"คราวเคราะห์ของ 'ชุมพล พรประภา' งานนี้ยามาฮ่าหัวเราะคนเดียว"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แล้ว "ซูซูกิ" ก็แพ้ภัยตัวเอง

ทั้ง ๆ ที่ทนอุตส่าห์ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่สูสีอย่างยามาฮ่ามานานหลายปี ในสมรภูมิรถจักรยานยนต์ไทย

ตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยมาถึงวันนี้ ค่อนข้างจะแน่นอนว่าฮอนด้าได้ครองอันดับหนึ่งอย่างมั่นคง อย่างน้อยก็อีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่มีอะไรพลิกผันอย่างถล่มทลาย คงยากที่ซูซูกิและยามาฮ่าจะขึ้นมาเทียบเคียงรัศมีของฮอนด้า

ฉะนั้นการขับเคี่ยวระหว่างยามาฮ่าและซูซูกิในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เพื่อแย่งชิงความเป็นเบอร์สองให้เด่นชัดจึงน่าสนใจมากกว่า

ยอดจำหน่ายจักรยานยนต์ในปี 2538 นั้น ซูซูกิกับยามาฮ่าต่างกันเพียงสองหมื่นกว่าคันหรือราว 1.4% ในด้านส่วนแบ่งตลาด ยอดจำหน่ายที่เบียดกันเช่นนี้น่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี แต่เพราะความบกพร่องขององค์กรซูซูกิเอง จึงน่าที่จะทำให้ตลาดยามาฮ่า จะเริ่มทิ้งห่างนับจากปีนี้เป็นต้นไป

ประมาณปี 2535-2536 ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยเติบโตค่อนข้างมาก ขณะที่ซูซูกิมีปัญหาไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ทัน จึงเสียโอกาสไปมากพอสมควร

แต่ปี 2537 ซูซูกิก็สามารถปิดจุดอ่อนของตนเองได้ จากโรงงานที่มีจำนวนคนงานไม่ถึงหนึ่งพันคน ขยายเพิ่มขึ้นทันทีถึงเท่าตัว ปัจจุบันจำนวนคนงานอยู่ที่ 1,700-1,800 คน แน่นอนกำลังการผลิตได้ขยายตามขึ้นมาด้วย แต่แล้วทุกอย่างก็แทบพังทลาย

"ผมว่าปัญหามันน่าจะเกิดเพราะเราขยายงานเร็วเกินไป จากคนงานไม่มากนัก ได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จึงน่าจะมีเรื่องการดูแลไม่ทั่วถึง แต่จะว่าไปแล้วสวัสดิการต่าง ๆ ที่ผ่านมา ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว บริษัทมีโรงอาหารติดแอร์ให้ มีค่ารักษาพยาบาล มีรถรับส่ง ทุกอย่างก็ไม่ด้อยไปกว่าโรงงานในระดับเดียวกัน ผมว่าเรื่องที่เกิดน่าจะเป็นเพราะตัวบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น" ผู้บริหารของซูซูกิกล่าว

การปิดจุดอ่อนของตนเอง กลับกลายเป็นจุดพลาดที่นึกไม่ถึงในเวลาต่อมา และไม่ว่าเหตุผลแท้จริงจะเป็นอย่างไร "ม็อบซูซูกิ" เพียง 200 คน ก็สร้างความเสียหายให้กับซูซูกิอย่างมหาศาล ไม่แต่เฉพาะในช่วงเวลานี้เท่านั้น แต่มันได้ทำให้ซูซูกิสูญเสียโอกาส ในการที่จะเติบโตในอนาคตไปมากทีเดียว

จากกลางเดือนมีนาคมล่วงเลยมาถึง 2 เดือน ศึกในอกของซูซูกิจึงค่อยบรรเทาเบาบางลง ซึ่งในระหว่างนั้นสายการผลิตต้องชะงักงันไปกว่า 2 สัปดาห์ บริษัทต้องปรับเปลี่ยนกันวุ่นวายไปหมด รายได้ในขั้นต้นที่สูญเสียไปนั้น ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนั้นไม่อาจรวมถึงภาพสะท้อนที่ออกมายังสังคมในประเด็นสวัสดิการและการตอบแทนแรงงาน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ตัดสินใจได้ยากว่าใครถูกใครผิด

แม้ตอนนี้ทุกอย่างเกือบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าจะสายไปแล้ว เพราะจากเป้าหมายที่วางไว้ 500,000 คันในปีนี้ ได้ลดลงทันที 100,000 คัน เหลือเพียง 400,000 คัน ซึ่งใกล้เคียงกับกำลังผลิตในปี 2538 นั่นหมายถึงว่าในปี 2539 ซูซูกิจะไม่มีการเติบโต หรือถ้าโชคร้ายกว่านั้นอาจมียอดจำหน่ายน้อยกว่าปี 2538 ด้วยซ้ำ

ขณะที่อีก 3 ค่ายหลักไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า, ยามาฮ่า, และคาวาซากิ น่าจะมีการขยายตัวทั้งสิ้น และน่าจะเจ็บใจมากไปอีก ถ้าตลาดรวมในปี 2539 นี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีการขยายตัวจากปี 2538 มากนัก แต่ทั้ง 3 ค่ายที่เติบโตเป็นเพราะเข้ามาแบ่งตลาดในส่วนที่ซูซูกิควรจะได้ไปแทน

ชุมพล พรประภา ประธานกลุ่ม เอส. พี. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ และถือหุ้นอยู่กว่า 20% ในบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตจักยานยนต์ซูซูกิในไทย ได้ตั้งความหวังกับฐานการผลิตจักรยานยนต์ซูซูกิแห่งนี้ว่าในปี 2539 นี้จะขึ้นเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซูซูกิ และกำลังการผลิตจะมีถึง 5.5 แสนคัน พร้อมทั้งแผนการขยายการส่งออก ที่ถือว่าอยู่ในยุคเริ่มต้นของฐานการผลิตซูซูกิในไทย โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30,000 คันในปี 2539 จากที่ปี 2538 ส่งออกได้ 10,000 คัน

แต่เหตุที่คาดไม่ถึงตรงนั้น ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้น ได้บั่นทอนความหวังของชุมพล อยู่มากทีเดียว อย่างน้อยกำลังการผลิตที่คาดว่าจะเป็นเท่านั้นเท่านี้ ก็ต้องปรับลดลงมาถึง 20% และเพียงเท่านี้แผนการขยายตลาดส่งออกก็ต้องหยุดชะงักลงทันที เพราะแค่ผลิตจำหน่ายในประเทศยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทันหรือไม่ในสถานการณ์เช่นนี้

ไม่เฉพาะแผนงานที่ประกาศออกมาแล้วต้องหยุดชะงักและล่าช้าออกไป แผนงานการขยายในอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นถ้าทุกอย่างเดินไปตามเส้นทางของมัน ก็ต้องกลับมานั่งคิดกันใหม่ด้วย

"ผลที่เกิดขึ้น ผมว่าในเรื่องภาพพจน์ขององค์กร ในด้านแรงงานนั้นมีแน่ และตรงนี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการตัดสินใจที่จะขยายการลงทุนในอนาคต เพราะต่างชาติเขาค่อนข้างจะให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาแรงงานมาก และถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นหุ้นส่วนของโรงงานซูซูกิในไทย คิดว่าการขยายบทบาทฐานการผลิตในไทยคงจะต้องพิจารณากันละเอียดมากขึ้นกว่านี้" ผู้บริหารของซูซูกิกล่าว

ลำพังภาพพจน์องค์กรก็หนักอยู่แล้ว และถ้ามองในด้านภาพพจน์สินค้าด้วย สถานการณ์ของซูซูกิในช่วงเวลานี้ย่ำแย่เอามาก ๆ แต่ผู้บริหารก็ประเมินว่า คงส่งผลต่อตลาดไม่มากนัก

ห้วงเวลาวิกฤตของซูซูกิ นับเป็นบทพิสูจน์สัจธรรมโลกธุรกิจอีกครั้งเพราะคู่แข่งล้วนดาหน้ารุมกระหน่ำกันอย่างหนักทีเดียว โดยเฉพาะคู่แข่งคนสำคัญอย่างยามาฮ่า

ยามาฮ่า ในยุคที่ฟู่ฟ่าสุดขีดนับจากอดีต เพราะยามาฮ่า ไทย โดยหัวเรือใหญ่ เกษม ณรงค์เดช ฉกฉวยสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อถีบตัวเองให้ทิ้งห่างอันดับสามให้มากที่สุด

สยามยามาฮ่า แม้จะเป็นองค์กรใหญ่ แต่ก็สามารถพลิกผันกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วยิ่ง จากครั้งแรกเมื่อปลายปี 2538 ที่ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2539 จะเติบโตเกือบ 30% โดยกำลังการผลิตวางไว้ที่ 460,000 คันต่อปี แต่เมื่อสิ้นไตรมาสแรกปี 2539 อัตราเติบโตได้ถูกปรับลดลงมาเหลือที่ 10% กำลังการผลิตอยู่ที่ 400,000 คันต่อปีเท่านั้น เนื่องจากตลาดค่อนข้างซบเซาและแนวโน้มตลาดรวมไม่สดใสนัก

แต่พอซูซูกิ เกิดปัญหา เป็นข่าวใหญ่ต่อมา ยามาฮ่าได้ปรับเปลี่ยนแผนปฎิบัติงานทันที และมีการดำเนินงานทั้งภาคการตลาดและการผลิตอย่างสอดคล้องกัน เพื่อหวังตลาดในส่วนที่ซูซูกิปล่อยให้หลุดมือมาไว้ในมือตนเองมากที่สุด

ยามาฮ่าจัดแคมเปญพิเศษส่งเสริมการขาย โดยผู้ซื้อยามาฮ่ามีสิทธิ์ซื้อทีวีสีและวิดีโอซัมซุงในราคา 3,500 บาท พร้อมการโหมโฆษณาแคมเปญในช่วงนี้อย่างหนัก แม้ผู้บริหารของยามาฮ่าจะกล่าวว่าเป็นการกระตุ้นตลาดในช่วงที่ซบเซา แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า นี่คือการฉวยจังหวะบุกของยามาฮ่า

ในด้านการผลิต ยามาฮ่าได้ปรับแผนใหม่ โดยเพิ่มพลังการผลิตขึ้นอีก ในขั้นต้นสามารถเพิ่มได้ทันทีกว่า 2,000 คันต่อเดือนหรือประมาณ 30,000 คันต่อปี

"จะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นหรือไม่ ต้องดูปัจจัยหลายอย่างและต้องใช้เวลาเพื่อเตรียมการล่วงหน้า แต่คิดว่าถ้าตลาดไปได้และมีแนวโน้มที่ดี เราก็สามารถขยายรองรับได้ทันที" ผู้บริหารของสยามยามาฮ่ากล่าว

ชัยชนะของยามาฮ่าที่กำลังจะมีเหนือซูซูกิในครั้งนี้ ก็เพราะซูซูกิเป็นคนช่วยแท้ ๆ เลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.