ดังนั้นถ้าการคัดเลือกผู้เช่าเวลาและทำการควบคุมคุณภาพของรายการไม่ทำอย่างเข้มแข็งแล้ว
สถานีเองจะได้รับผลกระทบอย่างมาก
ดังนั้นความเฮี้ยบของสุรางค์ที่ขึ้นชื่อลือชามาก ๆ จึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานตรงนี้ไม่น้อย
เพราะเป็นอันรู้กันว่า ถ้าได้รับเวลาจากช่อง 7 ไปแล้ว ผู้เช่าจะต้องทำตามกฎกติกาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
ไม่ใช่ว่าได้รับอนุญาตให้ทำเกมโชว์แล้วจะเปลี่ยนไปเป็นรายการวาไรตี้หรือเปลี่ยนรายการวาไรตี้เป็นรายการเพลงตามอำเภอใจ
เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
"ระบบควอลิตี้คอนโทรลของคุณแดงจะเข้มมาก ผู้บริหารช่องอื่นเขาจะห้ามแค่ว่าไม่ให้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการเมือง
ความขัดแย้งเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่คุณแดงดูยิ่งกว่านั้น คือดูเข้าไปถึงเนื้อในรายการเลย
ว่าตรงนี้ชักไม่ใช่ตามแนวที่วางไว้แล้วนะ ตรงนี้เปลี่ยนเป็นอย่างนี้ดีไหม
บางทีก็ให้ไอเดียว่าทำอย่างนี้ดีกว่า คุณแดงจะหมั่นตรวจสอบผังที่วางเอาไว้อย่างสม่ำเสมอว่าผู้ผลิตแอบไปดัดแปลงหรือเปลี่ยนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า
วันดีคืนดีใครแอบไปเปลี่ยนจะรู้ทันที" ผู้เช่าเวลารายหนึ่งเล่าให้ฟัง
ดังนั้นสิ่งที่ผู้เช่าเวลาของช่อง 7 สีต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอก็คือ
ต้องส่งโครงเรื่อง เรื่องย่อ หรือบทละครให้ดูล่วงหน้า เช่นเดียวกับเทปที่ตัดต่อมาพร้อมจะออกอากาศก็ต้องส่งให้ตรวจล่วงหน้าเช่นกัน
"แม้แต่บางทีรายการไหนมีเหล้าเป็นสปอนเซอร์เยอะ ๆ เธอก็ไม่ค่อยเห็นด้วย
เพราะกลัวคนจะโจมตีว่าเป็นสถานีมอมเมาประชาชน คุณแดงละเอียดถึงขนาดนั้น"
นี่ยังไม่นับรวมถึงกฎข้อใหญ่ๆ ที่ผู้ผลิตรายการให้ช่อง 7 สี พึงกระทำให้ครบถ้วนก็คือ
ต้องทำงานแข่งกับตัวเองเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ การเงินจะต้องไม่เสีย
ควรจ่ายค่าเช่าเวลาตามกำหนด และที่สำคัญต้องโลว์โปรไฟล์ หรือ อย่าพยายามโปรโมตตัวเองเกินงามแต่อนุญาตให้ประชาสัมพันธ์รายการได้ไม่ว่ากัน
หลายคนอาจจะบอกว่า เธอเป็นคนจู้จี้ในรายละเอียดของรายการ แต่หลายคนก็บอกเช่นกันว่า
นั่นคือคุณสมบัติของผู้บริหารที่เก่งที่ต้องทำเช่นนั้นมิใช่ปล่อยให้ใครทำอะไรก็ได้
และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่า การควบคุมและจู้จี้ของเธอประสบความสำเร็จ
นอกจากจะควบคุมผู้รับจ้างผลิตและผู้เช่าเวลาอย่างเข้มข้นแล้ว การควบคุมงานในฝ่ายรายการที่สถานีเป็นผู้ผลิตเอง
สุรางค์ก็ควบคุมแบบเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยถ้าไม่ลงมาควบคุมด้วยตัวเองก็จะควบคุมผ่าน
"พลากร สมสุวรรณ" ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรายการ
ฝ่ายรายการของช่อง 7 สีจะแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายโปรดักชั่น ฝ่ายโปรโมชั่น
และฝ่ายกำกับเวลาและติดต่อกับ กบว. สำหรับรายการที่ผลิตเองก็จะเป็นรายการย่อย
ๆ เช่น รายการการ์ตูน รายการธรรมะ ข่าวบันเทิง รายการภาพยนตร์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ
หรือรายการโปรโมชั่น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดของช่อง 7สีที่มีการทำสปอตแนะนำรายการเด่น
ๆ ให้ผู้ชมทราบก่อนว่า ละครคืนนี้จะเดินเรื่องอย่างไร จันทร์กระพริบจะมีใครมาออก
เพื่อผู้ชมที่สนใจจะได้ติดตามกันชนิดไม่มีพลาด
โดยส่วนที่สุรางค์จะควบคุมมากเป็นพิเศษ คือ คนที่จะออกหน้ากล้องซึ่งถือว่าเป็นหน้าตาของบริษัท
เธอจะต้องเป็นคนเทสต์ด้วยตัวเองพร้อมกับให้คอมเมนต์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้แนะนำรายการของสถานีแต่ละช่วง
ผู้ประกาศข่าว ทั้งข่าวในประเทศ ข่าวกีฬา สะเก็ดข่าว เป็นต้น
สำหรับสคริปต์รายการ และเทปที่จะออกอากาศนั้น แน่นอนว่าต้องส่งให้เธอพิจารณาก่อนเช่นกัน
"คุณแดงเป็นคนละเอียดรอบคอบ งานทุกชิ้นจะต้องผ่านตาเธอก่อน มีปัญหาอะไรก็จะพูดตรง
ๆ เป็นคนมีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่อาจจะมีบางครั้งที่พนักงานพูดอะไรที่เธอไม่เห็นด้วยออกไป
จะถูกดุทันที แต่เมื่อกลับไปคิดอีกครั้งและเห็นว่าเป็นความคิดที่ถูกก็จะต้องกลับมารับฟังใหม่
ที่สำคัญคือจะพิจารณาผลงานลูกน้องอย่างยุติธรรมมาก" พนักงานส่วนใหญ่กล่าวถึงสุรางค์ให้ฟังในลักษณะนี้
นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าจะทำงานกับสุรางค์ชนิดที่ไม่ให้เธอเขม่นเอาได้
ควรแต่งตัวให้เรียบร้อย ห้ามโป๊ ถ้าเล็บสะอาดได้ก็จะดี เพราะบางครั้งเธอชอบตรวจเล็บตามประสาคุณครูเก่า
อย่าใส่น้ำหอมฉุน ๆ และไม่จำเป็นต้องมอบเครื่องสำอางเป็นของกำนัลหรือของขวัญเพราะคุณแดงไม่ชอบแต่งหน้า
นอกจากนี้จะต้องรู้จักแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะเธอถือคติว่าผิดได้แต่อย่าบ่อย
อาจจะด้วยบุคลิกส่วนตัวที่ดูเจ้าระเบียบ เฉียบขาด และจริงจังกับการทำงานของเธอนี่
ทำให้คนตั้งสมญานามให้เธอว่า "คุณนายแดง" ทั้งที่เธอไม่ได้เป็น
"คุณนาย" โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับเรียกเธอเช่นนั้น ยิ่งในข้อเขียนที่หยอกล้อและไม่เอาจริงเอาจัง
สำหรับคนทั่วไป ถ้าอยากจะเรียกก็ต้องเรียกกันลับหลังเท่านั้น และก่อนเรียกต้องเหลียวหน้าดูหลังให้ดี
ไม่งั้นอาจจะไม่ปลอดภัย
จับหัวใจช่อง 7
เพิ่งจะเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมาเห็นจะได้ ที่สุรางค์ได้ลงมาดูแลฝ่ายข่าวอย่างใกล้ชิดขึ้น
แต่เดิมที่เธอเพียงแต่ประสานกับฝ่ายข่าวในแง่ของเลย์เอาท์ของผังรายการว่าช่วงเวลาการออกอากาศ
การเบรคโฆษณา การออกสป็อตโปรโมชั่นของฝ่ายข่าวแต่ละวันจะเป็นลักษณะใดเท่านั้น
แต่ภายหลังจากการเกษียณอายุของร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท
สุรางค์ก็ได้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งดังกล่าวแทน และก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลฝ่ายข่าวด้วย
แม้ว่าผู้จัดการฝ่ายข่าวของช่อง 7 สีตามตำแหน่งจะเป็นชื่อของชาติเชื้ออยู่ก็ตาม
การเข้ามาของสุรางค์ในฝ่ายข่าวทำให้มีการตั้งคณะบริหารงานฝ่ายข่าวโดยรวบรวมบรรดาผู้จัดการฝ่ายต่าง
ๆ ของสถานีเข้ามาเป็นคณะกรรมการ มีเธอเป็นประธานบอร์ดดูแลพัฒนางานข่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านรายการข่าวให้มากขึ้น
เพราะปัจจุบันนี้ข่าวเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำรายได้ให้สถานีเป็นอันดับสองรองจากละครหลังข่าวทีเดียว
และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาไพร์มไทม์ด้วย (อัตราค่าโฆษณาช่วงข่าวภาคค่ำของช่อง
7 สีนาทีละ 2 แสนบาท)
การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายข่าวที่เกิดขึ้นหลังจากที่สุรางค์เข้ามาดูแลฝ่ายข่าวก็เช่น
การร่นเวลาออกอากาศข่าวภาคค่ำจากเดิมจะเริ่มในเวลา 18.45 น. ให้เร็วขึ้นมาเป็น
18.30 น. โดยนำข่าวภูมิภาคมาเสนอก่อน
"เพราะเวลา 18.30 น. ค่อนข้างจะเร็วไปสำหรับคนกรุงเทพฯ ในการดูข่าว
ขณะที่คนต่างจังหวัดกลับถึงบ้านกันหมดแล้ว คุณแดงฉลาดมากที่เลื่อนข่าวภูมิภาคมาเริ่มต้นและตามด้วยข่าวเกษตรก่อนที่จะต่อด้วยข่าวการเมืองในประเทศ
เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของคนดูทุกกลุ่ม" คนทีวีด้วยกันให้ความเห็น
นอกจากนี้ "สะเก็ดข่าว" ที่จับเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการทำข่าวแต่ละวัน
ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพูดผิด พูดเร็ว ตอบคำถามแล้วฟังไม่รู้เรื่องมานำเสนอในช่วงท้ายข่าว
ก็ทำให้ข่าวของช่อง 7 ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่าเป็นความคิดริเริ่มของสุรางค์
แต่นักข่าวในช่อง 7 บอกว่าเธอเป็นคนลงไปสั่งให้ทำข่าวลักษณะนี้ด้วยตัวเอง
ในส่วนของกีฬานั้น ถือว่าเป็นอีกรายการหนึ่งที่ช่อง 7 และสุรางค์ให้ความสำคัญมาก
ๆ
เพราะส่วนตัวแล้ว สุรางค์เป็นคนชอบเล่นกีฬา กีฬาที่เล่นประจำสม่ำเสมอ คือ
เทนนิสและกอล์ฟ ในส่วนของเทนนิสนั้นอาจจะได้รับอิทธิพลมาจาก ดร. ไพโรจน์ผู้สามีซึ่งคนใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่าเล่นเทนนิสเก่งมาก
โดยช่วงทำงานอยู่มหิดลเขาจะเล่นเป็นประจำทุกวันศุกร์ ขณะที่สุรางค์ก็จะเล่นเป็นประจำตอนเย็น
ๆ กับคนในช่อง 7 สี
ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะออกรอบตีกอล์ฟกับก๊วน ที่ตี ๆ กันประจำนอกจากเธอกับสามีแล้วก็จะมี
พิษณุ นิลกลัด สักกรินทร์ บุญญฤทธิ์ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป และบ่อยครั้งจะร่วมก๊วนกับ
พล.ท. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามที่ตีประจำก็มีสนามกอล์ฟปัญญา
สนาม ทบ. สนามราชพฤกษ์
"คุณแดงเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ เธอเป็นคนขี้โรคมาก จนเมื่อได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าทางโภชนาการและการออกกำลังกายอย่างจริง
ๆ ทำให้กลับกลายเป็นคนแข็งแรง จนเดี๋ยวนี้แม้แต่หวัดก็ไม่เป็น" คนใกล้ชิดของสุรางค์เล่าให้ฟังพร้อมกับให้ข้อสังเกตว่าการออกกำลังการบ่อย
ๆ นี่เองทำให้สุรางค์ดูอ่อนกว่าวัย ทั้ง ๆ ที่เธออายุถึง 54 ปีแล้ว (สุรางค์เกิดเมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์ 2485)
ดังนั้นเมื่อบ่อยครั้งที่กีฬามาพ้องกับธุรกิจโทรทัศน์ ช่อง 7 สีจึงไม่ลังเลใจที่จะเข้าไปจับ
พูดง่าย ๆ หัวใจของช่อง 7 สีมีสามอย่าง นอกจากข่าวและละครแล้ว ยังมีกีฬาด้วย
ส่วนอะไรจะเป็นตัวเด่นในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อย่างฟุตบอลยูโร'96 ที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ จะเห็นได้ชัดว่าช่อง 7 สีปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่
ด้วยการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมได้ชมเกือบทุกนัด แม้ว่าบางวันจะตรงกับเวลาหลังข่าวที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสถานี
แต่ช่อง 7 สียุคนี้ก็ไม่ลังเลที่จะถ่ายทอดสดอีกต่อไป เพราะถ้าเทียบกันแล้ว
ฟุตบอลทำรายได้ให้ช่อง 7 ไม่แพ้ละครเสียแล้ว เช่นถ้าต้องถ่ายทอดฟุตบอลในช่วง
3 ทุ่ม ช่อง 7 ก็จะตั้งเรทค่าโฆษณานาทีละ 2.5 แสนบาทเท่ากับค่าโฆษณาของละครทีเดียว
ถ้าเป็นช่วงเวลาอื่นก็ลดหลั่นกันไป
งานนี้เรียกว่านอกจากจะได้รับเสียงชื่นชมจากคอกีฬาแล้ว ยังได้เงินคุ้มค่าอีกด้วย
"ดูแต่คนอ่านข่าวกีฬาของช่อง 7 ซิ คุณแดงยังเลือกน้องอาย (ศรสวรรค์
ภู่วิจิตร) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ หรือ ธีระ โพธิ์พานิช อดีตนักยิมนาสติกทีมชาติมาอ่านเลย
นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ แต่เธอมีเจตนาที่จะสร้างภาพความเป็นผู้นำด้านกีฬาให้กับช่อง
7 ถือว่าเป็นความคิดที่ลึกซึ้ง แสดงให้เห็นความฉลาดและละเอียดลออมาก ๆ"
คนในวงการให้คอมเมนท์
ไอบีซี เกมหินของคุณแดง
แม้ว่าช่อง 7 จะมีนิสัยระมัดระวังในเรื่องของลงทุนอย่างมาก นอกเหนือจากธุรกิจทีวีแล้ว
แทบไม่มีธุรกิจอื่นใดที่ช่อง 7 ยอมควักกระเป๋าไปลงทุนมากนัก
เว้นแต่โครงการเคเบิลทีวี ที่ช่อง 7 ยอมทุ่มทุนเข้าไปเต็มตัว
เคเบิลทีวี นับเป็นสื่อใหม่ในยุคของมัลติมีเดียกำลังจะเข้ามามีอิทธิพล
ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับฟรีทีวี ไม่เพียงแค่ช่อง 7 เท่านั้นที่ต้องการขยายเข้าสู่เคเบิลทีวี
ฟรีทีวีค่ายอื่น ๆ ก็ให้สนใจธุรกิจนี้
แต่ช่อง 7 สี เป็นสถานีโทรทัศน์เพียงช่องแรกและช่องเดียวในเวลานี้ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจเคเบิลอย่างเต็มตัว
ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เช่น สถานีทีวีช่อง 3 แม้จะได้รับอนุมัติจากกรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว
แต่ยังไม่กล้าผลีผลาม ต้องระงับแผนลงทุนไว้ก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่ยื่นขอสัมปทานรายอื่น
ๆ เพราะเคเบิลทีวีไม่ใช่ธุรกิจทำเงินอีกต่อไป
วิธีลงทุนของช่อง 7 คือ เข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ให้บริการเดิมที่มีสัมปทานอยู่ในมือ
แทนที่จะเป็นผู้ไปขอสัมปทานใหม่และลงทุนเองทั้งหมด
ช่อง 7 หรือในนามบีบีทีวี แซทเทลวิชั่น ได้ไปซื้อหุ้นในไอบีซีจากกลุ่มชินวัตรด้วยสัดส่วน
18.08% เช่นเดียวกับแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่เข้าไปซื้อหุ้นในไอบีซีสัดส่วนเท่ากัน
ภาพการร่วมมือของพันธมิตรทั้งสามรายจึงดูลงตัวมากที่สุดในเวลานั้น
นั่นเป็นเพราะช่อง 7 เชี่ยวชาญในเรื่องซอฟต์แวร์รายการ ส่วนชินวัตรชำนาญในเรื่องฮาร์ดแวร์
ในขณะที่แกรมมี่นั้นมีความชำนาญในเรื่องการตลาด และมีช่องทางจัดจำหน่ายอย่างมากมาย
เมื่อนำเอาทั้งสามส่วนมารวมกันจึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับไอบีซีเคเบิลทีวีให้โลดแล่นต่อไปได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะการที่ต้องต่อกรกับยูทีวี เคเบิลทีวีของค่ายซีพี ที่มีทั้งพลังเงินทุนและเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในมือ
แต่เหตุการณ์ยังไม่เป็นเช่นนั้น
การนำระบบดีทีเอช มาทดแทนการส่งสัญญาณแบบเดิมด้วยระบบไมโครเวฟ หรือ MMDS
ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการรับสัญญาณ ซึ่งไอบีซีต้องทุ่มเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก
กลับไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้เท่าที่ควร
ในเวลาเดียวกันไอบีซี ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเสาเถื่อน ติดตั้งครั้งเดียวดูฟรีตลอดที่ออกมาระบาดอย่างหนัก
ทำให้ไอบีซีต้องสูญเสียลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก
ผลก็คือ ไอบีซีขาดทุนไตรมาสแรกของปีนี้ สามร้อยกว่าล้านบาท
สถานการณ์ที่ทรุดลงของไอบีซี ทำให้หลายคนเริ่มประเมินว่า การเข้าไปซื้อหุ้นของช่อง
7 ดูจะไม่คุ้มค่าเสียแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่อง 7
และแกรมมี่จะมองในแง่ส่วนต่างราคาหุ้นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมองถึงสินทรัพย์ในไอบีซี
ที่มีอยู่นับพันล้านบาท ที่ช่อง 7 และแกรมมี่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย
ดังนั้นการมาถือหุ้นในไอบีซีไม่ได้ทำให้ช่อง 7 หรือ แกรมมี่เสียประโยชน์แต่อย่างใด
โดยเฉพาะช่อง 7 จะได้ประโยชน์ในการนำซอฟต์แวร์รายที่มีอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
หรือกีฬาจากต่างประเทศ รวมทั้งละครท้องถิ่นที่ช่อง 7 มีอยู่ในมือเป็นจำนวนมากมาขายให้กับไอบีซีและที่ผ่านมาช่อง
7 ก็ได้ขายภาพยนตร์เหล่านี้ให้กับไอบีซีบ้างแล้ว แต่เนื่องจากเป็นภาพยนตร์จีน
หรือภาพยนตร์ฝรั่งเก่า ๆ รายการดังกล่าวจึงไม่ได้รับความนิยม
ดังนั้นแม้จะมีข่าวคราวกระแสการถอนตัวของช่อง 7 และแกรมมี่ออกมาเป็นระลอก
แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากสุรางค์ และไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บิ๊กบอสของแกรมมี่
นอกจากนี้การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารครั้งล่าสุด สุรางค์ เปรมปรีดิ์
ผู้บริหารคนสำคัญของช่อง 7 ขึ้นนั่งแท่นประธานกรรมการบริหารพร้อมกับมือบริหารคนสำคัญของช่อง
7 สี อีกสองคนคือ พลากร สมสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรายการ และศรัณย์ นิรุตมวงศ์
ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ขึ้นนั่งเป็นกรรมการ
ในขณะที่ทางแกรมมี่ นอกจากไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะนั่งเป็นกรรมการแล้ว ได้ส่งมือบริหารอย่างดวงใจ
หล่อเลิศวิทย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และอัญชลี จิวะรังสินี ผู้จัดการฝ่ายการเงิน
เข้ามานั่งเป็นกรรมการ
ส่วนผู้บริหารของชินวัตร คือ บุญคลี ปลั่งศิริ นั่งเป็นรองประธาน ส่วนนิวัฒน์
บุญทรง เป็นกรรมการ
นิวัฒน์ บุญทรงให้เหตุผลในการแต่งตั้งสุรางค์เป็นประธานในครั้งนั้นว่า เพราะไอบีซีต้องการความชำนาญในเรื่องของซอฟต์แวร์
และความสามารถทางด้านการตลาด
เพียงแต่เวลานี้สุรางค์ยังไม่ได้ออกฝีไม้ลายมือในเรื่องเหล่านี้นัก เพราะไอบีซีต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ
ที่เข้ามารุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องการระบาดของเสาเถื่อน ทำให้ภาพลักษณ์ของไอบีซีเวลานี้ไม่ดีนัก
การประชุมระหว่างผู้บริหารของทั้งสามฝ่ายจะถูกจัดให้มีขึ้นทุก ๆ สัปดาห์
ซึ่งนโยบายที่ออกมาจะมาจากความเห็นของทั้งสามฝ่าย ยังไม่มีนโยบายพิเศษออกมาจากสุรางค์
ผู้บริหารของไอบีซีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า สิ่งที่ไอบีซีต้องเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้
คือ การแก้ปัญหาในเรื่องของเสาเถื่อน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญให้ได้ เพราะหากแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ไม่ได้
แผนการบุกตลาดหรือการหารายการมาก็ไม่มีประโยชน์
"คิดว่าไม่เกิน 1-2 เดือน เมื่อการติดตั้งระบบสแกรมเบิ้ลสัญญาณทั่วประเทศเสร็จลง
เมื่อนั้นไอบีซีจะเริ่มหันมาใช้นโยบายบุกตลาด รวมทั้งในเรื่องรายการอย่างเต็มตัว"
แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อปัญหาเทคนิคคลี่คลายลง แผนการบุกตลาดเริ่มขึ้น เมื่อนั้นก็อาจได้เห็นฝีไม้ลายมือของสุรางค์อย่างเต็มที่
ซึ่งจะน่าประทับใจเหมือนที่ช่อง 7 หรือไม่ ยังต้องรอดู
การท้าทายจากช่อง 3 และช่อง 5
ความสำเร็จอย่างยิ่งของคุณแดงก็คือการทำให้ช่วงเวลาไพร์มไทม์ของช่อง 7
สีเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองที่สำคัญยิ่ง
บทบาทของคุณแดงคือการสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเป็นฝ่ายรุกในฐานะผู้นำธุรกิจโทรทัศน์
ขณะที่โทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เป็นฝ่ายตาม
แต่ในช่วงปีนี้เองที่ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เป็นฝ่ายรุกกลับอย่างชัดเจน
แม้ที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างสถานีจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ช่องอื่น ๆ อาจจะเป็นฝ่ายรุกเพื่อช่วงชิงโฆษณาบ้าง
แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด
แต่ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกครั้งใหญ่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลง
"โครงสร้างของเวลา" สำหรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ โดยเริ่มจากช่อง
5 และช่อง 3
การปรับช่วงเวลาไพร์มไทม์ของทุกสถานีมีเป้าหมายหลักคือ ช่วงชิงเวลาไพร์มไทม์มาจากช่อง
7 สีเป็นสำคัญ การปรับผังเวลาใหม่ เป็นการทำลายความเคยชินเดิม ๆ เกือบหมด
เกือบจะเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่คุณแดงอยู่ในท่าทีสงบและเป็นฝ่ายตั้งรับ
คอยศึกษาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นเช่นไร
บทเรียน 15 ปีในธุรกิจโทรทัศน์ ทำให้คุณแดงยังมั่นใจในศักยภาพและขุมพลังอันเข้มแข็งของช่อง
7 และไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแก้เกมใด ๆ
อีกทั้งกลยุทธ์ของคุณแดงก็แยบยลยิ่งนัก ดังเช่นกรณีไอบีซี ที่ใครเคยคิดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของฟรีทีวี
เป็นคู่แข่งถ่ายทอดสดกีฬาเด็ด
แต่วันนี้คู่แข่งก็กลายเป็นพันธมิตรที่คุณแดงกลายมาเป็นประธานบริษัทนั้นเสียเอง
การรุกของช่อง 3 และช่อง 5 ครั้งนี้ก็เช่นกัน รอจนสถานการณ์สุกงอม การโต้กลับของคุณแดงอาจปรากฏ
และน่าจะสนุกกว่าที่คาด
โปรดติดตามตอนต่อไป