จีดีพีเกษตรไตรมาสแรกขยายตัว7%


ผู้จัดการรายวัน(20 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สศค.เผยตัวเลขจีดีพีภาคการเกษตรไตรมาสแรกปี 49 เติบโตสูงถึง 7% วางเป้าทั้งปีโต 4 – 5% เหตุปัญหาภัยแล้วคลี่คลายจากปีที่ผ่านมา ด้านดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวสูงถึง 27.1% ระบุความต้องการบริโภคในประเทศและในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในขั้นทดลองใน 2 จังหวัด กว่า 1 แสนไร่ เบื้องต้นรัฐบาลจ่าย 50% ที่เหลือเกษตรกรและธ.ก.ส.จ่ายคนละครึ่ง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากที่ สศค. ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการประเมินภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรในปี 2549 โดยคาดการณ์ว่า ในปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภาคการเกษตรจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งขยายตัวเพียง 2% ทั้งนี้ เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ต่างจากปีก่อนที่ผลผลิตภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง

สำหรับในไตรมาสแรกที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่า จีดีพีภาคการเกษตรจะขยายตัวได้ประมาณ 7% โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากมีการฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้ง และน้ำท่วม ส่วนข้าวโพด คาดว่าจะชะลอตัวลง จากราคาที่ต่ำ

นายนริศ กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตภาคการเกษตรมีการขยายตัว 5.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2548 ที่ขยายตัวลดลง 3.7% โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ขยายตัว 5.5% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ชะลอตัวลง 0.5% ยางพารา ขยายตัว 5% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ชะลอตัวลง 1.3% และอ้อย ขยายตัว 5.8% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ชะลอตัวลง 37.3%

ส่วนในด้านราคาสินค้าเกษตร ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 27.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวอยู่ที่ 15.44% และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการสินค้าภายในประเทศยังมีสูง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งในเดือน ก.พ. ขยายตัวอยู่ที่ 23.5% แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาสินค้าเกษตรโดยรวมในช่วงที่เหลือของปี 2549 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวอีกว่า การที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และการผลิตสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรประมาณ 9.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อดุลการค้าของไทยด้วย

ส่วนรายได้เกษตรกรในช่วง 2 เดือนแรก ของปีนี้ ขยายตัวอยู่ที่ 35.2% และคาดว่าทั้งปีรายได้เกษตรกรจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปี 2548 ที่ขยายตัวอยู่ที่ 19.5% เนื่องจากได้รับแรงผลักดันจากผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง

“การที่ผลผลิตภาคเกษตรในปี 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะช่วยให้จีดีพีภาคการเกษตรในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4-5% หลังจากที่ขยายตัวลดลงในปีก่อน รวมทั้งยังมีผลทางอ้อมด้านอุปสงค์ ผ่านสินค้าเกษตรส่งออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย ส่วนการที่รายได้เกษตรกร และจีดีพีภาคการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4-5% จากปัจจุบันที่ชะลอตัวลง” ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว

ส่วนความคืบหน้าของโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรนั้น นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้กำลังเริ่มทดลองศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ทั้ง สศค. กระทรวงเกษตรฯ กรมการประกันภัยและบริษัทประกันภัย เพื่อหาความเป็นไปได้ของโครงการ

โดยในเบื้องต้นได้ทดลองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคาดว่าจะใช้ข้าวและข้าวโพดเป็นพืชผลทดลองก่อน ตั้งเป้าวางพื้นที่ทดลองประมาณ 1 แสนไร่ โดยได้ว่าจ้างบริษัท พาสโก้ จากประเทศอินเดียเป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้เพราะมีความชำนาญในการทำประกันพืชผลทางการเกษตรในประเทศอินเดีย

ซึ่งการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรนั้นจะพิจารณาหลายๆ ปัจจัย โดยจะนำเอาดัชนีความชื้นของอากาศ ดัชนีปริมาณฝน ดัชนีความแห้งแล้งและอีกหลายๆ ปัจจัยมาประกอบการพิจารณาประกันภัยพืชผลทางการเกษตรด้วย

ทั้งนี้อัตราเบี้ยประกันที่คณะกรรมการศึกษาได้สรุปไว้จะอยู่ที่สัดส่วนรัฐบาลจ่าย 50% เกษตรกรจ่าย 25% และธ.ก.ส. จ่าย 25% ซึ่งผลสรุปทั้งหมดของโครงการน่าจะออกมาในเวลาอันใกล้นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.