"บรูซ ดาริงตัน พวก 'จักรวรรดิ' จับมือกันแล้ว แบงก์ไทยเตรียมตัวไว้ให้ดี"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุด "สมาคมธนาคารต่างชาติ" ก็แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ โดยมี "บรูซ ดาริงตัน" หาญอาสาเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารต่างชาติคนแรก หลังจากที่ผู้บริหารธนาคารต่างชาติคนเก่าผลักดันกันมานาน เช่น ครอมเวลแห่งแบงก์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ และเฮนดริกซ์แห่งซิตี้แบงก์ที่มีบทบาทในอดีตแต่ได้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแล้วทิ้งภารกิจใหญ่นี้ไว้ให้ บรูซ ดาริงตันสานต่อไป

ถึงกระนั้นความเป็นนานาชาติของคณะกรรมการสมาคมธนาคารต่างชาติชุดแรกก็ปรากฎในผู้บริหารระดับบิ๊ก ๆ ประกอบด้วย ตัวประธานสมาคม บรูซ ดาริงตันที่เป็นชาวอังกฤษ ส่วนรองประธานคนที่ 1 เดวิด พรอกเตอร์ ผู้จัดการใหญ่แห่งแบงก์อเมริกา รองประธานคนที่ 2 เทอิซูเคะ คีตายาม่า ผู้จัดการใหญ่แบงก์ซากุระ ส่วนเลขานุการกิตติมศักดิ์ตกเป็นของเชากัต ทาริน ผู้จัดการใหญ่ซิตี้แบงก์ชาวปากีสถานที่มาแทนเฮนดริกซ์ และเหรัญญิกกิตติมศักดิ์ คือ บรูโน ชริค ผู้จัดการใหญ่แบงก์เอบีเอ็นแอมโรชาวฝรั่งเศส

ปัจจุบัน บรูซ ดาริงตันเป็นผู้จัดการสาขาประเทศไทยของแบงก์สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นแบงก์ต่างชาติเก่าแก่ในไทยที่มีอายุครบ 101 ปี ระดับน้อง ๆ แบงก์ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ที่เกิดก่อน 6 ปี

สุภาพบุรุษชาวอังกฤษคนนี้ บรูซ ดาริงตันจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่ประเทศอังกฤษ รู้จักเมืองไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2530 เมื่อครั้งเขายังทำงานวิเคราะห์ธุรกิจแบงก์ไทยให้กับบริษัทหลักทรัพย์ครอสบี้ที่ฮ่องกง พื้นฐานของนักตรวจสอบบัญชีที่บรูซ ดาริงตัน เคยทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่เอิร์นสแอนด์ยังก์ก่อนจะเบนเข็มมาอยู่ในวงการโบรกเกอร์ ทำให้บรูซ ดาริงตันมีบุคลิกนักบริหารที่สุขุมรอบคอบจนประสบความก้าวหน้าในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลุ่มที่ดูแลธุรกิจครอสบี้ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฮ่องกง ก่อนหน้าที่จะลาออกจากครอสบี้มาทำงานใหญ่ที่แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขาประเทศไทยในปี 2538

ในอดีตแม้แบงก์ต่างชาติได้ทำธุรกิจในไทยมากว่าร้อยปีแต่ก็โตได้อย่างจำกัดไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของแบงก์ไทย โดยดูจากขนาดและส่วนแบ่งตลาดด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อที่มีสัดส่วนน้อยมากประมาณ 5-6% ของสินเชื่อทั้งระบบ เพราะถูกจำกัดการเปิดสาขา และที่ผ่านมาสองทศวรรษแบงก์ไทยก็ปรับขยายตัวรับการแข่งขันรวดเร็วจนมีขนาดธุรกิจใหญ่

แต่นับจากการเปิดเสรีการเงินในปี 2536 นี่เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่จารึกว่าบทบาทของแบงก์ต่างชาติที่สามารถรวมตัวกันในรูปของ "สมาคมธนาคารต่างชาติ" ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา และในฐานะประธานสมาคมธนาคารต่างชาติ บรูซ ดาริงตัน ได้นำคณะกรรมการสมาคมที่ประกอบด้วยรองประธานทั้งสองคือ เดวิด พรอกเตอร์และเทอิซูเคะ คิดายาม่า เข้าคำนับผู้ว่าแบงก์ชาติ วิจิตร สุพินิจ

"ผมคิดว่าแบงก์ชาติทำงานดีแล้ว การประกาศโดยทั่วไปก็ชัดเจนดีและแบงก์ต่างชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย แต่เราคิดว่าในอนาคต ถ้าหากสามารถปรึกษาหารือกับแบงก์ต่างชาติได้ก่อนจะออกระเบียบใหม่ก็จะดียิ่งขึ้น" บรูซ ดาริงตัน ประธานสมคมธนาคารต่างชาติกล่าว

"ขณะนี้เราเชิญผู้แทนแบงก์ต่างชาติมาประชุมทุกสองเดือน และทุกเดือนกรรมการสมาคมก็พบปะพูดคุยกัน ยิ่งตอนนี้บ่อยครั้งเพราะมีวาระสำคัญที่จะต้องตั้งตัวแทนด้วย ขณะเดียวกันแต่ละแบงก์ก็สามารถติดต่อกับแบงก์โดยตรงตามจุดยืนของตน โดยสมาคมจะเป็นตัวกลางให้เข้าใจมากขึ้น" ประธานสมาคมแบงก์ย้ำถึงอำนาจการควบคุมที่ให้อิสระแก่สมาชิก โดยสมาคมธนาคารต่างชาติตั้งอยู่ที่อาคารธนาคารฮ่องกง สีลม

ในอนาคตอำนาจต่อรองของสมาคมธนาคารต่างชาติที่เกิดจากจำนวนและขนาดของธุรกิจแบงก์ต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 14 แห่ง และมีแผนเตรียมขยายจำนวนสมาชิกครอบคลุมไปถึงกิจการวิเทศธนกิจ (บีไอบีเอฟ) 31 แห่ง และสำนักงานตัวแทนแบงก์ต่างประเทศอีก 43 แห่งจึงเป็นพลังอำนาจใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อแบงก์พาณิชย์ไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ชนิดแลกกันหมัดต่อหมัดทีเดียวบนสังเวียน

หมัดแรกคือการรุกฆาต "เอทีเอ็มพูลนานาชาติ" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขยายธุรกิจด้านรีเทลแบงกิงระดับ WORLDWIDE ของบิ๊กโฟร์ ได้แก่ ซิตี้แบงก์ แบงก์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและแบงก์ซากุระ หลังจากแบงก์ต่างชาติใช้ข้ออ้างแกตต์รุกฆาตให้เปิดเสรีการเงิน ขณะที่ผ่านมาสมาคมแบงก์ไทยกับบริษัทศูนย์ประมวลผล (พีซีซี) เล่นเกมซื้อเวลาด้วยการเจรจาเชิงธุรกิจ เรื่องค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าบริการต่อรายการละ 30 บาท เช่นเดียวกับบัตรเครดิตอเมริกาเอ็กซ์เพรสหรือไดเนอร์สคลับ

"ผมคาดว่าในเดือนตุลาคมนี้ คงได้ร่วมในเครือข่ายเอทีเอ็มของแบงก์ไทยได้" ประธานสมาคมธนาคารต่างชาติเล่าให้ฟัง

ท่าทีที่ประธานสมาคมธนาคารต่างชาติประกาศสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคนี้โดยให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น และมีการนำเครื่องมือและบริการทางการเงินใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยระหว่างกัน เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแบงก์ไทยในเชิงการแข่งขันมากขึ้นในระบบเสรีทางการเงิน

ความวิตกกังวลของนายแบงก์ไทยที่เกรงว่าการผนึกกำลังของในรูปสมาคมธนาคารธนาคารต่างชาติในไทยจะทำให้เศรษฐกิจ และระบบการเงินของไทยต้องพึ่งพิงต่างประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ทางการจะได้สร้างสมดุลแห่งอำนาจต่อรองโดยทางการออกใบอนุญาตตั้งแบงก์พาณิชย์ไทยใหม่เพิ่มขึ้น และเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบงก์ไทยเพื่อรับศึกการแข่งขันใหญ่ที่จะตามมาในอนาคต

งานนี้บรูซ ดาริงตัน ประธานสมาคมธนาคารต่างชาติผู้มีท่าทีอ่อนนอกแข็งในคงสลายข้อวิตกกังวลได้อย่างมีวิสัยทัศน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.